ในขณะผลการจัดอันดับ ‘ดัชนีความทุกข์ยาก’ หรือ Misery Index ประจำปี 2018 ของสำนักข่าว Bloomberg ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ประเทศไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลกหรือมีความสุขที่สุดจากทั้งหมด 66 ประเทศ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 2.5 ซึ่งวัดจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทย อัตราของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้านั้นกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของโรคดังกล่าวผ่านทางสื่อหลักและสื่อรอง แม้จะทำให้สังคมตื่นตัวมากขึ้น ทว่าความไม่เข้าใจของคนในสังคม ได้ก่อกำแพงสูงลิบให้แก่ผู้ป่วยที่เลือกไม่เข้าสู่กระบวนการการรักษาที่เหมาะสม และนี่คือแรงผลักดันที่ทำให้ทีมงานซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘Depression Warrior’ อันประกอบไปด้วย ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ, อาจารย์พณิดา โยมะบุตร, ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี และ กัญธิณี กัจฉปคีรินทร์ มาลงขันทางความคิดและทำให้ Chatbot ที่ชื่อ Jubjai Bot เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
Jubjai Bot ไม่เพียงแต่จะเป็นช่องทางที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยในการคัดกรองภาวะซึมเศร้าผ่านระบบโต้ตอบอัตโนมัติบนเฟซบุ๊คเท่านั้น แต่แพลทฟอร์มดังกล่าวยังเต็มไปด้วยความหวัง แรงขับดัน และน้ำใจในฐานะที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีต่อผู้อื่น และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของพวกเขา
(ที่มา ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต: www.prdmh.com)
จากประสบการณ์ตรงสู่เส้นทางการออกแบบ chatbot เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ดร.ยงยศ: “จุดเริ่มต้นของการสร้าง chatbot เกิดจากที่มีช่วงชีวิตหนึ่งซึ่งผมมีคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ ณ เวลานั้น เรายังไม่เข้าใจโรคนี้เท่าไหร่นัก เลยเหมือนกับว่าการตอบสนองที่เรามีผิดพลาด ทำให้ชีวิตช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่ มีปัญหารุมเร้าและเราแก้ไม่ถูกจุด จนมาวันหนึ่ง เมื่อเราเริ่มศึกษาหาข้อมูล แล้วเข้าใจโรคนี้มากขึ้น จึงตัดสินใจว่าเราน่าจะพาคนคนนี้ไปหาหมอนะ จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้องตามหลักจิตวิทยา ตั้งแต่ไปพบคุณหมอ เข้ารับการประเมินและรักษาตามขั้นตอน ผลที่เกิดขึ้นคือจากสถานการณ์ที่มืดเหมือนตกหลุมดำกลายเป็นความสว่างอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนแรกๆ ผมก็ไม่คิดว่าการที่เราเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยการไปหาหมอจะช่วยพลิกชีวิตของคนคนหนึ่งได้จริงและได้มากขนาดนี้ จากประสบที่เกิดขึ้น เลยทำให้คิดว่าจริงๆ แล้วประเทศเราก็ยังมีคนอีกจำนวนมากเลยนะที่ตกอยู่ในสภาวะแบบที่เราเคยเจอ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ตอบสนองไม่ถูก และไม่รู้จะเข้าสู่กระบวนการรักษานั้นได้อย่างไร นี่เลยเป็นก้าวแรกที่คิดว่าเราควรจะต้องนำเทคโนโลยีหรือประสิทธิภาพด้าน AI ที่เราร่ำเรียน มาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้”
แต่ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคือสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การไปถึงเป้าหมายมีคุณภาพและตรงจุด ซึ่งนอกจากการรวมทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อย่าง ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี และอาจารย์กัญธิณี กัจฉปคีรินทร์ แล้ว ทีมงานยังต้องเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งจิตวิทยาเพื่อมาเสริมทัพให้ chatbot ที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้
“ทางอาจารย์ดาว (ว่าที่ดร.พณิดา โยมะบุตร) เขาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเมื่อก่อนเรียนปริญญาตรีอยู่รุ่นเดียวกับน้องสาวของแฟนผม ผมจึงส่งข้อความไปแจ้งว่าอยากจะขอคำแนะนำเรื่องโรคซึมเศร้าและยกเอา proposal ไปเสนอถึงที่เลย และพยายามโน้มน้าวสุดพลัง จนสุดท้ายเราก็สามารถหลอกลวงอาจารย์ดาวมาได้สำเร็จ (หัวเราะ) เมื่อรวมทีมครบ เราจึงมาพูดคุยและตกผลึกความคิดจนเกิดเป็น chatbot ตัวนี้ขึ้น”
(*chatbot คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ในการตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ โดยวิธีการเลือกข้อความในการตอบกลับนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของตัว chatbot เองด้วย ซึ่งใช้ระบบ AI ในการประมวลผลและเลียนแบบข้อความให้ใกล้เคียงกับการตอบกลับของมนุษย์)
Jubjai Bot ผลลัพธ์ของการพัฒนาระบบโต้ตอบอัตโนมัติบนเฟซบุ๊คเพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า
Jubjai Bot คือ chatbot ที่ถูกสร้างสรรค์โดยมีจุดประสงค์ในการใช้ประเมินโรคซึมเศร้าและนำพาผู้ใช้งานไปสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง พัฒนาขึ้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และจิตวิทยา ภายใต้การสนับสนุนจากทุน Innovation Hub Aging Society เพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0
ดร.ยงยศ: “อย่างที่บอกว่า Jubjai Bot เป็น chatbot ที่ใช้พูดคุยกับบุคคลผ่านเฟซบุ๊คแมสเซนเจอร์ ซึ่งเหตุผลที่เราเลือกใช้ช่องทางนี้ก็เพราะว่าทุกคนมีอยู่ในเครื่องแล้ว และทุกคนรู้จักวิธีการใช้งานของมันดี ซึ่งถ้าเราทำแอพพลิเคชั่นแชทตัวใหม่ขึ้นมา กว่าเราจะเอ็นเกจให้ผู้ใช้งานให้มาดาวน์โหลดได้ ก็น่าจะใช้เวลาพอสมควร ฟีเจอร์หลักๆ ของ Jubjai คือการทำหน้าที่พูดคุย ซึ่งเบื้องหลังของการพูดคุย เราจะสอดแทรกหลักการทางจิตวิทยาที่อาจารย์ดาวดีไซน์ไว้ว่าเขาอยากจะได้อะไรในแต่ละสเต็ป และผลลัพธ์สุดท้ายจะได้เป็นคะแนนออกมาว่า ความซึมเศร้าในจิตใจของคนที่คุยกับ chatbot เป็นกี่เปอร์เซ็นต์และอยู่ในช่วงไหน รวมทั้งคำแนะนำว่าเขาควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป”
อาจารย์พณิดา: “การคัดกรองนี้จะใช้กับคนกลุ่มใหญ่ เหมือนเป็นการสกรีนเบื้องต้นมากกว่า หากคัดกรองแล้วมีความเสี่ยง ก็จะทำให้คนรู้ตัว เหมือนกับว่าเอะใจขึ้นมาว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อ โดยการพัฒนาตัว Jubjai Bot เรายึดกระบวนการมาตรฐานของการประเมินทางจิตวิทยาและมีงานวิจัยรองรับในทุกๆ ประโยค ทุกข้อคำถาม ทุกตัวเลือกที่ให้คนเลือกตอบจะมาจากทฤษฎีและงานวิจัยทั้งหมด เพราะฉะนั้นผลที่ได้ซึ่งแม้จะเป็นระดับการคัดกรองจึงมีความน่าเชื่อถือ เพราะเรามีหลักการที่ว่า ถ้าเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ การคัดกรองคือทำให้คนตระหนักเพื่อไปสู่การรักษาอย่างเป็นรูปธรรมและเร็วที่สุด ตามหลัก early detection, early intervention”
14 กุมภาพันธ์ วันที่ไม่ได้มีแค่ความรักเท่านั้นที่เบ่งบาน
ดร.ยงยศ: “เราเปิดตัว Jubjai ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 โดยจุดประสงค์ของการเปิดตัวตอนแรกคือเราต้องการประเมินผลลัพธ์จาก Jubjai เพื่อเทียบกับผลลัพธ์มาตรฐานว่าตรงกันไหม เราก็คิดกันว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อให้ได้คนประมาณ 200 คน ซึ่งจะพอในทางสถิติ แต่ปรากฏว่าวันแรกที่เราเปิดตัวไป แล้วไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลย แต่มีเฟซบุ๊ค เช่น เพจ Drama-addict และเพจใหญ่อื่นๆ โพสต์ว่าเขาลองเล่นแล้วเวิร์ค คนเลยให้ความสนใจจนตัวแชตล่มเลย (หัวเราะ) คือเราไม่เคยมีประสบการณ์การ launch อะไรที่เรียลไทม์สุดๆ แล้วสเกลมันใหญ่มากแบบนี้มาก่อน และไม่ได้เตรียมใจสำหรับการที่จะมีคนเยอะขนาดนี้มาใช้งาน แต่ก็เป็นอุปสรรคด้านเทคนิคที่แก้ไขได้ และเราก็ดีใจที่มีคนสนใจมากขนาดนี้”
การช่วยเหลือ แม้เพียงคนคนเดียวก็ถือว่าคุ้มค่า
อาจารย์พณิดา: “จนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้แทรคคนที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงแล้วไปหาหมอแล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จากประสบการณ์ที่คนไข้ไปหาดาวที่โรงพยาบาล คือเราก็จะมีการถามก่อนว่าเป็นมาอย่างไรถึงมาหานักจิตวิทยา เขาบอกว่าได้ไปทำ chatbot ตัวหนึ่งมาชื่อ Jubjai Bot แล้วเขาประเมินว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าสูง เลยตัดสินใจมาหาหมอ นี่เป็นเคสที่เจอกับตัวจริงๆ นอกจากนี้ก็จะมีคอมเม้นต์ต่างๆ ที่เขามาโพสต์มาเล่าว่า “วันนี้ เราตัดสินใจไปหาหมอแล้วนะ ชีวิตเรารู้สึกดีขึ้นมากเลย เรายังนึกถึงวันแรกได้เลยที่ได้คุยกับ Jubjai Bot และได้รู้ว่าตัวเองว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” ก็จะมีคอมเม้นท์เหล่านี้เป็นระยะๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปก็เป็นประโยชน์จริงๆ ในทางปฏิบัติ ก็เลยเป็นที่มาว่าเราควรจะต่อยอดให้โตขึ้น แต่การที่จะไปแทรคว่าตกลงกี่คนที่ไปพบแพทย์หรือว่าเขาทำอย่างไรกับชีวิตต่อ เราไม่สามารถทำได้เพราะว่าเราป้องกันเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานด้วย ล่าสุด ตอนนี้ถ้าดูตัวเลขคนเข้ามาใช้งานก็น่าจะประมาณ 6 หมื่นคน โดยประมาณ ซึ่งใน 6 หมื่นนี้ ถ้ามีสัก 5% ที่ไปพบคุณหมอและเข้าสู่กระบวนการรักษา เราก็ถือว่าสิ่งที่เราทำกันมาคุ้มค่ามากแล้วนะ”
คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ
ดร.ยงยศ: “ปัจจุบันนี้ Jubjai Bot ยังไม่มีฟีเจอร์อะไรใหม่ เพราะ Jubjai รุ่น 1 เราค่อนข้างโฟกัสเรื่องของความถูกต้องเป็นหลัก แล้วด้วยหลักการทางจิตวิทยา เราไม่อยากพลิกแพลงเยอะ เพราะเราไม่เคยทำพวกนี้มาก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะส่งผลเสียต่อเขาแค่ไหน เราไม่สามารถมีความเสี่ยงได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะเร็วไม่ได้และต้องชัวร์ที่สุดในการที่จะทำอะไรออกมาแต่ละอย่าง”
จาก Jubjai สู่ Tunejai
ดร.ยงยศ: “Jubjai ถูกออกแบบเป็นตัวคัดกรอง ซึ่งข้อจำกัดคือการเป็นเพียงแค่ขั้นตอนคัดกรอง ซึ่งถ้าเขามีความเสี่ยงและควรไปพบแพทย์ เขาจะไปพบแพทย์อย่างไร เขาอาจจะอาย ไม่อยากไป หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการหาหมอด้านจิตเวชก็สูงกว่าการไปหาโรคทางกาย เราก็เลยคิดว่าเราควรจะทำแชทที่ต่อยอดขึ้นมา ซึ่งมีชื่อว่า TuneJai (จูนใจ) เพื่อทำหน้าที่เป็น mental health care chat จุดประสงค์คือเราไม่ได้ต้องการรักษา แต่ต้องการเข้าไปช่วยลดความรู้สึกด้านลบของเขาให้มากที่สุด เป็น chatbot ที่สามารถพูดคุยแล้วทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์ด้านลบน้อยลง มีความสุขในชีวิตมากขึ้น เหมือนเป็นผู้ช่วยเหลือด้านอารมณ์ในแต่ละวัน”
อาจารย์พณิดา: สำหรับเรื่องเนื้อหาว่าจะตอบอย่างไรให้คนรู้สึกดีขึ้น จะเป็นหน้าที่ของทีมนักจิตวิทยาที่จะมาออกแบบความหมายของแต่ละประโยค ซึ่งเราก็จะมีธีมของเนื้อหาในแต่ละประโยคอยู่ แต่เราไม่สามารถมานั่งสร้าง chatbot ระบบแมนนวลได้ เราต้องใช้ AI มาช่วย เหมือนเราต้องป้อนงานให้กันและกันทำนองนั้น โดย AI จะช่วยสร้างในส่วนของตัวประโยคหรือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากจะรับ อยากจะได้ข้อมูลอะไรจากเขา หรือว่าสิ่งที่เราอยากจะถามออกไป ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องท้าทายพอสมควรที่ต้องนำ 2 ศาสตร์ มาอยู่ด้วยกันอย่างไรให้สามารถออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเรื่องอารมณ์จิตใจได้ อย่างเช่น สมมติว่าทางดาวบอกว่า อยากจะรู้ว่าประโยคที่คนพิมพ์เข้ามา มีความรู้สึกด้านไหนซ่อนอยู่ เช่น โกรธ เศร้า มีความสุข หรือผ่อนคลาย ซึ่งถ้าเราไม่มีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย เราต้องทำการ label เองว่าประโยคนี้คือเขามีความสุขอยู่นะหรือประโยคนี้กำลังบอกถึงความเศร้า ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถทำให้ครอบคลุมทุกประโยคในโลกได้ แต่ AI ก็จะช่วยได้ว่าประโยคที่พิมพ์เข้ามาใกล้เคียงกับความรู้สึกไหนมากที่สุด แล้ว classify ตรงนั้นออกมา แล้วก็จะเลือกประโยคโต้ตอบที่เหมาะสมกับสภาวะของเขาในขณะนั้นมากที่สุด”
(จากซ้ายไปขวา) ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ / อาจารย์พณิดา โยมะบุตร / กัญธิณี กัจฉปคีรินทร์ / ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี
สร้างกองทัพมด บรรเทาความเศร้า เพิ่มพลังบวก
อาจารย์พณิดา: “เราเปรียบ Tunejai ตัวนี้เป็นเหมือนกองทัพมด หมายความว่า ถ้ามาดูตัวเลขของคนที่จะเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ปัญหาหลักที่เจอก็คือจำนวนนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวนจำกัด ตอนนี้มีจิตแพทย์กับนักจิตวิทยาคลินิกอย่างละไม่ถึง 1,000 คน แต่จำนวนผู้ป่วยมีประมาณเกือบ 2 ล้านคน เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคน เข้าสู่กระบวนการรักษาหมดนักจิตวิทยา 1 คน ต้องรองรับคนไข้ 2,500 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เรารับไม่ไหว ถ้าถามว่าเราสามารถผลิตคนขึ้นได้ไหม ได้ค่ะแต่ไม่ทัน ทางออกหนึ่งที่เราคิดได้คือการทำ chatbot ขึ้นมารองรับ เหมือนกองทัพมดที่เราส่งเข้าไปเพื่อกระจายสู่ทั้งประเทศได้ ทำให้เราพูดคุยได้ตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือมีความเป็นส่วนตัวสูงซึ่งเหมาะกับคนไทย เพราะจากที่เราไปทำการรีเสิร์ชเบื้องต้นกันมา นิสัยคนไทยอย่างหนึ่งคือชอบแชทมากกว่าคุย เพราะฉะนั้น ถ้ามี chatbot ที่ทำให้เขาคุยแล้วรู้สึกดีขึ้นได้ เขาก็จะใช้ ตอนนี้ chatbot ตัวนี้อยู่ อยู่ในโครงการ U.REKA ที่ดำเนินการโดย บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ 7 มหาวิทยาลัย ไมโครซอฟท์ และ KX The Knowledge Exchange เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Technology ในประเทศไทย โดยเราจะมีระยะเวลาปีครึ่งในการพัฒนาก็น่าจะสักปีหน้าหรือปลายปีหน้าก็น่าจะได้เห็นกัน”
เพราะความเป็นส่วนตัวสำคัญอันดับหนึ่ง
ดร.ยงยศ: “ตัวโปรดักท์ของเรารันอยู่บนเฟซบุ๊คแมสเซนเจอร์ การควบคุมระดับแรกคือการควบคุมโดยเฟซบุ๊ค หมายความว่า ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นแอดมินจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้แน่นอน ระดับที่ 2 คือการคอนโทรลจากภายในของทีมเราเอง ซึ่งทุกข้อมูล เราจะทำการมาร์กตัว ID เอาไว้ จากนั้นจึงแปลง ID ให้เป็นรันนิ่งนัมเบอร์แบบอื่น นั่นหมายความว่าเราจะมีข้อมูลของเขาได้ แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงและระบุตัวตนได้ว่าเขาเป็นใคร”
เมื่อศาสตร์สองศาสตร์ต้องมาอยู่ในถ้ำเดียวกัน
ดร.ยงยศ: “ในการทำงานที่ผ่านมา อุปสรรคแรกที่เจอเลยก็คือการปรับความเข้าใจกัน เพราะคนในทีมของเรามาจาก 2 สายงานที่ต่างกันคนละขั้วเลยนะ เช่น ฝั่ง AI บอกว่า ได้ซิ ทำได้ นี่เป็นเทคโนโลยีที่ฉลาดมากเลยนะ chatbot ต้องพลิ้วสิ จะมาแข็งทื่อไม่ได้ ขณะที่ฝั่งนักจิตวิทยา ก็บอกว่าถ้าเราทำแบบนี้ จะไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ ทั้งสองฝั่งต้องฟังกันและยึดเอาประโยชน์ของผู้ใช้งานมาเป็นอันดับหนึ่ง มาดูว่าข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร เราทำได้แค่ไหน ซึ่งเราโชคดีที่ทีมงานทุกคนเปิดกว้างมากที่จะยอมรับในศาสตร์ใหม่ๆ อย่างอาจารย์ดาวที่เขาเปิดใจกับการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์กับเรื่องทางจิตเวช ซึ่งเมื่อทุกคนมีธงในใจว่าเป็นไปได้นะ เราก็สามารถเดินต่อไปได้ เอาจริงๆ จากวันแรก เราก็ไม่คิดว่าพวกเราจะเดินหน้ามาได้ไกลได้ขนาดนี้เหมือนกัน”
นอกจากความสำคัญในการทำงานที่จูนใจระหว่างกันแล้ว เวลา ก็เป็นอีกข้อจำกัดที่ทุกคนร่วมกันหาทางออกเพื่อให้สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังไว้เป็นไปได้และเป็นไปอย่างดีที่สุด
อาจารย์พณิดา: “ทุกคนมีงานประจำและแต่ละคนก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล เพราะฉะนั้น เราต้องหาเวลาประชุมนอกเวลาทำการ บางคนมีลูกเล็กๆ ก็ต้องรอให้ลูกนอนก่อน ถึงจะมารวมตัวประชุมกันทางไลน์ได้ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของสมาชิกแต่ละคนเข้าใจและสนับสนุน แล้วทุกคนในทีมก็แอคทีฟมาก ทำให้งานไปได้เร็ว เรียกว่าเราคุยกันบ่อยกว่าคุยกับเพื่อนเสียอีกนะ ในไลน์นี่ทำงานกับแทบจะ 24 ชั่วโมง (หัวเราะ)”
(ที่มา ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต: www.prdmh.com)
จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
อาจารย์พณิดา: “ดาวว่าสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยน่าเป็นห่วงมากขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน ในขณะที่คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้าเองก็ยังคงไม่กล้าที่จะไปขอความช่วยเหลือ แล้วยิ่งโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกอย่างถูกสื่อสารออกไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ด้วย เขาก็กลัวและอายว่าจะเป็นตราบาปว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถามว่าสื่อดีๆ หรือนักจิตวิทยาที่พยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าทำให้มีคนเข้าใจมากขึ้นไหม ดาวยอมรับนะว่ามีคนในโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งเข้าใจ แต่ก็ปรากฏว่าคนที่ไม่เข้าใจก็โผล่ขึ้นมาเยอะมากเหมือนกัน เลยกลายเป็นเหมือนกับการต่อสู้ของ 2 ฝั่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วกลับส่งผลในแง่ลบมากกว่า แม้คนจะตื่นตัวมากขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่กล้าที่จะไปขอความช่วยเหลือมากขึ้นเช่นกัน พอรู้ข่าวอีกทีคือฆ่าตัวตายไปแล้ว เพราะฉะนั้น เคสที่มาถึงมือคุณหมอ ส่วนมากจะหนักมากแล้ว ซึ่งน่าเสียดายตรงที่ว่าถ้าเขารู้ตัวตั้งแต่เริ่มเป็น เราจะดูแลเขาได้เร็วกว่า แล้วความเสียหายในชีวิตน้อยลง เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้า ผลที่เกิดกับเขาไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์ จิตตก หรือเหม่อลอย แต่ยังกระทบไปถึงเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน สัมพันธภาพกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งผลเหล่านี้ตีค่าทางตัวเลขไม่ได้นะ”
แต่ทุกปัญหาก็มีทางออกเสมอ
อาจารย์พณิดา: “เวลามีเคสที่คนฆ่าตัวตายด้วยภาวะซึมเศร้า แล้วคนออกมาพูดว่าเป็นเรื่องรุนแรงหรือน่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ คือดาบ 2 คม อย่างบางครั้ง คนในข่าวเป็นบุคคลสำคัญ หรือบางอาชีพที่ต้องฉลาด ต้องสุขภาพดี แล้วฆ่าตัวตาย แม้สื่อพยายามตีข่าวออกมาเพื่อให้คนตระหนักในเรื่องโรคซึมเศร้า แต่ในขณะเดียวกันการที่ทำแบบนั้น ก็ยิ่งทำให้คนคิดว่า คนฉลาด คนประสบความสำเร็จ เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้ การเป็นโรคซึมเศร้าคือผิดมาก การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใหญ่มาก คือมันเรื่องใหญ่จริง แต่โอกาสเกิดมันก็มีเหมือนกันทั่วโลก แม้ว่าจะดีตรงที่เหตุการณ์นั้นๆ ทำให้คนระวังมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน กลับทำให้คนที่ไม่กล้าอยู่แล้ว ก็จะยิ่งมองว่าสิ่งที่ฉันเป็นนี่แย่ขนาดนั้น น่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะฉะนั้น เวลามีข่าวออกมา บรรดาสื่อหรือคนที่มีความรู้เองก็ต้องระมัดระวังกับการตอบสนองกับสถานการณ์ตรงนั้นเหมือนกัน ทางที่ดีคือการทำให้สังคมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันได้ รักษาได้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสื่อดีกว่า
(ที่มา ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต: www.prdmh.com)
สำหรับใครที่คนใกล้ตัวมีคนมีปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรคซึมเศร้า สิ่งที่ผู้ป่วยไม่ชอบที่สุดคือการไปบอกเขาว่าต้องทำอะไร ต้องแข็งแรง ต้องยิ้ม ต้องสดใสนะ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการไม่ไปบังคับหรือไปแนะนำอะไรที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาเป็น อย่างเช่น เขาเบื่อหรือซึม ก็บอกให้เขาออกไปเที่ยวสิ ซึ่งมันไม่ใช่ และสิ่งที่ดีที่สุดคือแค่อยู่ตรงนั้นให้เขารู้ว่ามีคนคนหนึ่งอยู่ข้างๆ และคอยห่วงใย ทำให้เขารับรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เขายังมีเพื่อน มีครอบครัว อยากไปหาหมอ แต่ไม่มีเพื่อนไม่กล้าไป เดี๋ยวเราพาเธอไปเอง แล้วก็ค่อยๆ ให้ข้อมูลว่าอาจจะเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ารึเปล่า กำลังเศร้าอยู่ไหม ต้องการความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาไหม แต่ไม่ไป push เขาจนมากเกินไป
ส่วนคนในสังคม เอาจริงๆ นะ ดาวว่าอย่าไปยุ่ง คือให้เป็นเรื่องของเขาไป เราก็อยู่ของเรา เพราะการคอมเม้นท์ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือไม่ดี อาจจะส่งผลให้อาการเขาแย่ลงกว่าเดิม อย่างเช่น สมมติว่ามีบางเพจเฟซบุ๊คโพสต์เรื่องโรคซึมเศร้า แล้วก็มีคนไปคอมเม้นท์ว่า ต้องไปหาหมอสิ ซึ่งถ้าคนที่ซึมเศร้าอยู่มาอ่าน เขาอาจจะรู้สึกว่ากำลังถูกตำหนิ ถ้าคิดว่าเรามีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือเพราะเราอยากจะช่วย การช่วยที่ดีที่สุดคือการไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าถ้าอยากจะช่วยจริงๆ ก็รอให้มีโอกาสช่วยคนใกล้ตัวของเรา แล้วเราก็ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตให้มากขึ้นไว้ก่อนดีกว่า”
ปลายทางที่มากกว่าแค่ตัวเอง
ดร.ยงยศ: “มีคนเคยบอกไว้นะว่างานที่เราทำแล้วมีความสุขและทำให้เรามีแรงจะทำต่อไป นอกจากจะเป็นงานที่เราถนัดแล้ว ก็คืองานที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ตอนนี้เป้าหมายที่เราเห็นชัดเจนแล้วว่า สุดท้ายถ้าทำสำเร็จจะช่วยคนได้แค่ไหน แล้วยิ่งประสบการณ์ของแต่ละคนที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่า การที่เราสามารถช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือว่าคนที่มีความเครียดในสังคมได้ ไม่ว่าจะเยอะหรือน้อยนั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้”
อาจารย์พณิดา: “พวกเราอยากนำความรู้ที่มีช่วยคนให้ได้มากที่สุด ในการทำงานหลัก เราอาจช่วยเหลือผู้คนได้ภายในขอบเขตพื้นที่ที่เราทำงาน ในขณะที่ความรู้ที่เรามีสามารถช่วยคนได้แบบไม่จำกัด ขอให้มีช่องทางที่ถูก แล้วอีกข้อหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญเลยก็คือการมีทีมเวิร์กที่ดีและมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน มองเห็นความสำคัญของงานเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเรายังอยู่และอยากเดินหน้าต่อไปด้วยกัน”
ความชุ่มชื่นในหัวใจเมื่อสิ่งที่เริ่มต้นไว้เกิดดอกออกผล
ดร.ยงยศ: “ไม่ว่าจะประสบการณ์ตรงของอาจารย์ดาวที่พบคนไข้ซึ่งตัดสินใจเข้ารับการรักษาหลังจากการใช้ Jubjai Bot การมีบล็อกเกอร์ซึ่งเขียนเรื่อง chatbot ว่าเขาอยากหัดทำ chatbot เพราะมาเห็น Jubjai Bot ที่มีประโยชน์และช่วยเหลือคนได้จริงๆ แม้จะไม่ได้เป็น chatbot ที่มีเทคโนโลยีที่สูงที่สุด หรือคอมเม้นต์บางคอมเม้นต์ที่ทำให้เราเห็นว่า Jubjai มีส่วนให้คนคนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการรักษาและทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ หรือจะเป็นฟีตแบคที่ทำให้คนรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากเราแม้เพียงเสี้ยวเล็กๆ ในชีวิตเขา แค่นี้หัวใจเราก็พองโตแล้วนะ”
สร้างสรรค์เทคโนโลยีให้ทำหน้าที่เสมือนยาสามัญประจำบ้าน
อาจารย์พณิดา: “เราอยากให้งานของเราเป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน เหมือนยาพารา แต่แทนที่จะช่วยเรื่องแก้ไข้ แก้ปวด เราอยากเป็นตัวซัพพอร์ตเรื่องอารมณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้ได้ แล้วท้ายที่สุดเราอยากให้คนที่ใช้งานมองว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าคนที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เลย อยู่ๆ รู้สึกว่าตัวเองเศร้า แต่การจะกระโดดไปหาหมอก็ยากเหมือนกัน แต่ถ้าทุกคนคุ้นเคย มีข้อมูลที่ถูกต้อง และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็จะทำให้เขากล้าไปขอความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น”
ดร.ยงยศ: และจุดประสงค์สุดท้าย เราอยากจะให้ chatbot ที่เราสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขามีโอกาสได้สำรวจตัวเขาเอง ให้รู้จักใจตัวเองว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร รู้วิธีจัดการความเครียดด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้ได้กับคนทั้งประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะลดลง และความสุขของเขา รวมถึงคนที่อยู่รอบข้างคนๆ นั้นก็จะมากขึ้น และในท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่ประเทศไทยที่จะเป็นประเทศที่มีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย”
ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: JubjaiBot, medium.com, g-able.com, affinity.co.th
อ้างอิง: Facebook: JubjaiBot, www.prdmh.com