Microlibrary Warak Kayu ห้องสมุดขนาดเล็กต้นทุนต่ำในเมืองเซอมารัง อินโดนีเซีย

ในภูมิภาคแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ส่งผลให้สภาพอากาศเป็นลักษณะร้อนชื้น แดดจัด ฝนตกชุก สถาปัตยกรรมในแถบนี้จึงมีการปรับตัวให้รับมือได้กับความร้อนจากแสงแดด พร้อมกับฝนที่ตกจำนวนมาก ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่าไร ยิ่งฝนตกหนัก จนมีคำกล่าวที่ว่า ‘ฝนแปดแดดสี่’ กันเลยทีเดียว แม้รูปลักษณ์สถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาผสมจนกลมกลืน แต่ความผสมผสานเหล่านี้คือสเน่ห์เฉพาะตัว ดังเช่นการผสมกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีที่มาจากตะวันตกมาพลอดรักกับพื้นถิ่นอุษาคเนย์จึงเกิดสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘tropical modern architecture’

การแปลความของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในแบบนี้ พบได้หลากรูปแบบตามวัสดุ ช่างฝีมือของแต่ละท้องถิ่น อย่างที่เกาะชวา เมืองเซอมารัง ประเทศอินโดนีเซีย กำเนิดโครงการ Microlibrary Warak Kayu ห้องสมุดขนาดเล็กในชุมชน เป็นโครงการห้องสมุดชุมชนลำดับที่ 5 อันเกิดจากร่วมมือระหว่างองค์กรการกุศล Arkatama Isvara และรัฐบาลท้องถิ่น ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซอมารัง ในโซนลานกลางเมือง สถาปนิก SHAU Indonesia ได้หยิบจับเอารูปแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอุษาคเนย์มาทำให้มีชีวิตชีวาร่วมสมัย ด้วยการหยิบฉวยเอาเรือนพื้นถิ่นที่เรียกในภาษาอินโดนีเซียว่า ‘rumah panggung’ ซึ่งมันก็คือเรือนยกสูง วางเรือนบนเสาลอย แบบที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แบบเรือนไทย 4 ภาค ที่ยกสูงมากน้อยตามสภาพน้ำท่วมแต่ละถิ่นที่) โดยเป็นการปรับรูปแบบตามสภาพอากาศ มันทำให้ลดความชื้นจากผืนดิน พร้อมไปกับการเพิ่มพื้นผิวภายนอกให้รับลมเพิ่มมากขึ้น ผลลัพท์ที่ได้คือร่มเงาจากพื้นชั้นล่าง หรือใต้ถุนนั้นเอง หากมองดูจากรูปด้านนอกจะพบว่าจะมีการออกแบบให้หลบแดดจากด้านบนเสมอ หลังคาออกแบบให้ยื่นยาวคลุมผนังโดยรอบชั้น 2  พื้นชั้น 2 จะยื่นมาปกคลุมชั้น 1 ทำให้พื้นที่ภายในถูกบังแดดเต็มที่

สถาปนิกออกแบบให้พื้นที่ชั้นใต้ถุนมีลักษณะโปร่งโล่ง รองรับการใช้งานเอนกประสงค์ ทั้งกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ของชุมชน หรือกลายเป็นสนามเด็กเล่นในร่มก็ได้ มีการออกแบบติดชิงช้าไว้กับรับพื้นชั้น 2 ทำให้เป็นพื้นที่เล่นของผู้คนทั่วไป พื้นที่หน้าบันไดทางขึ้นชั้น 2 มีพื้นที่เว้นไว้กว่า 6 เมตร ทำให้เชื่อมโยงกับบันไดที่มีการออกแบบพิเศษให้สามารถกลายเป็นที่นั่งชมในเวลาเดียวกัน จากการที่แทรกอัฒจันทร์ข้างบันไดทำให้พื้นที่ชั้นล่างมีความยืดหยุ่นต่อหลายกิจกรรม ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนห้องสมุดให้นั่งอ่านกันแบบอิสระ สามาถหยิบหนังสือมานั่งอ่านกับพื้น นอนอ่านบนตาข่ายทะลุไปชั้นล่าง หรือมาอ่านตรงบันไดทางลงไปชั้น 1 ก็ได้

นอกจากการบังแดดด้วยการยื่นหลังคาแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบแผงบังแดดไบรโซเล่ (Brise Soleil) ให้มีลวดลายพิเศษล้อไปกับตำนานท้องถิ่นเรื่องมังกร ‘Warak Ngendog’ ที่เป็นไอคอนของเมืองเซอมารัง ไบรโซเล่จึงมีรูปแบบสะดุดตาจากที่ปรกติจะถูกออกแบบให้เป็นแนวตั้งแนวนอน แต่งานนี้มันกลายเป็นแนวทะแยง แลคล้ายเกล็ดมังกรบังแดดได้ ดังนั้นชื่อ Warak Kayu คือการผสมของ 2 คำคือ Warak ย่อมาจากชื่อมังกร Kayu คือไม้ รวมกันแล้วมันก็คือห้องสมุดมังกรไม้นั้นเอง

จะเห็นได้ว่าการคัดเลือกวัสดุที่มาใช้คือไม้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม้ที่นำมาใช้คือไม้อัดที่ราคาถูก ราคาไม่แพงในส่วนแผงบังแดด พื้น ผนัง และไม้ที่ทำโครงสร้างทั้งเสา คาน ก็เป็นไม้ลามิเนต ล้วนเกิดจากการนำไม้ชิ้นเล็กมาทำการประกบจนเป็นไม้ท่อนขนาดใหญ่จนเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักได้  ไม้เหล่านี้มาจากป่าปลูกของอินโดนีเซียที่มีการควบคุมเป็นอย่างดี ให้รบกวนระบบนิเวศน์น้อยที่สุด

ได้ทั้งความหมายของท้องถิ่น และยังรักษ์ถิ่นฐานให้กับโลกไปพร้อมกัน

แปลและเรียบเรียงจาก: www.shau.nl
ที่มา:www.archello.comwww.archdaily.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles