Alfa Omega School ในอินโดนีเซีย ใช้ช่างฝีมือและวัสดุในท้องถิ่น สร้างเสร็จภายใน 4 เดือน

ในขณะที่เทคโนโลยีการก่อสร้างยุคนี้ได้ล้ำหน้าไปมากเกินจินตนาการ จากสิ่งที่เคยเชื่อว่าสร้างไม่ได้ในชั่วคนนี้ กลับมาสามารถเป็นความจริงได้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมกับเงินทุนที่พร้อมจะทุ่มลงไปกับความก้าวหน้านี้ แต่ในอีกหลายมุมโลกที่ไม่มีความพร้อมเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว แนวทางการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยการใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นยังคงสำคัญอยู่

หากสนใจแนวทางการใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นแบบอุษาคเนย์ ที่แม้จะไม่เนี้ยบจัดแต่ก็เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของช่างฝีมือ ขอให้มารู้จักกับโรงเรียนอัลฟ่าโอเมก้า (Alfa Omega School) ออกแบบโดยสำนักสถาปนิกอินโดนีเซีย RAW Architecture โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่เมืองทังเกอรัง จังหวัดบันเติน ประเทศอินโดนีเซีย โดยรองรับนักเรียนกว่า 300 คน จากระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย

เนื่องจากที่ตั้งอยู่ในประเทศเขตร้อนชื้นแบบบ้านเรา การออกแบบจึงเน้นไปที่การระบายความร้อนแบบธรรมชาติ ทั้งออกแบบให้ผนังโปร่งจากระแนงไผ่ อิฐเว้นช่อง ทำให้ระบายลมได้ดี พื้นที่ภายในเป็นเพดานสูงเพื่อให้อากาศร้อนอยู่ด้านบนเหนือส่วนใช้สอยภายใน และยังออกแบบให้ชายคาเอียงระเบียงกดต่ำจนบังแสงแดดเข้ามายังภายในอาคารน้อยที่สุด อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงที่ตั้ง มีลักษณะเป็นที่นาเก่า เป็นที่ดินน้ำท่วมถึง ทำให้ต้องออกแบบอาคารในพื้นที่โคลน การแก้ปัญหาที่เรียบง่าย เหมาะสมแบบอุษาคเนย์คือการยกเสาลอย ทำให้หลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม ทำให้สถาปัตยกรรมแตะแผ่นดินอย่างเบาบางที่สุด และยังทำให้เส้นรอบรูปมาก ช่วยในการระบายอากาศ ลดความชื้นจากดินที่จะเข้ามายังอาคาร

วัสดุที่ดูเป็นพระเอกคือไผ่ อิฐ โดยมีพระรองเป็นเหล็กและคอนกรีต เนื่องจากต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาในการก่อสร้าง วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ให้ช่างท้องถิ่นสามารถก่อสร้างได้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากภายนอกมาก แรงงานในงานนี้จึงเน้นการจ้างช่างฝีมือท้องถิ่นที่หลากหลายแทนที่จะจ้างช่างภายนอก งานฝีมือท้องถิ่นคือคำตอบของโจทย์ 3 ข้อคือ: 1) ทรัพยากรที่เหมาะสม สามารถพบได้ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร 2) ข้อจำกัดด้านเวลาในการก่อสร้าง 3) กำลังคน ความรวดเร็วในการก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกคำนึงในโครงการนี้ โครงสร้างหลังคาเป็นโครงสร้างเบาโดยใช้ไผ่กับโครงเหล็ก  ช่วง 2 เดือนแรกหมดไปกับโครงสร้างชั้นล่างที่เป็นคอนกรีต อิฐ ด้วยระบบการก่อสร้างนี้ทำให้โรงเรียนนี้ก่อสร้างได้ทั้งหมดในเวลาเพียง 4 เดือน

ทั้งหมดนี้สร้างจากแรงงานในท้องถิ่นทั้งสิ้น ทั้งช่างเชื่อมเหล็กจากเมืองซาเลมบารังในจังหวัดบันเติน และช่างฝีมือด้านไผ่จากเมืองสุเมดังจากจังหวัดชวาตะวันตก การเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่นทำให้ราคาค่าก่อสร้างลดลงกว่า 30%  จากโครงการทั่วไป

เงื่อนไขเหล่านี้ ได้งานออกมาแบบนี้ สนใจกันหรือไม่?

 

อ้างอิง: raw.co.idwww.archdaily.cominhabitat.com
Photography by Eric Dinardi

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles