สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองปากท้อง ตามวิถีชีวิตในแต่ละถิ่นที่ ไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น แต่มันคือการปรับสถาปัตยกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิต ตัวมันเองไม่ต้องการสถาปนิกก็ได้ แต่มันมาจากการรู้จักคิดดัดแปลงของช่างในท้องถิ่น ซึ่งเป็นช่างสมัครเล่นที่แค่ต้องการบ้านของตัวเองก็ได้ สิ่งที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพรียกหา คือสิ่งที่อยู่รอบตัวมันเอง ในบางท้องที่เป็นไม้ สำหรับประเทศมาลาวี แอฟริกาใต้ พื้นที่มากมายเต็มไปด้วยวัสดุจากทำการเกษตรอย่าง ‘ฟาง’
NUDES สำนักงานสถาปนิกจากอินเดีย ทำการออกแบบโครงการโรงเรียนสำหรับในประเทศมาลาวี ด้วยแนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมจากเนื้อหาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถพัฒนาให้ต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรมราคาถูก เหมาะกับสภาพอากาศ การใช้วัสดุของแอฟริกาได้ รูปทรงภายนอกมีแนวคิดการออกแบบจากขั้นนบันไดที่สามารถดัดแปลงให้เป็นที่นั่งสำหรับโรงละครกลางแจ้งได้ โครงสร้างขั้นบันไดเป็นโครงไม้ ออกแบบให้มีลักษณะเป็นระบบโมดูล มีรูปทรงโค้งชนเข้าหากันตรงกลาง อันเกิดจากการที่แต่ละโมดูลต่อกันแล้วมันจะเป็นโรงเรียนล้อมลานที่ภายในรูปทรงโค้งสอดการใช้สอยต่างๆ ทั้งส่วนห้องเรียน หอพัก สำนักงาน ทุกหน่วยที่วางตัวเรียงกันสามารถล้อมลานกิจกรรมกลางแจ้งเหล่านี้ให้ต่อเนื่องไปตามการใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของโรงเรียนได้ โครงสร้างบันไดไม้ออกแบบให้เป็นช่องที่มีขนาดเดียวกัน เพื่อที่จะใส่ก้อนฟางเข้าไป ให้กลายเป็นผนังที่สามารถระบายอากาศได้ พร้อมไปกับที่เป็นฉนวนกันความร้อนตามคุณสมบัติของฟางที่ไม่อมความร้อน ช่วยปรับอุณหภูมิน่าสบายได้ ส่วนบางพื้นที่ที่ต้องการแสง ถูกออกแบบให้เป็นช่องหน้าต่าง พร้อมไปกับการรับแสงจากช่องแสงด้านบนอีกทาง
หน้าที่ของสถาปัตยกรรมคือการยกระดับชีวิตผู้คนให้มีชีวิตดีขึ้น อีกแนวทางคือการคิดถึงสิ่งแวดล้อม วิธีการแสนง่ายคือคิดถึงสถาปัตยกรรมที่งอกงามจากเนื้อหาของแต่ละถิ่นที่ มากกว่าจะนำเข้าเทคโนโลยีจากภายนอกเสมอไป
อ้างอิง: www.nudeoffices.com, www.designboom.com