บ้านและสตูดิของศิลปินเวียดนามกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่งดงามด้วยวัสดุดิบๆ

ลักษณะร่วมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการปรับตัวเข้าสภาพอากาศ ที่มีทั้งร้อน ฝน แสงแดดมากมาย การระบายอากาศที่ดีให้อาคารหายใจได้ สภาวะน่าสบายของถิ่นนี้คือการปรับตัว ถ่านเทกันระหว่างภายนอกและภายในที่สมดุล ไม่ใช่กักเก็บแล้วสร้างสภาวะสบายภายใน

อย่างเช่นการแก้ปัญหาจากบ้านพร้อมสตูดิโอของ Hoang Tuong Do ศิลปินชื่อดังของเวียดนาม มีความต้องการย้ายบ้านจากตัวเมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม ที่มีแต่ความวุ่นวาย สู่ย่านชานเมืองของโฮจิมินห์เพื่อจะมีสมาธิในการทำงานที่มากขึ้น ให้สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น จึงได้เลือกที่ดินริมคลอง ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำไซง่อน และได้สำนักงานสถาปนิกเวียดนามมือดี Truong An Architecture มาสร้างสรรรค์ด้วยการแปลความสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเขตร้อนด้วยภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่มีความงามจากความดิบของวัสดุ

การให้ความสำคัญกับแลนด์สเคปก็ไม่แพ้กับการออกแบบสถาปัตยกรรม สถาปนิกให้ความสำคัญสร้างสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ให้มีบรรยากาศน่าอยู่ มีอุณหภูมิที่สบายจากการใช้ต้นไม้ บ่อน้ำที่มีอยู่หน้าบ้าน จากนั้นใช้ดินการขุดบ่อมาถมส่วนใต้ถุนบ้าน ปรับแต่งแลนด์สเคปให้เอื้อต่อบ้านโมเดิร์นที่พัฒนาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองร้อน กลายเป็นบ้านยกตัวบนเนินดิน

การออกแบบสถาปัตยกรรมมีลักษณะของสถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น ที่ดูโปร่งเบา มีการไหลเวียนอากาศที่ดี ในกรณีงานนี้ที่เห็นได้ชัดคือการยกเสาลอยคล้ายกับเรือนไทยยกเสาสูง ซึ่งผลลัพท์ที่ได้คือมันช่วยในเรื่องการระบายอากาศที่ดี ทำให้มวลอากาศห่อตัวบ้านมากขึ้น ทำให้ตัวบ้านชั้นล่างไม่ได้อยู่ติดดิน แบบที่นิยมปลูกในเขตเมืองหนาว ซึ่งมันไม่เหมาะกับประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรเพราะมีความชื้นจากพื้นดิน ทำให้ตัวบ้านชื้น ส่งผลต่อสุขภาพ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

การออกแบบสเปซภายในบ้านทำให้เรียบง่าย ใช้การดึงแสงธรรมชาติให้เข้ามาด้วยปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้สอยส่วนต่างๆ ในส่วนพื้นที่ทำงานศิลปะ มีการใช้ช่องแสงติดพื้น และยอดผนังให้แสงเข้ามาในปริมาณน้อย ส่วนทางทิศเหนือเจาะหน้าต่างสูงที่ยอดผนังไปถึงหลังคาให้รับแสงทิศเหนือที่มีความนุ่มนวลกว่าทิศใต้ ในส่วนของพื้นที่ส่วนตัวที่ใช้พักอาศัยใช้ระแนงแบบที่พบในสถาปัตยกรรมโคโลเนียลมาช่วยกรองแสง เพิ่มความเป็นส่วนตัว แต่ยังสามารถระบายอากาศได้ดี

ส่วนที่น่าสนใจคือต้นไม้เดิมในไซท์ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยไม่ตัดออก แต่ใช้การย้ายตำแหน่งให้เหมาะสมกับการใช้สอยใหม่ มันช่วยทำให้เห็นว่าการสร้างของใหม่ไม่ต้องรื้อของเก่าทิ้ง แต่สร้างการประนีประนอมได้ตั้งหลายวิธี

อ้างอิง: www.archdaily.com, Facebook: Trường An architecture

Tags

Tags: , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles