R U OK สาระสนุกๆ จากนักสื่อสารและนักจิตบำบัด เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง

จนถึงตอนนี้ ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นภัยเงียบในสังคมไทย ซึ่งแม้ประเด็นดังกล่าวจะเป็นเรื่องใกล้ตัวแบบที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกวัย และทุกเวลา แต่การก้าวกำแพงความเชื่อและค่านิยมที่ว่า ถ้ามีปัญหาสุขภาพจิต ก็แปลว่าเราบ้า (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป) ก็ไม่ง่ายแล้ว ยิ่งจะให้ทำความเข้าใจ ยอมรับ จนกระทั่งตัดสินใจพาตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสม ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เรียกว่ายังห่างไกลจากสิ่งที่คาดหวังและควรจะเป็นอยู่มากโข

‘R U OK’ พอดแคสต์ใหม่แกะกล่อง ประเภท Self Therapy จากสำนักข่าว THE STANDARD ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงมีนาคม 2561 เป็นอีกหนึ่งแพลทฟอร์มที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยในปัญหาข้างต้นและอยากจะเป็นหนึ่งในช่องทางที่เปิดโอกาสให้คนฟังสามารถสำรวจสุขภาพจิตได้ด้วยตัวเอง ความน่าสนใจของพอดแคสต์ดังกล่าวคือการหยิบยกเอาเรื่องใกล้ตัวและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมาสื่อสารด้วยมุมมอง รวมทั้งวิธีการนำเสนอที่แตกต่างไปจากการให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตแบบที่เคยมีมา

วันนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ สองนักบำบัดประจำรายการ จะพาเราไปสำรวจเส้นทางของ ‘R U OK’ กว่า 70 EP ในสองซีซั่นที่ผ่านมา ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงการส่งต่อความตั้งใจที่อยากจะให้พอดแคสต์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนฟังมีโอกาสได้ทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นว่า ‘ยัง R U OK? กันอยู่ไหม?’

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ (ซ้าย) และ ปอนด์ ยาคอปเซ่น (ขวา)

‘R U OK’ พอดแคสต์สำรวจพฤติกรรมชวนสงสัยในชีวิตประจำวัน

ดุจดาว: “จุดเริ่มต้นของ R U OK คือทางทีมงาน THE STANDARD สนใจอยากจะคุยเรื่องสุขภาพจิตแบบง่ายๆ ใกล้ตัว และอยากจะสร้างสื่อกลางที่กระตุ้นให้คนหมั่นเช็คสุขภาพจิตตัวเองว่า พฤติกรรมอะไรและระดับไหนถึงจะเป็นจุดที่ตัดสินใจไปพบผู้เชี่ยวชาญดีกว่า ซึ่งถ้าประเมินกันเองก็จะยาก พี่คิดว่านี่เป็นไอเดียที่ดีมากเพราะว่าปกติแล้ว หลายๆ คนจะเจอปัญหาเรื่องจิตวิทยาที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องและไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงกับตัวเองอย่างไร ถ้าเป็นแบบนั้น ถึงมีข้อมูลมาให้เยอะแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี พี่เลยให้ความคิดเห็นกับทีมงานว่าน่าจะมีคนมาถามพี่ เพราะพี่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เตรียมมา คนฟัง ฟังแล้วเป็นอย่างไร? ให้มีคนคุยกันไปเรื่อยๆ ถามขยายความในบางจุดที่ขยายต่อได้”

ปอนด์: “โดยจากไอเดียที่พี่ดาวเล่า รายการนี้ก็จะเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับบุคลิกภาพและนิสัยบางอย่างที่หลายๆ คนอาจจะมีอยู่ในใจ แล้วรู้สึกว่าพฤติกรรมหรือนิสัยแบบนั้นโอเคไหม เช่น หลายคนสงสัยว่าการนั่งหวีผมทั้งวันโอเคไหม? การเรียกร้องความสนใจทั้งวันโอเคหรือเปล่า? โดยโปรดิวเซอร์เขาอยากให้มีคนมาทำให้ประเด็นเหล่านี้กระจ่าง สาระก็จะอยู่ที่พี่ดาวที่เป็นนักจิตบำบัด ส่วนพี่ก็จะมาชงและร่วมแชร์ เป็นตัวแทนของคนฟังที่คอยตั้งคำถามในสิ่งที่คนน่าจะอยากรู้ เพราะเรายังอยากรู้เลย ซึ่งพี่เองก็เรียนจิตวิทยามาบ้าง ทาง THE STANDARD คิดว่าคงเหมาะ เรา 2 คน เลยได้มานั่งคุยกัน”

เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง

ปอนด์: “เป้าหมายใหญ่ของพอดแคสต์นี้ก็เพื่อให้คนฟังเขาเข้าใจตัวเองนะ เพราะในรายการเราจะพูดตลอดว่า เราต้องเช็คตัวเองก่อน คนอื่นโอเคไหม? ไม่รู้ แต่คำถามจะต้องหันใส่ตัวเขาเองก่อน ตรวจเช็คตัวเอง ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเอง เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว เราก็หวังว่าเขาจะเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น โดยสิ่งที่เราหยิบมาพูดในพอดแคสต์ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ทุกวันเลย เช่น เรื่องคนติดของที่บางทีโตแล้วยังติดหมอนเน่าอยู่ คนที่ชอบนินทาเป็นอย่างไร? คนขี้นินทาโอเคไหม? ต้องพบแพทย์ไหม? นินทาแค่ไหน? อะไรแบบนี้ เป็นต้น”

EP.ที่ 25 ว่าด้วยเรื่อง ‘โน้มน้าวใจคนฟังด้วยน้ำเสียง 8 แบบ’

ปอนด์: “EP ที่ประทับใจ ก็น่าจะเป็น EP.25 เป็นเรื่องของการใช้น้ำเสียง ซึ่งน้ำเสียงแต่ละแบบก็ใช้แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และให้อารมณ์ไม่เหมือนกันเลย แล้วถ้าเราเลือกใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์และบทบาทหน้าที่ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ เช่น น้ำเสียงโอบอุ้มแบบที่พี่ดาวเวลาที่พูดในรายการ หรือถ้าเป็นผู้ประกาศข่าวที่ต้องการความมั่นใจ น้ำเสียงก็จะเป็นอีกแบบ ซึ่ง EP นี้ คือทักษะเลยนะ ไม่ใช่แค่จากเราสู่คนดูคนฟังอย่างเดียว แต่จากพี่ดาวสู่พี่ด้วย EP นี้ นอกจากจะทำให้พี่ได้เรียนรู้และเพิ่มทักษะในตัว แล้ว พี่ก็มั่นใจว่าคนฟังน่าจะได้เพิ่มทักษะนี้ขึ้นมาในชีวิตเหมือนกัน แล้วพี่ดาวก็รู้ไงว่าพี่ชอบแสดง ก็ให้ทำเสียงนั่นนี่นู่น แบบไหนปอนด์ลองทำซิ ก็สนุกกันใหญ่ (หัวเราะ)”

ดุจดาว: “จริงๆ จะบอกว่าในเชิงคนให้ข้อมูล พี่เองก็ชอบ EP นี้เหมือนกัน เอ็นจอยมาก แล้วที่พี่ชอบก็เพราะเพิ่งรู้ว่าคนฟังชอบและมีคนอยากฟัง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย เพราะเวลาพี่ไปสอนใคร พี่จะไม่สอนตรงๆ ไปอย่างนั้น แต่จะเอาไปประยุกต์กับอย่างอื่น แล้วพอวันหนึ่งมีคนบอกว่าเล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยสิ พี่ก็แบบ อยากรู้จริงๆ เหรอ ซึ่งเขาอยากรู้มาก แบบมากๆ ด้วย ซึ่งเทปนั้นไม่ต้องปั้น ไม่ต้องเรียกร้องหาข้อมูลมาจากไหน เพราะสามารถดึงออกมาจากเนื้อจากตัวเรามั้งคะ ไม่ต้องไปนั่งดับเบิ้ลเช็คข้อมูลเลย ทำอะไรแบบนี้บ่อยพี่ก็สบาย (หัวเราะ)”

เล่าสาระให้เป็นเรื่องสนุก เชื่อถือได้ ไม่เชย แถมยังได้ประโยชน์

ปอนด์: “ด้วยความที่พอดแคสต์ต้องออกทุกอาทิตย์ในซีซั่นแรก และอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ในซีซั่นถัดมา พี่ว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับทีมงานก็คือการคิดเรื่องที่จะมานำเสนอ แล้วภาพของ THE STANDARD คือการเป็นสำนักข่าว เราก็อยากได้เรื่องที่ค่อนข้างที่จะอินกับกระแสในปัจจุบัน แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้หัวข้อนั้นไม่เชยและคนก็สนใจด้วย ขณะเดียวกัน ก็ต้องสามารถตอบสนองในความเป็นพอดแคสต์คือฟังเมื่อไหร่ก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น รวมไปถึงการรักษาคุณภาพของเนื้อหา การเลือกวิธีสื่อสารที่เหมาะสม แม้จะเนื้อหาจะหนัก แต่ต้องยังสามารถนำมาเล่าให้เบาขึ้น โดยที่คนฟังยังได้ประโยชน์เหมือนเดิม เพราะบางทีพอเราเข้มข้นกับเนื้อหามาก คนก็ไม่เอาแล้ว แต่ถ้าเราสามารถทำให้คนเคี้ยวง่ายขึ้น ก็ทำให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นด้วย แถมยังขยายกลุ่มคนฟังได้กว้างขึ้นอีก”

ดุจดาว: “สำหรับพี่คงจะเป็นเรื่องการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ต้องมีการตรวจสอบ โดยวิชาชีพนี้เราพูดลอยไม่ได้ ต้องมีการอ้างอิง เราไม่มีสิทธิ์ไปเหมารวม หรือตัดสิน แต่การจะมีแบบนั้นได้ เราต้องหาวิธีที่จะทำให้พอดแคสต์นั้นไม่ใช่วิชาการจนเกินไป สามารถพูดให้เห็นภาพ และเข้าใจง่าย บางทีเวลาเราจะตอบนี่ ถ้าคนฟัง ฟังดีๆ จะพบว่า กว่าที่จะหาคำพูดเพื่อแลนดิ้งนั้นไม่ง่ายเลยนะ เพราะฉะนั้น การอธิบายคำหนึ่งคำ เลยต้องใช้วิธีการเปรียบเป็นแบบนั้นบ้าง แบบนี้บ้าง นี่คือความยากลำบากส่วนตัว ส่วนคำยากๆ หรืออะไรที่ลึกมากๆ พี่จะคอยเช็คจากปอนด์และโปรดิวเซอร์ที่นั่งอยู่ในนั้น ถ้าเขาพยักหน้าแสดงว่าเขายังอยู่กับเรา แต่ถ้าเขากลั้นหายใจ เริ่มเอนตัว หรือปอนด์เริ่มขมวดคิ้ว นั่นคือสัญญาณละว่าโอเค ตรงนี้จะต้องอธิบายขยายความเพิ่ม เพราะถ้าทีมงานฟังเรารู้เรื่อง คนอื่นก็รู้เรื่อง”

‘ความสด’ หนึ่งในเสน่ห์ที่ถูกใช้เพื่อเข้ายึดหัวใจคนฟัง

ปอนด์: “ในฐานะพิธีกร พี่จะเน้นให้พี่ดาวพูด แล้วสงสัยอะไรคือถามเดี๋ยวนั้นเลย เพราะเราเองชอบความสด รู้พร้อมคนฟัง พี่ว่าการเตรียมตัวทำให้ทุกอย่างจืดชืด พี่เชื่อในความเดี๋ยวนี้เสมอ พี่ถึงชอบรายการสด เพราะความรู้สึกของคนที่ตอบคำถามเรา เป็นสิ่งที่สคริปต์ไม่สามารถกำหนดได้ แล้วบางทีเขาตอบไปอีกทางหนึ่ง เราก็ต้องถามไปตามนั้น ซึ่งพี่ว่าคนดูเองก็เอ็นจอยความสดตรงนี้ด้วยนะ แต่ส่วนใหญ่ ก่อนทำงาน เราจะมีการบรีฟและแลกเปลี่ยนมุมมองกันเบาๆ ว่าใครเคยมีประสบการณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง เพราะบางครั้งหัวข้อที่ให้ไปก็ไม่ได้ทุกหัวข้อที่เรามีประสบการณ์ร่วมหรืออิน แต่เราในฐานะที่ฟังฟีดแบ็คคนฟังมา หรือว่ามีประสบการณ์ร่วมมาจากเพื่อนหรือจากคนที่เราหยิบประเด็นขึ้นมา ก็ต้องพยายาม convince กับพี่ดาวว่า มีเรื่องอย่างนี้ด้วยนะ คนถามอย่างนี้มา ก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเล็กน้อยก่อนที่จะอัดแล้วก็ปล่อยให้เราโซโล่เลย”

ทุกฟีดแบคสำคัญเสมอ

ปอนด์: “อาจเพราะเนื้อหาที่ R U OK หยิบยกมาไม่ค่อยมีใครทำในเวลานี้ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องคุ้นเคย และเกิดขึ้นทุกวัน ก็เลยทำให้พอดแคสต์นี้ไปโดนใจคนฟังมากพอสมควร แต่ถามว่ามีฟีดแบคด้านลบบ้างไหม มีนะ เอาจริงๆ ก็มีคนฟังบางคนที่เขาอาจจะฟังด้วยมุมมองและกรอบความรู้ของเขา ขณะที่ทีมงาน เราก็พูดด้วยกรอบความรู้ของเรา ทำให้บางทีก็มีการ clash กันบ้าง และคนฟังจะรู้สึกว่าบางครั้งบางคำกระทบกระเทือนความรู้สึก แต่เราก็เก็บทุกๆ คอมเม้นต์มาปรับปรุงและพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยพยายามแก้ด้วยวิธีการทำงาน ตั้งแต่การคุยเรื่องประเด็น การบรีฟก่อนทำงาน การกรองคำพูด การอัด การตัดต่อเพื่อให้ทุกคนที่ฟังรู้สึกโอเคที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังได้ประโยชน์ด้วย”

เงิน เรทติ้ง คุณภาพ อะไรคือสิ่งสำคัญของการสร้างคอนเทนต์ในปัจจุบัน

ปอนด์: “ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะถ้าคุณโฟกัสแค่คุณภาพ ตัวเลขคือต่ำเลย สมัยก่อน ตอนที่ทีวีมีแค่ 3 5 7 9 รายการที่มีคุณภาพวัดที่ตัวเลข เพราะว่ามีแค่ไม่กี่ช่อง เหมือนทีวีบังคับให้เราดู แต่ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เราคลิกเข้าไปดูเอง แล้วแมสไม่ต้องการอะไรที่เข้มข้น แต่ต้องการอะไรที่บางๆ เบาๆ จางๆ ก่อนหน้านี้พี่เคยทำมาแล้ว ซึ่งชัดเจนว่าเมื่อเริ่มเบามากขึ้น ตัวเลขก็มาจริงๆ ซึ่งน่าเสียดายที่เนื้อหาที่มีคุณภาพจริงๆ คนจะสนใจน้อย แต่คนที่สนใจก็เป็นคนคุณภาพทั้งหมดนะ ซึ่ง ณ เวลานี้ การทำให้คอนเท้นต์ยังอยู่ได้ เราเองก็ต้องการเงิน ต้องการสปอนเซอร์ แล้วสปอนเซอร์ดูอะไร ดูตัวเลข ไม่ได้ดูคุณภาพ ดังนั้น เทคนิคของพี่ก็คือการทำงานคุณภาพ โดยจับกระแสสังคมและความสนใจของคน ณ ตอนนั้น ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่มาพูด แต่เราบิดให้กระแสสังคมนั้นกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ นั่นคือบาล๊านซ์ให้คนเสพก็ได้ประโยชน์ด้วย เราอยู่ได้ โดยสปอนเซอร์ก็ขายของได้ ในฐานะคนทำสื่อ เราก็ต้องดูแนวโน้มของสังคมปัจจุบันที่เขาเสพด้วย”

พฤติกรรมคนไทยผ่านสายตาของนักสื่อสารและนักจิตบำบัด

ปอนด์: “พี่ว่าตอนนี้ผลกระทบของของโซเชียลเข้ามามีบทบาทมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเทียบกันนะ วันนี้ยูทูปเป็นของทั่วไปมากๆ แบบที่ใครๆ ก็สามารถเปิดช่องของตัวเองได้ ขณะที่ตอนที่พี่เริ่มทำใหม่ๆ ไม่มีแบบนี้ แล้วเอฟแฟ็คต์ของการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างอิสระ นั่นแหละคือดาบสองคมตัวจริง ในมุมคนทำคอนเท้นต์ ก็เป็นเรื่องดีเพราะเราไม่ต้องรอสื่อหลักๆ มาอนุมัติให้เรานำเสนอได้หรือไม่ได้ วันนี้อยากนำเสนอก็กดไลฟ์ได้เลย แต่ว่าในเชิงของผู้รับสาร พี่ว่ามันท่วมจนเราไม่รู้จะเชื่อใครดี ข้อมูลโอเวอร์โหลดมากนะยุคนี้ นี่คือสิ่งที่คนเสพจะต้องดูแลตัวเอง เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่ผ่านสายตาเรา เขาขายบางอย่าง ขายของ ขายไอเดีย เขาทำมาเพื่อที่จะชวนเชื่อเราอยู่แล้ว ยุคนี้เป็นยุคที่เขาเรียกว่า self image obsession คือการ obsess กับ self image มากว่าฉันต้องอย่างนั้น ฉันต้องฟิต ฉันต้องเฟิร์ม สมัยก่อนนางเอกไทยมีเหรอลงรูปออกกำลังกาย ออกกำลังกายรึเปล่า เอาอย่างนี้ดีกว่า แขนพอแบบฟิตๆ หน่อยก็ดูแบบไม่ feminine ไม่เป็นผู้หญิงแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ กลายเป็นกระแสโลกที่ว่าผู้หญิงจะต้องฟิต ต้องเฟิร์ม ต้องใช้พลังงานเยอะขนาดนั้น ซึ่งพอเขาสร้างปั๊บ เขาก็ได้ขายของ ขายเสื้อผ้าออกกำลังกาย ขายนั่นนี่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ถ้ายังเด็กแล้วเราอยากได้ อยากเป็นตามดาราคนนั้น ก็ต้องไปเข้าฟิตเนส สมัครเดือนละเท่าไหร่อีก เราต้องดูแลตัวเองดีๆ ในยุคนี้นะ”

ดุจดาว: “สำหรับพี่ พี่คิดว่าสังคมไทย ความทนทานต่อแรงเสียดสี แรงปะทะน้อย โดนอะไรปุ๊บ เปรี้ยงเลย ตัดสินถูกผิดไวมากและไม่สามารถทนทานกับความคิดเห็นต่าง กับแรงวิจารณ์ พี่คิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดจากการที่เราเติบโตโดยไม่ค่อยได้รับฟีดแบ็ค เราเคยแต่ได้รับคำชี้นำให้ทำ แล้วก็แค่ทำตาม เพราะฉะนั้น แรงเสียดทานไม่มีอยู่แล้ว อีกอย่างคือเราถูกสอนว่าให้ทำสิ่งที่ถูก สิ่งที่ดี มีคำว่าดีครอบหัวอยู่ แต่ว่าในรายละเอียดพฤติกรรม คำว่า ‘ดี’ ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พอวันหนึ่งเจออะไรที่ต่างออกไปมาเขย่าไอเดียความดีของตัวเอง แล้วก็ไม่มีทักษะในการทนทานอยู่ในบทสนทนาที่ต่างไปจากที่ตัวเองคิดเห็น เรื่องนี้น่าเป็นห่วงนะ แต่ในเวลาเดียวกัน คนไทยก็มีความยืดหยุ่นสูงมาก เลยทำให้การปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ เลยไม่ยาก

ถ้าแนะนำในมุมของพี่ สำหรับคนที่แก่ไปแล้ว อาจจะยากหน่อย ก็ต้องประคองกันไป แต่ถ้าในวัยลูกหลานพวกเราก็ทำให้เขาเห็นความต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ สอนว่าความถูกต้องไม่ได้มีแค่อันเดียว อะไรที่เราว่าถูก คนอื่นก็สามารถเห็นอีกแบบหนึ่งได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาผิด ในสมัยที่พวกเราเกิดมาเราถูกสอนว่าต้องเคารพเฉพาะคนที่แก่กว่า คนที่กุมอำนาจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่”

“เมื่อเราไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในโลก ทุกคนเท่ากัน ซึ่งแค่ไอเดียนี้ก็ใหม่มากแล้วสำหรับคนยุคเราขึ้นไป เราก็ฝึกเขาให้เคารพทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เคารพคนที่เห็นต่าง แล้วก็สอนวิธีจัดการกับบทสนทนาและการอยู่ร่วมกับคนเห็นต่างที่ยังเคารพความเป็นคนของกันและกัน อันนี้สำคัญ”

เพราะอยากเป็นประโยชน์และส่งต่อความห่วงใยต่อผู้อื่น

ปอนด์: “ตอนทำพอดแคสต์นี้ มี EP หนึ่งที่พูดถึงเรื่อง Workaholic ซึ่งพี่ดาวบอกว่ามนุษย์เราทุกคนจะมีเป้าเหมายลึกๆ ที่อยู่เบื้องหลังงาน แล้วอะไรที่เป็นประโยชน์ เราก็จะอยากพุ่งไปตรงนั้น ขณะที่อีก EP หนึ่ง พี่ดาวก็พูดเรื่องเป้าหมายในชีวิตของคนแต่ละคน บางคนมีเป้าหมายคือเงิน บางคนคือชื่อเสียง บางคนคือความรัก ความอบอุ่น ความสนใจ แต่พี่ดาวทำให้เราเข้าไปค้นหาและถามตัวเองว่าเป้าหมายของเราจริงๆ คืออะไร ซึ่งปรากฏว่าคำตอบที่ได้ คือเราอยากให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เราอยากเป็นประโยชน์กับคนอื่น ทุกอย่างที่เราทำจะมีแมสเสจที่เราตั้งใจจะให้คน เพียงแค่วิธีการนำเสนอของเราเบา ดังนั้น คนที่ดูได้ขำก็จริง แต่เมื่อขำจบ เขาจะได้อะไรไปด้วย แล้วเราก็ไม่ใช่เป็นคนที่จะมีเรี่ยวแรงที่จะไปยกคน ไปช่วยอะไรแบบนั้น เลยช่วยในเชิงข้อมูลนี่แหละ

พี่จำได้ว่าตอนแรกที่มาทำ R U OK แรกๆ เพราะมีความเชื่อว่าประเด็นที่หยิบยกมาพูดเป็นปัญหาที่ทุกคนคงมีอยู่ลึกๆ แหละ แต่ว่าไม่มีใครที่อยู่ๆ จะเดินไปถามหมอตรงๆ ซึ่งก่อนที่จะไปถึงสเต็ปนั้น คนทั่วไปน่ารู้สึกว่าจะต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ทั้งเอาชนะใจตัวเอง การนัดคิวหมอ ซึ่งเป็นการยากไปที่จะพาตัวเองไปถึงขั้นตอนการวินิจฉัยตรงนั้น แล้วผลตอบกลับที่ได้ดีมากเลยนะ มีคนมาบอกว่าเป็นเพราะรายการนี้ที่ทำให้เขาไปหาหมอ ทำให้เขารู้ว่าใครๆ ก็เดินเข้าไปได้จริงๆ คืออาการแต่ละอย่าง เอาจริงๆ รายการไม่สามารถตอบคำถามคนได้ทุกคนหรอก แต่ว่ารายการทำหน้าที่ในการ convince คนว่า ถ้ามีอาการแบบนี้ เริ่มสงสัยตัวเองได้แล้วนะ ไปหาหมอเถอะนะ นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด คือถ้าเคยฟัง R U OK มา ช่วงท้ายรายการ สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน เราบอกให้ไปหาหมอหมดเลย นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด แล้วการไปหาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิด”

ดุจดาว: “พี่มีความหวังและมีความเชื่อส่วนตัวว่า ถ้าเราจะอยู่กันในสังคมที่ประคับประคองและถ้อยทีถ้อยอาศัย เราทำได้ หรือถ้าเราสามารถอยู่กันด้วยความรุนแรงน้อยกว่านี้ได้ ห่วงใยสุขภาพจิตกันมากกว่านี้ได้ ก็น่าจะดี เพราะว่าแต่ก่อน พี่ก็ไม่รู้วิธีที่จะดูแลสุขภาพจิตตัวเองหรือว่าใส่ใจเรื่องของจิตใจคนอื่นมากนัก พี่ผ่านวิธีการ ทั้งถูกกระทำและเป็นผู้กระทำกับคนอื่นแบบไม่แยแสจิตใจเขา แล้วจริงๆ อาจจะเป็นคนที่เคยทำร้ายจิตใจคนมามากด้วยมั้งคะ ซึ่งพอเป็นแบบนั้นและพี่ได้เจอทางเลือกแบบนี้ ได้มาทำหน้าที่นักบำบัด ก็ค้นพบว่า จริงๆ แล้ว เรามีตัวเลือกอื่นๆ อีก เราสามารถประคับประคองได้นะ หรือมองเข้าไปในจิตใจเขาด้วยวิธีแบบนี้ก่อนก็ได้นะ แต่ก่อนหน้านี้ ยังนึกไม่ถึงเพราะไม่มีตัวเลือก เพราะฉะนั้น การที่เราทำงานตรงนี้ สิ่งที่เราพูด ที่เราอธิบาย หรือให้สัมภาษณ์ หรือพูดในพอดแคสต์ ก็อาจจะเป็นเหมือนตัวเลือกอีกอันหนึ่งในชีวิตของคนฟัง ซึ่งถ้าเขาเคยรู้สึกว่าทั้งชีวิตฉันพูดจาแบบนี้ มีอะไรหรือเปล่าล่ะ? เขาอาจจะเริ่มเห็นได้ว่า จริงๆ เราพูดแบบอื่นก็ได้หนิ เพื่อให้ผลลัพธ์ไม่ต้องมาวนลูปอย่างเดิม แต่ถ้าใครที่โอเคกับชีวิตแล้ว การได้ฟังที่พวกเราคุยกัน ก็อาจจะทำให้เขาได้สำรวจสุขภาพจิตตัวเอง พี่รู้สึกว่า..

“ถ้าเราได้สำรวจสุขภาพจิตตัวเองมากขึ้นหรือห่วงใยสุขภาพจิตของคนอื่นมากขึ้น สังคมที่อยู่คงไม่ต้องดิ้นรนขนาดนี้ เพราะทุกวันนี้ก็ดิ้นรนมากอยู่แล้ว นอกจากดูแลร่างกายตัวเอง เราควรมีโอกาสได้ดูแลหัวใจตัวเองด้วย”

สิ่งซึ่งหล่อเลี้ยงหัวใจ

ปอนด์: “ความสุขในการทำงานเหรอ คือเนื้องานเลยนะ คือความท้าทาย แม้กระทั่งการดีลกับลูกค้าก็ยังสนุกเลยว่า เอ๊ะ เราจะทำอย่างไรให้ตอบสนองความต้องการของเราและสปอนเซอร์ได้อย่างลงตัว สมัยก่อนนี่คือถ้าสปอนเซอร์ต้องการในสิ่งที่พี่ไม่ชอบ พี่ทิ้งเลย แต่เดี๋ยวนี้ที่มาทำเป็น content creator แบบเต็มตัว กลายเป็นว่า นี่คือชีวิตเรา แล้วลูกค้าเขามาสนับสนุน ดังนั้น ก็ต้องเจอกันครึ่งทาง แล้วทำอย่างไรให้ไม่สูญเสียความเป็นตัวเรา ขณะที่ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าทำอย่างไรให้เขาก็ได้ขายของ พูดง่ายๆ เพราะฉะนั้น ทุกวันก็เลยเป็นโจทย์ที่เราต้องแก้เหมือนกัน พี่อยากตื่นมาแล้วคิดว่าจะนำเสนออะไร ในแง่ไหน แล้วคนได้อะไร คนชอบ และยิ้มไปกับสิ่งที่เราทำ”

ดุจดาว: “ส่วนพี่ คือการได้ทำอะไรที่มีคุณค่าและมีความหมาย ทั้งคุณค่าของตัวเองและคนอื่น ของคนอื่นอาจจะรองกว่านิดหนึ่ง เพราะแต่ละคนเขาก็มีหน้าที่ในการดูแลคุณค่าในชีวิตของตัวเองอยู่แล้ว”

จาก EP 1 สู่ R U OK ในวันนี้

ปอนด์: “พี่พบว่าทีมสำคัญมากนะ เหมือนแบบ ปลูกมะเขือได้มะเขือ ปลูกส้มได้ส้ม แล้วคนเหล่านี้คือเมล็ด เขาคือมะเขือ เขาคือส้ม ดังนั้น เมื่อเขาตั้งใจที่จะปลูกของดี ผลผลิตที่ได้ก็คือสิ่งที่ดี นั่นแหละคือสิ่งที่เราเห็นว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่เมล็ด แล้วการได้มารู้จัก มาคลุกคลี มีความน่ารักให้กัน นี่คือมิตรภาพ นอกจากนี้ก็มีความรู้ที่เราได้จากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างพี่ดาว ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดว่า อ้อคำพูดนี่มี 8 เสียงเหรอ ได้เพิ่มทักษะ ได้เช็คตัวเอง เพราะในขณะที่พี่ดาวกำลังบอกคนฟัง เขาได้บอกเราด้วยในฐานะคนถาม ซึ่งพี่ก็ปิ๊งหลายอย่างเหมือนกันจากรายการนี้”

ดุจดาว: “ทั้งปอนด์และทีมงาน R U OK คือมนุษย์อัพเดทเทรนด์ให้พี่ เพราะพี่ไม่ได้ดูทีวี ไลฟ์ทีวี หรืออะไรที่ตามเทรนด์เขาเท่าไหร่ เป็นมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ทีมนี้มีศัพท์ใหม่มาเปิดโลกพี่เยอะเลย สองคือพอได้ทำพอดแคสต์ พี่พบว่ามีเรื่องที่แบบเส้นผมบังภูเขาเยอะมาก หลายครั้งที่ได้พูดเรื่องจิตวิทยา พยายามอธิบายให้คนเข้าใจ และมั่นใจมากว่าสิ่งที่ตัวเองอธิบายน่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว แต่พอมาที่นี่ เขาจะไฮไลท์บางจุดที่พี่คิดว่าไฮไลท์ตรงนี้เหรอ? อยากให้ขยายความตรงนี้จริงๆ เหรอ ไม่เข้าใจหรอกเหรอ แล้วภายก็รู้สึก flashback ว่าแม่เจ้า กี่ปีที่ผ่านมาที่พูดเรื่องนี้ อ้าวตาย คนไม่เข้าใจ (หัวเราะ) เช่นวันนั้นไปเล่าให้เพื่อนที่เป็นนักจิตบำบัดฟังว่า ทีมงานบอกว่าพี่ดาวชอบพูดคำว่าบุคลิกภาพ รู้ไหมว่ามีหลายคนเข้าใจว่าคำว่าบุคลิกภาพหมายความถึง การนั่ง ยืน เดินให้ถูกต้อง เราต้องหลังตรง เดินสวยงาม บุคลิกภาพดี เราก็บอกว่า ไม่ใช่นะ คำว่าบุคลิกภาพคือนิสัยใจคอ วิถีที่เราเป็นอยู่ ซึ่งคนอื่นจะไม่คิดแบบนั้น แล้วพี่พูดคำว่าบุคลิกภาพมากี่รอบแล้วใน 40 เทป ของ R U OK ซึ่งพี่ก็แบบ แล้วคนอื่นจะเข้าใจสิ่งที่เราพูดได้อย่างไร พวกเขามาเปิดโลกให้พี่เป็นระยะๆ หรือแม้กระทั่งเป็นคนเตือนพี่ เพราะหลายครั้งจะมีเรื่องของตัวอย่าง บางทีปอนด์ก็ใช้ตัวเองเป็นตัวอย่าง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราคุยกันมาจนสนิทมากพอที่เรารู้สึกว่าแฟร์ดีที่เราจะไม่นั่งแค่เก้าอี้นักจิตบำบัด เรามีเก้าอี้มนุษย์ 1 คน เราก็เป็นคน ชีวิตเราก็มีรอยแผล รอยติดขัด รอยเจ็บอะไรมาเยอะ ซึ่งพื้นที่นี้ พี่ก็รู้สึกว่าแฟร์มากพอที่จะมีโอกาสได้แชร์เรื่องที่ยากลำบากของตัวเอง หรือประสบการณ์คล้ายกันขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เตือนสติตัวเองว่าการเป็นนักจิตบำบัด ไม่ใช่ยอดมนุษย์ ไม่ใช่คนที่ดีกว่าใคร ไม่ได้สมบูรณ์กว่าคนอื่น แต่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เหมือนกับทุกๆ คนเลย ดีที่มีโอกาสได้ทำงานกับอีโก้ตัวเอง ซึ่งพี่ชอบนะ”

ให้เกียรติความรู้สึกตัวเอง อีกหนึ่งหนทางสร้างพลังใจและแรงบันดาลใจ

ปอนด์: “พี่ไม่มีต้นแบบ เพียงแต่เราฟังเสียงตัวเองว่า ถ้าวันนี้เราเหนื่อย เราประจำเดือนมา เราก็จะไม่ทำ เรารู้สึกว่าเราต้องฟังตัวเอง เพราะบางทีการไปยืมต้นแบบ ก็คล้ายๆ กับการสร้างกรอบให้ลางๆ ซึ่งพี่ไม่อยากสร้างกรอบให้กับตัวเอง และอยากจะไปในจังหวะของเราเอง ในรูปแบบของเรา ข้อดีของการทำตามความรู้สึกตัวเองคือเป็นการให้เกียรติความรู้สึกตัวเอง ซึ่งพอเราให้เกียรติความรู้สึกตัวเองได้แล้ว โดยอัตโนมัติเลย เราจะมีความสุขมากขึ้นทุกครั้งที่เราให้เกียรติตัวเอง เหมือนกันกับที่ทุกครั้งที่เราพูดดีกับคนอื่นซึ่งเขาก็จะมีความสุขขึ้นใช่ไหม ในขณะที่เราให้เกียรติตัวเองก็เหมือนเราได้อัดฉีดตัวเองได้ ทุกวันนี้ ขนาดพี่สาวยังพูดเลยว่าพี่ดูแฮปปี้มากทั้งๆ ที่เงินลด (หัวเราะ) แต่ว่าเราได้ฟังเสียงตัวเอง แล้วเราตอบสนองกับตัวเอง เราเซย์เยสกับตัวเอง แทนที่เราจะเซย์โน”

สร้างสุขท่ามกลางกระแสความวุ่นวาย

ดุจดาว: “ก็เหมือนกับเราแนะนำนักวิ่งว่า ให้วิ่งแบบที่ไม่ใช่จะเป็นนักวิ่งแข่ง แต่ให้วิ่งตามจังหวะของตัวเอง พี่ว่าสิ่งนี้สำคัญมากที่เราจะมีโอกาสได้หยุดเช็คว่า ทุกวันนี้ที่เราวิ่ง ที่ทำนั่น ทำนี่ เราวิ่งตาม pacing ใครอยู่หรือเปล่า? บางทีอาจเป็น pacing ที่ที่ทำงานกำหนดไว้ให้ แต่ตัวเราเอง ก็ต้องกลับมาดู pacing ของตัวเองด้วยว่าแต่ละก้าว เราก้าวด้วยการเลือกแล้วของเราว่าจะไปในแบบไหน ฟังดูก็เหมือนการรู้เนื้อรู้ตัวมั้งคะว่าตัวไปไหนใจไปด้วยหรือเปล่า? แล้วใจอยู่ไหนรู้ตัวหรือเปล่า? สองสิ่งนี้สัมพันธ์กันนะและไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่พอพูดแบบนี้ คนก็จะลากไปถึงพุทธศาสนา แต่พอพูดในมุมพุทธศาสนา คนก็ไม่อยากคุยเรื่องนั้น พี่คิดว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องว่าเรามีสติรู้ตัวไหมว่าทำอะไรอยู่ ทำเพราะอะไร ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร แล้วยังอยากทำต่อไปไหม อย่างไร?

มีอีกสิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าเป็นกับดักของวัฒนธรรมเรา คือเราโตมากับสิ่งที่บอกว่าสิ่งนั้นถูกสิ่งนี้ผิด แบ่งเป็นสองฝั่งชัดเจนว่า ถูก-ผิด ดี-ชั่ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ แล้วพอเป็นเรื่องฝ่ายไม่ดี เราก็จะไม่เอาแล้ว ซึ่งหลักในการบำบัดคือ ดี-ชั่ว เราไม่รู้หรอก แต่พอเป็นของเรา เราควรจะต้องกอดให้เต็มไม้เต็มมือ สิบเรื่องทุเรศของเราในวัยเด็ก ก็เป็นของเรา ไม่จำเป็นจะต้องทิ้งเอาไว้ข้างหลังว่าฉันเกิดใหม่ ไม่มีตัวตนคราวก่อน ฉันเปลี่ยนชีวิตแล้ว ฉันย้ายถิ่นฐาน ฉันไม่พูดเรื่องอดีตอีกเลย แบบนี้น่ากลัวนะ คือไม่ว่าเราจะชอบประสบการณ์ชีวิตเราหรือไม่ อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือของเรา โอบกอดมันเสียเลยดีกว่า แล้วเราจะเจอวิถีที่ healthy กว่าที่จะไปทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง แทนที่จะหนีไปเรื่อยๆ ลองยอมรับว่าตัวเองว่าหน้าเกลียดบ้าง ชั่วบ้าง โกรธบ้าง ตัวเองขี้หงุดหงิด ขี้อิจฉา หรือขี้เกียจบ้าง การยอมรับพาร์ทที่ไม่ดีของตัวเองบ้าง พี่ว่าสำคัญนะ”

ปอนด์:

“นี่เป็นเหมือนคำตอบพื้นฐานของ R U OK เลยด้วยซ้ำ คือให้กลับมาหาตัวเอง ไม่ว่าสังคมจะป้อนอะไรให้คุณ คุณมีสิทธิ์เลือกที่จะไม่รับ เราเป็นเจ้าของชีวิตของเราเอง ดังนั้นเราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่จะเสพ เหมือนอาหาร เราก็ต้องเลือกของดีที่จะกิน”

“ฉะนั้น หนึ่งคือรู้จักเลือก แล้วที่สำคัญก็คือถามตัวเอง เช็คตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางทีเครียด ก็รู้แต่ว่าเครียด แล้วเราก็ไปเสิร์ชหาวิธีคลายเครียดต้องทำอย่างไร ลองถามตัวเองว่าเครียดเพราะอะไร แล้วลงไปลึกเรื่อยๆ ให้สำรวจตัวเอง ดังนั้น การทำความรู้จักกับตัวเอง แล้วก็การรู้จักเลือก นี่คือทางรอดของคนในยุค information overload แบบนี้”

ทำดี ยากที่ไหน

ปอนด์: “จริงๆ ง่ายมากนะในการจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ใช่ว่าจะต้องมีช่องพอตแคสต์หรือยูทูป คนจะชอบคิดว่า คนเก่งคือคนที่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น คือคนพูดเก่ง ร้องเพลงเก่ง เป็นคนที่อยู่หน้าเวที อยู่ในสป็อตไลท์ ประโยชน์เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกที่ ทุกวัน ทุกเวลา อย่ามองประโยชน์ว่าต้องเป็นสิ่งใหญ่ ต้องเขียนหนังสือบอกโลก ไม่อ่ะ ยิ้มให้เพื่อน ช่วยยายหยิบมีด ช่วยยายสนเข็มสอยด้าย หรือในฐานะนักเรียนคนหนึ่ง การไม่ทำให้ครูปวดหัว นั่นก็เป็นประโยชน์แล้ว ไม่ทำตัวให้พ่อแม่ปวดหัว นั่นก็เป็นประโยชน์แล้ว หรือคุณทวิตคำดีๆ ลงไปให้กับคนที่อาจจะผ่านตาและอาจจะต้องการคำๆ นั้น เช่น “ไม่ว่าเธอจะคือใคร ฉันรักเธอนะ” อาจจะเป็นคำที่บ้าบอคอแตก แต่พอปล่อยออกไป แล้วมีคนที่กำลังดิ่งมาไล่อ่านเจอ แล้วทำให้เขาอุ่นใจขึ้นมา นั่นก็ให้แล้วนะ คนชอบคิดว่าทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์แบบรูปธรรมได้ ต้องเป็นชิ้นใหญ่ แต่พี่กลับรู้สึกว่าต้องเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยซ้ำ แล้วทำให้สิ่งเล็กๆ นั้นเป็นของสะสม เหมือนกับเราสะสมสแตมป์ เราออมการให้ ลองเริ่มให้เล็กๆ จนวันที่เรามีบารมี เราจะสามารถให้ใหญ่ขึ้นๆ ได้เรื่อยๆ พี่เชื่อในเรื่องนี้นะ แต่สำคัญเลยคือ เราต้องเริ่ม คิดเฉยๆ ก็ไม่เกิด”

ดุจดาว: “แล้วถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองไปสมัครงานจิตอาสาดู แบบนั้นคือเป็นสายที่ทำให้คนอื่น ซึ่งตัวกระบวนการจะ shape เราเองว่าเป็นสิ่งที่เราตามหาหรือเปล่า? เพราะบางคนอยากอยู่ในบทบาทช่วยคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี ฉันอยากจะรู้มากกว่าคนอื่นเพื่อที่จะได้ตั้งตัวเองสูงกว่าคนอื่นและช่วยคนอื่นเหมือนโปรดสัตว์ลงมา แบบนั้นพี่ไม่ค่อยชื่นชมเท่าไหร่ พี่รู้สึกว่าคุณเรียนสูงเพื่อจะยกตัวเองขึ้นและช่วยคนอื่น แต่ไม่ได้เพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น เป็นผลประโยชน์ของตัวเอง พี่ชอบนะคนที่อยากช่วย แต่ว่าช่วยแบบไหน ต้อง clarify ตัวเองก่อน ว่านี่คือความต้องการใคร”




ภาพ: Saran Sangnampetch, www.thestandard.co
อ้างอิง: www.thestandard.co

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles