บ้านเรือนคือสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น ถิ่นไหนมีวัสดุแบบใด สิ่งแวดล้อมแบบใด ก็ออกแบบให้ปรับตัวไปตามถิ่นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภูมิปัญญาในการปลูกเรือนจนเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนมากกว่าการลอกเลียนรูปแบบจากภายนอก
โครงการบ้านหลังขนาดย่อมในเมืองเจิวด๊ก (Chau Doc) ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม ละแวกสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ไม่ไกลจากชายแดนกัมพูชา สถาปนิก NISHIZAWA ARCHITECTS ได้รับโจทย์ออกแบบในพื้นที่ชนบทที่ราบรอบด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ปรับตัวตามถิ่นที่ บ้านเรือนพื้นถิ่นรายรอบเป็นการปรับตัวเข้ากับเมืองน้ำ บ้านเรือนฝั่งติดน้ำจะตั้งอยู่บนเสาลอยเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้าน แต่เมื่อข้ามจากบ้านริมน้ำที่กั้นด้วยถนน จะเป็นเรือนแถวที่มีลักษณะแคบยาวก่อนจะออกไปยังทุ่งนาด้านหลังหมู่บ้าน เรือนพื้นถิ่นในละแวกนี้จึงเป็นการปรับตัวให้ก้ำกึ่งระหว่างบกและน้ำ
โจทย์ที่ส่งผลต่อการเลือกวัสดุ เทคนิคการก่อสร้าง คืองบประมาณที่จำกัดตามมาตรฐานท้องถิ่น ทำให้สถาปนิกเลือกใช้ผนังสังกะสีเข้ามากรุตัวบ้าน รวมถึงใช้เป็นวัสดุปิดผิวภายนอกของประตูหน้าต่างด้วยเช่นกัน แนวคิดบ้านนี้เป็นการรับของเดิมมาในเรื่องวัสดุท้องถิ่น เทคนิคงานไม้ของช่าง การแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมจึงสร้างแนวคิด 3 ประการให้สถาปนิกกำหนดแนวทางบ้านดังนี้
- ใช้หลังคาทรงผีเสื้อ เพื่อเปิดรับแสง ลม จากภายนอก
- ใช้หน้าต่างบานกระทุ้ง เพื่อเปิดรับแสง ลม ธรรมชาติ
- เปลี่ยนผนังตันให้กลายเป็นผนังที่เปิดปรับเปลี่ยนได้ในวาระการใช้สอยต่าง ๆ กัน
สามข้อหลักทำให้เกิดสภาวะก้ำกึ่งภายใน-ภายนอกของบ้าน ส่งผลให้เมื่ออยู่ภายในบ้านจะรู้สึกร่มรื่นจากงานออกแบบภูมิทัศน์ภายใน จากแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านหลังคา จากลมที่พัดเข้ามาจากบานหน้าต่างประตูที่เปิดรับลมเต็มที่ อีกทั้งการออกแบบให้พื้นในระดับต่างๆ เหลื่อมหากัน พร้อมกับการเติมคอร์ทกลางบ้านแบบเรือนแถวโบราณในวัฒนธรรมอิทธิพลจีนสร้างการรับแสงที่ดี การระบายอากาศที่ดี สร้างสภาวะกึ่งภายในภายนอกให้น่าอยู่อาศัยกว่ารูปแบบเดิมด้วยการเข้าใจธรรมชาติของเมืองร้อนผ่าการออกแบบสถาปัตยกรรม
บ้านนี้รวมสภาพแวดล้อมรายรอบเข้ากับสถาปัตยกรรมด้วยภาษาใหม่ คล้ายการใช้ไวยากรณ์เดิมด้วยภาษาใหม่ จึงก่อเกิดความน่าสนใจในความร่วมสมัย แบบที่เราเลือกปลูกเรือนคล้อยตามดิน ปลูกถิ่นคล้อยตามสายน้ำนั้นเอง
อ้างอิง: Nishizawa Architects, archdaily