โรงเรียนอนุบาลเจียงซู เป่ยชา พื้นที่แห่งจินตนาการและการเรียนรู้

ความเฉพาะเจาะจงของสถาปัตยกรรมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้มีความแตกต่างจากงานสำหรับผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัดในประเด็นพื้นที่แห่งจินตนาการ สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้จากสีสัน ขนาด สัดส่วน แต่การตีความพื้นที่สำหรับเด็กไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว มันสามารถออกแบบได้หลากหลายวิธี และที่สำคัญ คือการทำความเข้าใจประเด็นของเด็กในแต่ละวัฒนธรรมอีกเช่นกัน

ณ หมู่บ้านเป่ยชา มณฑลเจียงซู ประเทศจีน ปรากฏเหล่าก้อนอาคารสีเทาขาวตั้งอยู่ในเขตชนบท บนพื้นที่ไร่นาของหมู่บ้าน แม้จะดูด้วยสายตาจากระยะไกลจะคล้ายกับเป็นหมู่บ้านขนาดย่อม แต่มันคือโรงเรียนสำหรับเด็ก คือโรงเรียนอนุบาลเจียงซู เป่ยชา ที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีรูปแบบคล้ายหมู่บ้านขนาดเล็กในระดับบ้านประจำตระกูลแบบวัฒนธรรมจีนที่นิยมปลูกให้บ้านแต่ละหลังล้อมกับคอร์ตกลาๆง

สถาปนิกที่รับหน้าที่ออกแบบงานนี้คือ Crossboundaries พวกเขาเริ่มงานในปี 2015 ด้วยแนวคิดของการสร้างพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ แต่อิงกับภาษาของพื้นถิ่นแบบจีนเข้าด้วยด้วยกัน การวางผังอาคารเป็นลักษณะการวางแบบเป็นกลุ่ม แบบบ้านล้อมลาน เมื่อเข้ามายังโรงเรียนนี้ เด็กๆ จะพบกับก้อนอาคารที่มีความสูง 1-2 ชั้นตามการใช้สอย เมื่อเด็กเข้ามาทำการสำรวจยังพื้นที่กึ่งภายนอก-ภายในของโรงเรียน จะพบกับคอร์ตพร้อมต้นไม้อยู่กลางลาน สำหรับทำกิจกรรมหลากหลายกลางแจ้ง การวางผังแบบให้ค้นหาลานกลางนี้ เพื่อ ให้เด็กได้เรียนรู้สู่ดินแดนใหม่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น สร้างความสงสัยต่อสิ่งที่อยู่หน้า รวมไปถึงการใช้ลานที่หลังคาคอนกรีตชั้น 2 เมื่อเด็กเข้ามาใช้ จะพบกับหลังคาลาดเอียงที่แปลกตากว่ารูปแบบหลังทั่วไป ทำให้การเข้ามาใช้ยังพื้นชั้น 2 ชวนให้ร่วมสำรวจสถาปัตยกรรม ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก

เมื่อมองจากภายนอก รูปทรงดูแตกต่างจากอาคารประเภทสถาบันโดยทั่วไป ที่ดูขึงขังจริงจัง จนสร้างความเกร็งกับผู้เข้าใช้อาคาร สำหรับโรงเรียนนี้ รูปทรงภายนอกถูกลดความเป็นทางการลงด้วยความไม่สม่ำเสมอ ไม่ต้องวางอาคารให้แลดูนิ่ง ด้วยความสมดุล เปลือกอาคารถูกประกอบขึ้นมาใหม่จากอิฐใช้แล้ว สลับกับผนังฉาบเรียบ ทำให้ดูเป็นมิตรกว่าผนังเรียบมัน สำหรับผิวอาคารที่มีลักษณะขรุขระ ทำให้แลใกล้ชิดกับผู้คนได้ง่ายกว่าด้วย การใช้แสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพ้นที่ภายในเป็นสิ่งสำคัญ ช่องแสงขนาดใหญ่สูงจรดฝ้า ช่องแสงจากหลังคา มันช่วยให้พื้นที่ภายในมีแสงสว่างที่เพียงพอ พร้อมกับสร้างชีวิตชีวากับเด็ก แม้ว่าจะอยู่ภายใน แต่สามารถรับรู้ธรรมชาติได้ทั้งวัน

สำหรับเรื่องเล่นของเด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราควรจริงจัง เพื่อทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าในอนาคต

อ้างอิง: crossboundaries.com, www.archdaily.comwww.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles