‘จูน เซคิโน’ สถาปัตยกรรมธรรมชาติและธรรมดาสู่ความเรียบง่ายแบบไม่ธรรมดา

จูน เซคิโน คือสถาปนิกที่เติบโตมาด้วยวิธีคิดในแบบคนญี่ปุ่นจากการเลี้ยงดูและเฝ้ามองการทำงานของคุณพ่อ มีระเบียบและวินัยที่สั่งสมจากการเป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมเยาวชนในสมัยเด็ก การได้ฝึกฝีมือด้านออกแบบในยุคที่ต้องทำทุกอย่างด้วยมือ สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมและถ่ายทอดสู่งานออกแบบที่มีเอกลักษณ์กับฟอร์มงานเรียบ ๆ เกลี้ยง ๆ สะอาดสะสะอ้าน โดยทุกสเปซที่เขาสร้างสรรค์จะมี ‘ผู้ใช้งาน’ และ ‘ประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม’ เป็นตัวแปรสำคัญ

นอกจากเรื่องเล่าในวัยเด็กที่มีอิทธิพลต่อการสร้างงานในปัจจุบันแล้ว จูนยังสะท้อนบทบาทของสถาปนิกในการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงไปกับคน ตลอดจนมีสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์สำคัญ ผ่านผลงานอย่าง ‘โรงเรียนพอดีพอดี’ และ ‘ห้องสมุดแก่งกระจาน’ พร้อม ๆ ไปกับมุมมองเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คุณสมบัติที่ใคร ๆ ต่างก็หยิบมาใช้ในการช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้      

‘ธรรมชาติและธรรมดา’ สิ่งหล่อหลอมสู่ความเรียบง่ายแบบไม่ธรรมดา 

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นคนญี่ปุ่น คุณแม่เป็นคนไทย ได้เห็นวิธีการทำงานของพ่อ ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเขามีระเบียบวิธีคิดที่แข็งแรงมากและเขาจะรักษากรอบนั้นไว้ได้อย่างเข้มแข็ง แล้วตอนเด็ก ๆ ผมเป็นนักฟุตบอลแบบที่จะทำเป็นอาชีพเลย โตมากับกฎระเบียบ ตื่นตี 4 มาวิ่ง อยู่ในกรอบ และไม่รู้ว่าทำไมต้องออกนอกกรอบ ผมก็เลยคิดเอาเองว่าเมื่อมาทำงาน เราอาจจะติดระเบียบและวิธีคิดต่าง ๆ แบบนั้นมา

เมื่อหันมาเรียนสถาปัตย์ ในช่วงนั้นทุกอย่างยังเป็นอะนาล็อกอยู่ เพิ่งมีเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามา นั่นหมายความว่าทุกอย่างที่เรียนเกือบ 5 ปี ผมต้องใช้มือทั้งหมด แล้วถึงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์สักประมาณปีที่ 4 ที่ 5 ตอนทำธีสิส ซึ่งการที่เราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ด้วยมือ ใช้แค่ปากกา ดินสอ สเกล กระดาษ คัตเตอร์ ข้อดีของการทำงานแบบนั้นคือผมทำงานบนสเกลจริง ไม่ใช่สเกลเสมือนอย่างในคอมพิวเตอร์ ฉะนั้น ผมเลยมีความ manual แบบนั้นติดตัวมา

แล้วผมก็มีโอกาสได้เดินทางมาตั้งแต่เด็ก ในปีหนึ่ง ๆ 4-5 เดือน ผมจะอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควร ซึ่งการที่มีโอกาสได้ไปเห็นอะไรแบบนั้นก็เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งเลย ทำให้ผมคิดว่าทำไมประเทศเรากับเขาถึงต่างกัน ไม่ได้บอกนะว่าที่ไหนดีกว่า แค่รู้สึกว่าบ้านเมืองเขาสวยจัง

สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นแหล่งข้อมูลซึ่งผมค่อย ๆ สะสมมาเรื่อย ๆ จนติดตัวมาถึงตอนเรียนและทำงาน ด้วยวิธีการมองลักษณะดังกล่าวน่าจะทำให้เกิดความธรรมดา ซึ่งเมื่อก่อนคนอาจจะบอกว่าธรรมดาคือการไม่มีอะไรรึเปล่า แต่สำหรับผม ธรรมชาติและธรรมดา 2 เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องแย่ หลายคนบอกว่างานของผมเหมือนญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่เคยต้องการให้งานผมเหมือนญี่ปุ่นเลย เพียงแต่ว่าอาจจะมีจริตบางอย่าง เช่น กฎระเบียบที่คนญี่ปุ่นมองว่าเป็นความงาม ความเป็นมืออาชีพ แล้วผมก็ทำงานที่ค่อนข้างเรียบ ผมก็อยากเฟี้ยวฟ้าว แต่พยายามแล้ว มันไม่ได้ ไม่ใช่ และอาจไม่เหมาะกับเรา มีคนเคยบอกว่า “เวลาจูนทำงาน จูนดูมินิมอล” ผมยังไม่รู้เลยว่ามินิมอลคืออะไร อาจจะเป็นความธรรมดา อุ่น ๆ ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมสะท้อนสภาพบุคลิกของคนทำนะ โดยทั้งตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม”

จากโครงการเชิงพาณิชย์สู่ ‘ห้องเรียนพอดีพอดี’ ที่สร้างสรรค์ภายใต้โจทย์ที่ ‘พอดี’ 

“จริง ๆ ผมไม่ค่อยได้ทำงานสาธารณะเสียเท่าไหร่ จนเมื่อมา 4 ปีก่อน ที่มีโอกาสมาร่วมออกแบบห้องเรียนพอดีพอดี ต้องย้อนกลับไปในปี 2557 หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ต่าง ๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงราย ในเวลานั้น มีโรงเรียนจำนวนมากเลยที่ได้รับความเสียหายและเด็ก ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เราได้รับการติดต่อจาก Design for Disasters ที่พวกเขาตั้งใจคืนพื้นที่เรียนให้เด็ก ๆ นอกจากโจทย์ที่เราและทีมสถาปนิกอีก 8 คน ต้องออกแบบโรงเรียน 9 แห่ง ด้วย ข้อจำกัดต่าง ๆ ตั้งแต่เวลาที่น้อยมากเพียง 10 วัน ไม่มีงบประมาณ แต่ต้องออกแบบให้สามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดที่สุด ขณะที่ต้องเป็นอาคารที่เหมาะสมกับพื้นที่ในเขตแผ่นดินไหวด้วย

ด้วยโจทย์ที่ว่ามานี้ ห้องเรียนพอดีพอดีของเราเลยใช้โครงสร้างที่ง่ายและเร็ว นั่นคือการใช้ระบบแห้ง เพราะถ้าเราใช้ระบบเปียก เสา คาน ปูน จะต้องรอฉาบทำให้ห้องเรียนไม่สามารถเสร็จได้ตามเวลา จริง ๆ แล้วงานนี้มีต้นแบบมาจากงานของพี่สุริยะ (อัมพันศิริรัตน์) อย่างบ้านพอดีพอดี โดยห้องเรียนแห่งนี้คือการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว เราใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักเพราะขนส่ง คิวซีงาน ขอรับบริจาคได้ง่าย และคุ้มค่า ช่างไม่ต้องทำอะไรซับซ้อนมาก และทุกอย่างในโปรเจ็กต์นี้เราจะไม่ให้เหลือเศษเลย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ผนัง องค์ประกอบสถาปัตยกรรมทุกชิ้น เพราะทุกอย่างคือเงินของลูกค้าและเงินบริจาค ในพื้นที่ประกอบไปด้วย ห้องจำนวน 4 ห้อง ขนาดห้องละ 4 ตารางเมตร ออกแบบให้เป็นพื้นที่แบบอเนกประสงค์ ที่สามารถเป็นทั้ง ห้องเรียน ห้องเล่น ห้องสอนพิเศษ และยังทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย โดยงานในครั้งนั้น ต้องยกเครดิตให้น้องในทีมทุกคนที่มาช่วยกัน เราปิดออฟฟิศ 10 กว่าวันเพื่อลุยงานนี้ให้จบ”

งานเพื่อสาธารณะที่สอนให้เรียนรู้การทำงานแบบย้อนศร

“ห้องเรียนพอดีพอดีเป็นโปรเจ็กต์แรกที่เราไม่มีสตางค์เลย แม้กระทั่งโจทย์ ปกติเวลาเราทำงาน เราจะมีเม็ดเงิน มีไซต์ที่ดี มีลูกค้าที่โอเค เพื่อทำให้เกิดขึ้น แต่โครงการนี้ ลูกค้าคือเด็ก ๆ ที่พวกเขายังนั่งเรียนอยู่ในเต็นท์อยู่เลย ไซต์ไม่สวย ไม่มีเงิน เราต้องคิดว่า เมื่อมีของเท่านี้เราจะทำอย่างไรกับของที่อยู่ตรงหน้า ต้องใช้ของที่ไม่แพงและห้ามเหลือเศษ เพราะไม่ใช่เงินเราและต้องทำงานกันก่อนเพื่อที่จะได้เงิน เพราะฉะนั้น เราไม่คาดหวังถึงการประสบความสำเร็จ เพราะตอนนั้นไม่มีเวลาให้คิด เด็ก ๆ อยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก แต่โครงการนี้เป็นวิธีการทำงานที่กลับหัวดีนะ (ยิ้ม) และเป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้ผมและทีมเปลี่ยนวิธีคิดในการทำสถาปัตยกรรมไปมากเหมือนกันว่าหากเราไม่มีงบประมาณที่ไม่มาก เราจะสามารถทำงานดี ๆ ที่ตั้งใจออกมาได้ไหมและออกมาได้อย่างไร เป็นงานที่ทำให้เราลดตัวตนลงไปได้เยอะและทำให้หันมามองความเป็นจริงที่ว่า เราสามารถทำงานเท่าที่ความจำเป็นจริง ๆ ใช้หลักวิชาชีพ ทักษะจากของที่มีอยู่จัดการกับทรัพยากรที่มีเท่านี้ กับข้อจำกัดเหล่านี้ให้ออกมาเป็นงานที่สามารถใช้งานจริงและมีคุณภาพสมราคา จากทุกทีที่เราสามารถช้อปปิ้งแล้วมาทำงาน แต่ตอนนี้ไม่ได้ ซึ่งมหัศจรรย์ดีนะครับ”

ห้องสมุดที่ใครมาใช้ก็ได้ 

“สำหรับห้องสมุดที่แก่งกระจาน จังหวัดเพรชบุรี จริง ๆ เจ้าของมีธุรกิจร้านกาแฟอยู่แล้ว และมีเนื้อที่ด้านหลังเยอะ และให้โจทย์เรามาคือเขาอยากสร้างห้องสมุดให้ใครมาใช้ก็ได้ โดยสามารถนั่งเล่น อ่านหนังสือ ดื่มกาแฟ เป็นห้องสมุดที่ไม่เป็นทางการ เพราะถ้าเป็นทางการมาก คนจะกลัวและไม่กล้าเข้ามาใช้”

“เรื่องฟังก์ชั่นด้านในจะไม่เป็นทางการ เช่น ไม่เป็นระดับขั้น มีความอบอุ่น ดูเป็นศาลาธรรมดาที่ยินดีต้อนรับคนทุกรุ่น ทุกวัย ทุกอาชีพ มีการจัดแปลนให้คนหันหน้าออกไปหาธรรมชาติ ทำชั้นหนังสือแค่ 4 ก้อน ตรงกลางเป็นโต๊ะของบรรณารักษ์ พื้นที่ที่เหลือจะสามารถนั่งกับพื้นได้ นั่งโต๊ะได้ นั่งห้อยขาได้ โดยทำเป็นระเบียง อยากให้บรรยากาศภายในดูสบายๆ เหมือนเวลาเราไปวัด ไปศาลา และอยากให้สถาปัตยกรรมธรรมดาที่สุดเพื่อให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่มีด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ทุก ๆ ด้านจะมีหน้าตาเหมือนกันหมด แล้วก็ทำทางเข้าให้เข้าด้านข้างตรงมุม คนสามารถเข้าอาคารได้แบบรอบด้าน มีมุมสีเขียวข้างนอก พอพระอาทิตย์หมุน คนที่อยู่ด้านในก็สามารถหลบแดดไปนั่งอีกมุมหนึ่งได้”

การค้า VS สาธารณะ สองความท้าทายที่แตกต่าง

“งานเชิงพาณิชย์จะมีโจทย์และเป้าหมายชัดเจน ขายใคร งบประมาณเท่าไหร่ ต้องการอะไร เราจะออกแบบโดยพุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะที่งานสาธารณะ ในฐานะสถาปนิก เราต้องเข้าไปสังเกตพฤติกรรมคนใช้ ลงทำความเข้าใจคนที่จะมาใช้งาน รูปแบบ งบประมาณ เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมสำหรับคนทั่วไปมาก ๆ ต้องรองรับคนได้ทุกรุ่น ทุกอาชีพ เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ควรมีการแบ่งชนชั้น ไม่ไปตัดสินคนที่เข้ามาใช้งาน ต้องสร้างความเสมอภาค ถ่อมตน และอบอุ่น”

ความคิดสร้างสรรค์ คุณสมบัติที่มีในตัวทุกคน   

“‘ความคิดสร้างสรรค์’ คำนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนอาจจะเกิดได้ต่อเมื่อเขาต้องต่อสู้หรือแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่าง เรื่องปากท้อง การแสวงหาความสุขสบาย ซึ่งงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สำหรับผม ผมมองว่าควรเป็นสิ่งที่ทำออกมาได้ง่าย คนทั่วไปเข้าถึงได้ มันควรจะเป็นอย่างนั้นและไม่ควรจะเป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง คุณไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบ ผมคิดว่าทุกคน ทุกวัย ทุกเพศ ทุกอาชีพมีและสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในแนวทางของตัวเอง”

“ความคิดสร้างสรรค์ตามความหมายของมันคือการริเริ่มในทางที่ดี แน่นอนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันต้องดีต่อโลก ต่อสังคม แล้วสิ่งนี้เป็นที่ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปซื้อคอร์สเรียน แค่คุณตื่นมาแล้วมองโลกแบบดี ๆ คุณก็สามารถสร้างสรรค์อะไรก็ได้แล้ว คุณอาจเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อนก็ได้ ตื่นมาแล้วทำอย่างไรให้เราใช้พลาสติกน้อยที่สุด ใช้น้ำให้น้อยที่สุด สำหรับผมนี่คือความสร้างสรรค์แล้วนะ ไม่ใช่ว่าคุณต้องสร้างสิ่งใหม่ในโลก แค่คุณพยายามรักษาอะไรดี ๆ เอาไว้ หรือการแก้ปัญหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ คือคุณไม่ต้องไปกู้โลกหรือสร้างอะไรใหญ่โต บางทีเราก็ไปกำหนดว่าความคิดสร้างสรรค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราสร้างข้อแม้เยอะมากต่อสิ่งนี้นะ”

การเงี่ยหูฟังเสียงของคนที่นำไปสู่การมองความเป็นมนุษย์อย่างเข้าใจ

“การได้ทำงานสาธารณะทำให้ผมตั้งคำถามว่า ‘ความงามคืออะไร?’ ‘สถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร’ ผมขอใช้คำว่าเหมาะสมดีกว่า พอเราทำงานที่เหมาะสมกับบริบท กับข้อจำกัด กับโจทย์ แล้วทำให้เรามองการทำงานที่ไม่มีข้อแม้ดู ทำให้ผมถอยความเป็นตัวตนลงมาเยอะมาก ได้มองการใช้งานแบบเชิงลึกมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าคนที่มาใช้ร้อยพ่อพันแม่ การตีความเพื่อให้เขารู้สึกกับที่เราคิดมันยากมากนะ แต่ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าอย่างน้อยสถาปัตยกรรมหลังนี้สามารถไปรองรับความต้องการหรือสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจอย่างน้อยสัก 50% อาคารหลังนี้ได้ทำงานของมันแล้ว โลกหมุนเร็วมากนะ อาคารหลังเดียวกันอาจจะเหมาะสมกับคนหรือบริบทของคนยุคนี้ แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ในอีก 10 ปี ข้างหน้าก็ได้ ผมไม่ได้คาดหวังว่า 100% มันเป็นไปไม่ได้ครับ และงานสาธารณะก็ทำให้เรามองความมนุษย์ ว่าเอาเข้าจริงแล้ว พื้นฐานจริง ๆ ที่คนต้องการจริง ๆ อย่างทำโรงเรียนก็ต้องการแค่ห้องที่ฝนไม่สาด ไม่ต้องร้อนมาก ไม่ต้องมีแอร์เย็น หรือห้องสมุดก็เป็นงานที่คุณสามารถไปสัมผัสกับธรรมชาติโดยไม่จำเป็นจะต้องจ่ายสตางค์แพง ๆ เพื่อให้ใกล้ชิดธรรมชาติ ผมมองว่าถ้าเราออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วให้คน represent สภาพแวดล้อมธรรมชาติแค่นี้ก็พอแล้ว”

นิยามของสถาปัตยกรรมที่ดีแบบ จูน เซคิโน

“ผมไปตัดสินใครหรืออะไรยากมากเลย ว่าอะไรดีไม่ดี ไม่สามารถขนาดนั้น เพราะว่าด้วยบริบทและข้อแม้ของแต่ละคนในการคิดงาน เราไปเห็น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับผมสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของช่วงเวลา ณ ขณะที่เราอยู่ตรงนั้น ผมมองว่าสถาปัตยกรรมจะทำงานจริง ๆ ก็เมื่อคนไปแล้วรู้สึกอย่างไรกับมัน ไม่ว่าจะดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ นี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แล้วแต่จริต แม้ว่าคนที่ไปแล้วรู้สึกว่าไม่ดี ไม่ชอบ สถาปัตยกรรมหลังนั้นทำงานแล้ว แต่ผมให้ความสำคัญกับความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งคนจะรู้สึกเองว่าเหมาะสมไหม ถูกที่ถูกทางไหม ควรจะตั้งที่นี่ไหม เราเป็นสถาปนิกและเราก็มีสายตาแค่เพียงแค่คู่เดียว แต่คนที่มาใช้กับสายตาอีกเป็นพัน ๆ เราจะไปบอกว่า “คุณต้องรู้สึกเหมือนที่ผมคิดนะ” ผมว่ามันยาก ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าสถาปัตยกรรมที่ดีเป็นอย่างไร ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมหลังนั้นอย่างน้อย ๆ ควรจะต้องใส่ใจคนใช้งาน ใส่ใจสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ว่าไปแล้วไปทำลายทุกอย่าง สภาพแวดล้อม สถาปัตยกรรมสวยมากเลย แต่นายทำลายทุกอย่างรอบด้านหมด นายต้องการไฟฟ้ามหาศาล ต้องเปิดแอร์ทั้งวัน ผมรู้สึกว่าคุณจะรับอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้อะไรเลยไม่ได้”

สิ่งเล็กๆ ที่สร้างโลก

ผมว่าทุกคนอยากเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโลก แต่ว่ามันเปลี่ยนได้ยากมาก คนก็บอกว่าประเทศไทยไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ แต่ผมไปมาหลายประเทศ อย่างไรก็ยังรักประเทศไทยอยู่ ถึงเป็นไปได้ ผมคงจะไม่เปลี่ยน แต่จะปรับ เปลี่ยนเลยผมรู้สึกว่าโหดเกินไป อย่างแรกคงต้องแยกแยะก่อนว่าประเทศเรามีอะไรดีและไม่ดี ต้องใจกว้าง ในขณะที่เรามีเรื่องไม่ดี เช่น คอร์รัปชั่น เรื่องผิดกฎหมาย หรือทำอะไรเอาแต่ใจ พวกเราเป็นคนสบาย ๆ เป็นมิตร ใจดี ยกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องของอาหารข้างทาง ผมก็ชอบ ผมรู้สึกว่าไม่มีใครนั่งทำกับข้าวริมทางแล้วอร่อยเท่าประเทศไทยอีกแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สะอาด ให้เป็นระเบียบ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าประเทศไทยต้องเหมือนสิงคโปร์ เพราะเราสามารถปรับภายใต้บริบทและคุณลักษณะของเราได้ เพื่อให้ดีและเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย

จริง ๆ แล้ว พลวัตของการเปลี่ยนแปลง มันเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ มารวมกัน ซึ่งถ้าเราคิดใหญ่ เปลี่ยนแบบตู้มเดียว เราก็ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่จะทำแบบนั้นได้ทันทีและดี ในความเป็นมนุษย์ เรามีธรรมชาติซึ่งควบคุมยาก คุณต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน แล้วมันจะขยายเอง บางคนบอกว่าเราเป็นมนุษย์ เราต้องใช้เหตุผล แต่ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ผมชอบมากเลย เขาเขียนว่า 90% ของมนุษย์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะตัดสินใจทำอะไรจากอารมณ์ แล้วค่อยหาเหตุผลมาเพื่อรองรับ ซึ่งจริงมาก ไม่มีหรอกเหตุผลที่ดี มีแค่เหตุผลที่เราอยากจะฟังหรือชอบเท่านั้น”

เพราะรักจักเปลี่ยนได้

“ผมรู้สึกว่าคนทุกวันนี้ไม่ค่อยกลัวการทำผิด คือเวลาเราอยากจะรับอะไร เราจะไม่มองเรื่องการให้ ซึ่งท้ายที่สุด ธรรมชาติก็จะจัดสรรให้เองว่า สิ่งที่คุณทำจะส่งผลอะไร เช่น น้ำท่วม โลกร้อน ที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์เหล่านั้น ทุกวันนี้เราก็ยังใช้พลาสติกกันอยู่เลย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้ง การจะเริ่มต้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ช่วยสังคม หรือดูแลธรรมชาติ จุดเริ่มอยู่ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตแบบนี้แหละ อย่างที่บอก เราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนอะไรใหญ่โต ไม่ต้องบังคับ เราต้องรู้สึกก่อนว่าเรารักโลกใบนี้ เรารักประเทศนี้ เราจะทำให้บ้านเราสวย ต้นไม้เติบโต สังคมดี เราก็ต้องดูแลอย่างนี้ ๆ ให้ตลอด แต่ไม่มีทางที่ถ้าคุณไม่ดูแล แล้วผลจะออกมาดี สิ่งสำคัญคือทัศนคติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสอน เราสอนคนให้มีความรู้ ให้เก่ง แต่ในความเป็นจริง เราไม่ค่อยสอนกันว่า เราควรจะมองโลกอย่างไร ในความคิดผม เราสามารถปลูกฝังเด็ก ๆ คนในสังคม หรือแม้แต่ตัวเราได้ แน่นอนว่าการทำอะไรแบบนี้ให้สำเร็จก็ต้องอาศัยเวลาด้วย คุณต้องใจเย็น ต้องเสียสละ ต้องไม่ท้อ และสม่ำเสมอ ตัวอย่างง่าย ๆ ตอนเด็ก ๆ ผมนั่งรถเมล์ไปประตูน้ำเป็นประจำ เห็นคนสูบบุหรี่ แล้วทิ้งนอกรถ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากในยุคนั้น ไม่มีใครว่า แต่คุณมาดูปัจจุบันนี้สิ มีน้อยมาก เพราะว่าคนทำจะถูกสังคมต่อว่า เขาจะรู้สึกผิดแบบอัตโนมัติ หรือประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่สกปรกติดอันดับโลก แต่ปัจจุบันนี้เราดีขึ้น เพราะว่าเราเริ่มมีการแยกขยะ นั่นแหละคือการเริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้นที่เราปรับและใช้เวลา”

คุณค่าชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเอง แต่คือการเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

“ความสุขของผมก็คือว่า ถ้าเมื่อไหร่เราตื่นมาแล้วยังมีค่ากับใครบางคนอยู่ ผมว่านั่นเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว ตื่นมามีลูกค้าอยากให้เราทำงานอยู่ มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอยู่ ผมไม่ได้คิดใหญ่หรือว่าอะไร แค่นี้ก็แสดงว่าเรายังมีประโยชน์กับสิ่งอื่น ๆ แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว แล้วความสุขของผมอีกอย่างคือมีเพื่อนร่วมงานและลูกน้องที่เราดูแลเขาได้ ผมไม่ได้คิดใหญ่หรือว่าอยากเปลี่ยนอะไร ไม่ว่าจะมีปัญหาก็มีความสุข เพราะปัญหาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตไม่มีปัญหา ไม่ใช่ชีวิตครับ ผมมองว่าชีวิตต้องมีปัญหาสิ อย่าไปหนี แล้วสนุกไปกับมันครับ”

ภาพ: Saran Sangnampetch, www.junsekino.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles