ศูนย์ชุมชนสำหรับเด็กในฟุคุชิมะเพื่อการพัฒนาเด็ก ออกแบบโดยสถาปนิกอาสา

ในขณะที่โลกเสรีขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม สถาปัตยกรรมเองก็เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนด้วยเงินทุนจากสังคมนั้นๆ หลายครั้งจุดมุ่งหมายของสถาปัตยกรรมไม่ได้ถูกรับใช้ให้กับผู้คนจำนวนมาก แต่กลายเป็นพูดถึงเรื่องความคุ้มทุนเสียมากกว่า แล้วสถาปัตยกรรมจะรับใช้ชุมชน มากกว่าคนกลุ่มเดียวได้อย่างไร?

คำถามนี้จะลองให้สถาปนิกอย่าง Shigeru Ban ตอบด้วยการออกแบบศูนย์ชุมชนสำหรับเด็กฟุคุชิมะ งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการบรรเทาภัยพิบัติด้วยเครือข่ายสถาปนิกอาสา อาคารหลังนี้สนับสนุนโดย LVMH หรือ Louis Vuitton and Moët Hennessy Group เพื่อสนับสนุนให้งานนี้รับใช้เหล่าเด็กที่เมืองโซมะ จังหวัดฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

พื้นที่ภายในรองรับกิจกรรมสำหรับการพัฒนาของเด็กในชุมชน ทั้งห้องสมุดที่ออกแบบเป็นชั้นครึ่ง ส่วนอ่านหนังสือที่ภายในประกอบด้วยแปลงผักแนวดิ่งไปตลอดผนัง พื้นที่กึ่งภายนอกภายในตรงทางเดินรอบคอร์ตกลางเป็นส่วนอเนกประสงค์ รวมถึงร่มเงาที่จะเกิดขึ้นจากต้นไม้ตรงกลางด้วยเช่นกัน

นอกจากกิจกรรมที่ถูกออกแบบให้รองรับกับชุมชนแล้ว ยังมีการคำนึงถึงการใช้พลังงานสะอาด พร้อมกับลดการใช้พลังงานด้วยเช่นกัน หลังคาเอียงเชิดขึ้นไปยังภายนอกอาคาร เอียงลาดลงไปยังคอร์ตตรงกลาง หลังคาเป็นแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อส่งไฟมาใช้ยังอาคาร ผนังโปร่งแสงวางไว้ด้านทิศเหนือเพื่อรับแสง ด้านทิศใต้วางชั้นหนังสือเพื่อป้องกันแสงเข้ามายังภายในมากเกินไป โครงสร้างบางส่วนเป็นท่อกระดาษที่ดูจะเป็นลายเซนของ Ban รวมไปถึงการตกแต่งภายในใช้เฟอร์นิเจอร์กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกแบบโดยสถาปนิกเอง

เมื่อเริ่มต้นคิดจะสร้างสถาปัตยกรรมให้ชุมชนในโลกปัจจุบัน การหาโจทย์ให้ชัดเจนว่าควรสร้างอะไรนั้นสำคัญเช่นกัน

อ้างอิง: inhabitatShigeru Ban Architects

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles