เห็นงานนี้แล้วชวนให้นึกถึงบ้านเราในอดีตที่มีอาชีพเขียนป้ายด้วยมือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคัทเอ้าท์โฆษณาหนังกรอบใหญ่ หรือป้ายขนาดเล็กปิดตามร้านค้าต่างๆ แต่เมื่อความเจริญแผ่ขยายเข้ามาคนเราก็เลิกวิธีการแบบเก่าหมด เพราะมีเทคโนโลยีใหม่รองรับแถมยังประหยัดกว่า และจะดีกว่าเดิมรึเปล่าอันนี้ตอบยาก และที่ประเทศโซมาเลียซึ่งถูกจัดเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ยังมีศิลปะบนป้ายที่เขียนด้วยมือและเต็มได้สีสันให้ดู ซึ่งนับเป็นการใช้ทักษะความสามารถในงานศิลปะเข้าไปตกแต่งพื้นที่ได้อย่างงดงาม บางคนอาจมองเป็นเรื่องเฉิ่มเชย แต่หากมองให้ดีแล้วนี่เป็นงานสตรีทอาร์ตที่หาดูยากสุดๆ
Muawiye Hussien Sidow หรือรู้จักในชื่อ ‘Shik Shik’ เป็นศิลปินชาวโซมาเลียได้เขียนภาพร้านค้ากว่า 100 ร้านในย่านชุมชนเมืองโมกาดิชู ตั้งแต่ร้านตัดผม, ร้านถ่ายภาพ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, โรงเรียนสอนภาษา, ร้านอะไหล่รถยนต์, และอีกหลายร้าน ด้วยศิลปะเฉพาะของตนสะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น ที่แม้จะเสมือนการแก้ปัญหาแต่ทว่ากลับกลายเป็นผลงานที่หาชมได้ยาก ดึงดูดสายตาอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี 1990 ที่เมืองเริ่มมีปัญหา งานศิลปะบนป้ายแนวนี้ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่นิยม เพราะชาวเมืองไม่มีงบพอจะสั่งทำป้ายโฆษณามาตรฐาน หลอดไฟ แสงสี หรือไวนิล พรินท์ภาพมาประดับตกแต่งร้าน จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้เกิดรูปแบบศิลปะชุมชน และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร สื่อสารให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายบางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
ประเทศโซมาเลียประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความยากจน ถึงอย่างนั้นในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ คล้ายชุมชนชนบทในบ้านเราที่เมื่อไปตามวัดวาอารามก็จะพบกับการสร้างงานศิลปะประดับโบสถ์ วิหารในรูปแบบเฉพาะ สีดิบๆ สดใส ไม่เน้นความประณีต ทว่าจริงใจและเป็นตัวเอง เข้าทำนองว่ายิ่งไม่เสแสร้งเท่าไหร่ ความงามก็พุ่งแรงเท่านั้น งานของ Shik Shik ก็แบบเดียวกัน นอกจากจะเป็นผลงานศิลปะส่วนตัวแล้วยังแทนค่าความเป็นไปทางสังคมมากมาย เขายังถ่ายทอดทักษะการเขียนภาพนี้ไปยัง Sidow ลูกชายของเขาเพื่อให้สานต่อทำเป็นอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัวต่อมาอีกด้วย นี่เป็นแรงสะท้อนว่าการสร้างสรรค์นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าสถานการณ์รอบด้านจะยากเย็นเพียงใด ศิลปะก็พร้อมจะเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้สดใสได้เสมอ
อ้างอิง: widerimage.reuters.com, themindcircle.com