Markham College Lower School โรงเรียนวิถีใหม่ในเปรูภายใต้เงื่อนไขการระบาดของโควิด-19

จากการระบาดหนักของ COVID-19 ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขนส่ง การบริโภค การทำงานที่เน้นระยะไกล จนประเด็น Work From Home เป็นเรื่องที่ชินชา แม้ว่าจะตั้งอยู่บนความยากลำบากก็ตาม ในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของการออกแบบสถาปัตยกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ที่เราจะพบได้ตามชีวิตประจำวันคือการดัดแปลงการใช้งานเดิมให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ได้จากสารคัดหลั่งสู่อากาศ มันจึงกลายเป็นการปรับปรุงพื้นที่ให้มีระยะห่างที่ลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ หรือการเพิ่มที่กั้นทั้งที่เป็นแผ่นพลาสติก แผ่นอะครีลิค ระหว่างบุคคลในสถานที่ต่างๆ ให้การฟุ้งกระจายผ่านสารคัดหลั่ง น้ำลาย ลดลง

แต่ในเงื่อนไขเหล่านั้นคือการดัดแปลงของเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ถ้าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่ภายใต้เงื่อนไขของการระบาดจาก COVID-19 คำถามที่มีคือมันสามารถกลายเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบไหน อย่างไรได้บ้าง

คำตอบนี้ถูกตอบออกมาเป็น Markham College Lower School กรุงลิมา ประเทศเปรู โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้งานในช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยเป็นการออกแบบร่วมกันของ 2 สำนักงานสถาปนิก Rosan Bosch Studio จากเดนมาร์ค และ IDOM จากสเปน โปรแกรมของงานนี้รองรับกิจกรรม สระว่ายน้ำ โรงยิม ห้องดนตรี ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ โรงอาหาร โรงละคร พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ และสตูดิโอศิลปะ ในพื้นที่ขนาด 10,000 ตารางเมตร สามารถรองรับนักเรียน 750 คน ตั้งแต่อายุ 6-12 ปี

แนวคิดในการออกแบบคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าโรงเรียนรูปแบบเดิม มีการลดความเชื่อมโยงจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีความวุ่นวายด้วยการใช้ระเบียง ที่เป็นสวนแนวตั้งไปพร้อมกัน ได้ทั้งลดความร้อนเข้าสู่อาคาร และสร้างบรรยากาศภายในที่ดี โรงเรียนนี้ถูกออกแบบให้มีพื้นที่แต่ละส่วนมีหน่วยขนาดเล็กขึ้น สามารถปรับขนาดได้ด้วยฉากกั้น ผนังที่เลื่อนไปมาได้ ทำให้พื้นที่ขนาดใหญ่ก็ปรับเล็กลงตามการใช้งานที่เปลี่ยนไป แต่เชื่อมโยงกันไปทั้งโรงเรียน พร้อมกับการนำธรรมชาติเข้ามาในอาคาร พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้ระบายอากาศสะอาดโดยไม่ต้องหมุนเวียนแบบมีช่องทางลมเข้าและออกจากช่องลมที่เหมาะสม ลดการใช้การระบายด้วยเครื่องกลตามคำแนะนำล่าสุดของการป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 กลวิธีนี้มาพร้อมกับการเน้นการใช้พื้นที่กลางแจ้งผสมไปกับพื้นที่ภายใน จากสภาพภูมิอากาศเกือบทั้งปีของกรุงลิมา ทำให้เอื้อต่อการใช้พื้นที่กลางแจ้งพร้อมร่มเงา สวนแนวตั้ง ลานภายในที่มีลักษณะโล่งเชื่อมโยงกับลานภายนอก เมื่อออกแบบให้ภายในโรงเรียนน่าใช้งาน การจัดภูมิทัศน์ใช้แรงบันดาลใจจากแม่น้ำท้องถิ่นในเปรู Río Hablador จำลองความคดเคี้ยวลื่นไหลไปทั่วโรงเรียน ส่งผลให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก เราจึงเห็นงานมีสนามต่างๆ กระจายไปทั่วโรงเรียนจนถึงดาดฟ้า

แนวคิดเรื่องการใช้วัสดุเป็นสิ่งที่สถาปนิกคำนึงถึงอย่างมาก ทั้งเลือกใข้วัสดุที่ทนทาน สามารถทนต่อการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อทุกวัน และยังพัฒนาแบบให้ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยหวังว่าให้ทำลายโลกน้อยที่สุด

แปลและเรียบเรียงจาก: rosanbosch.com
ที่มา: www.dezeen.comwww.e-architect.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles