ทุกวันนี้โลกกำลังถูกคุกคามด้วยปัญหาด้านสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ ใครก็อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตได้ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขัน หรือชีวิตประจำวันที่เร่งรีบจนเกิดความเครียดสะสม ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคที่รุนแรงขึ้น เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาให้ทันท่วงที แต่เราต่างก็รู้ว่าลำพังระบบทางการป้องกันที่ว่านั้นไม่เคยทันต่อการแก้ปัญหาได้เลย William Doan ผู้มีประสบการณ์ตรงกับปัญหานี้ได้จัดทำโปรเจกต์ชื่อว่า Anxiety Project ซึ่งนำเสนอหนังแอนิเมชั่นสั้นเรื่อง ‘Inhale, Exhale, Draw,’ drawing my way to mental health กำกับฯ โดย Cindy White ซึ่งเธอเป็นผู้ช่วยวิจัยร่วมของสถาบันศิลปะที่ทำงานในโครงการเดียวกัน ได้แนะนำผู้ชมหรือผู้ที่อาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการป่วยไข้ด้านสุขภาพจิตให้ลองทำตาม และวิธีการนั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยากนั่นก็คือ ‘การวาดภาพ’
ภาพเขียนส่วนตัวมากกว่า 500 ภาพถูกจัดเรียงเป็นเรื่องราว แอนนิเมชั่นเล่าถึงประวัติส่วนตัวของ Doan ครั้งเป็นเด็กก็เคยตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลหาทางออกไม่ได้ แล้วได้ค้นพบว่าการวาดภาพนั้นคือคำตอบ ที่ช่วยระบายความเครียดเหล่านั้นออกมาหลังจากค่อยๆ เริ่มทำ ทว่าทำต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี เขาก็รู้สึกว่าตัวเองหลุดพ้นจากภาวะซึมเศ้รานั้นได้ การวาดภาพในที่นี้นั้นไม่ต้องคำนึงถึงอะไรมากนัก เพียงจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและเขียนทุกอย่างที่อยากเขียนเพื่อเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกมา ความสามารถด้านศิลปะอาจเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว แต่งานนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความงดงามอะไร แต่ให้มุ่งไปที่ผลของการกระทำซึ่งหลังจากวาดเสร็จแล้วก็พอ พร้อมตบท้ายด้วยว่ามันดีต่อสมองเราเอง
William Doan เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และพัฒนางานวิจัยด้านการออกแบบ the College of Arts and Architecture’s Arts and Design Research Incubator (ADRI) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2018 เขาได้รับเชิญให้เป็นศิลปินในพำนักของวิทยาลัยการพยาบาล the Penn State College of Nursing ซึ่งช่วยให้โปรเจ็กต์ของเขาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะได้แลกเปลี่ยนรวมถึงคำแนะนำจากบรรดาคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นั่นทำให้โลกของศิลปะและวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ผสมผสานกันอย่างลงตัว สามารถนำเสนอผลงานออกมาสวยงาม นี่คงเป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งให้เห็นว่าศิลปะและวิทยาศาสตร์นั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เป็นเสมือนเหรียญสองด้านที่มีภาระสร้างสรรค์สังคมโลกให้ก้าวข้างไปหน้าเพื่ออนาคตที่ดีร่วมกัน
อ้างอิง: arts.psu.edu