ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม นักพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนกับแนวคิด ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน

อาจารย์แก้ว หรือ ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม เป็นอาจารย์ประจำสาขาการจัดการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากหน้าที่หลักอย่างการเป็นอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท รวมทั้งงานในส่วนการวิจัยของตัวเองแล้ว ในงานบริการวิชาการ บทบาทที่มาพร้อมตำแหน่งอาจารย์ของเธอนั้นยังถือเป็นพาร์ทสำคัญในชีวิตที่เปิดโอกาสให้ตัวเธอได้ค้นพบความชอบและศักยภาพของตัวเองในฐานะที่ปรึกษาโครงการพัฒนาชุมชนหลายๆ แห่งในบ้านเรา ทั้งการชุบชีวิตย่านตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ในจังหวัดชัยนาท จนได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ใน 100 แห่งของโลกจาก Green Destinations Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปจนถึงโครงการส่วนตัวอย่างบ้านตาแก่ ที่เธอและครอบครัวพลิกฟื้นบ้านโบราณร้อยปีให้กลับมามีชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและส่งต่อคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน งานที่เธอใช้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาใช้เป็นแก่นในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีประโยชน์สุขของผู้คนและชุมชนเป็นที่ตั้ง 

ในวันที่อาจารย์แก้วกลับจากการลงพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี เพื่อทำแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี เราเลยรีบยกหูชวนเธอมาพูดคุยถึงเรื่องราวการทำงานเพื่อชุมชนที่ต้องฝ่าด่านอรหันต์มามากมาย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้งชุมชน ผู้คน ตลอดจนความคิดและหัวใจของเธอเอง    

งานบันดาลสุข ชุมชนบันดาลใจ

อาจารย์แก้วเรียนมาในสายนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เมื่อเรียนจบ เธอเริ่มต้นจากงานออแกไนเซอร์ ตามมาด้วยการทำทัวร์ จนค้นพบว่าตัวเองหลงใหลและรู้สึกมีแรงบันดาลใจกับการท่องเที่ยว นั่นเลยกลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ของเด็กจบใหม่อย่างเธอว่ามีอาชีพไหนที่ทำให้สามารถไปในทิศทางนั้นได้บ้าง หลังจากทำงานได้ราวๆ 2 ปี อาจารย์แก้วตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ The School of Events, Tourism & Hospitality Management  ที่ Leeds Beckett University ในอังกฤษ มีโอกาสได้ทำงานในโรงแรมในพื้นที่ ได้เลื่อนขั้นให้เป็น Supervisor ดูแลห้องอาหารภายในโรงแรมและได้รับข้อเสนอให้ทำงานต่อ แต่เพราะเธอรู้สึกว่าที่นั่นไม่ใช่บ้าน เธอไปเรียนด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมาก คือการนำความรู้และประสบการณ์กลับมาทำประโยชน์ พอเรียนจบ เธอจึงตัดสินใจกลับบ้าน

“ตอนที่กลับมาแรกๆ เราประเมินตัวเองจากสิ่งที่เรียนและประสบการณ์การทำงาน น่าจะสมัครไปเป็น Assistant Manager ได้นะ แต่เวลานั้นเรายังไม่รู้ว่างานโรงแรมที่เมืองไทยการแข่งขันสูงมาก สมัครงานไปแล้วก็ไม่ได้งาน รู้สึกเฟลเลยล่ะ แต่เราดึงตัวเองกลับมาได้ตอนกลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร คำตอบที่ได้คือเราชอบพูด ชอบคุย ชอบแชร์มาตั้งแต่เด็กนี่นา เวลาเดียวกันนั้น ทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสาขาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งตรงกับสาขาที่เราจบปริญญาโทมา เลยลองไปสมัครดู แต่ตำแหน่งแรกที่สมัครไปคือ Adminstrative Staff เพราะไม่เคยคิดว่าโปรไฟล์ตัวเองจะไปถึงตำแหน่งอาจารย์ได้ แต่เผอิญว่าเวลานั้นทางมหาวิทยาลัยขาดอาจารย์พอดี เราจึงมีโอกาสได้ทำ teaching demo จนกระทั่งได้เข้ามาเป็นอาจารย์จนถึงปัจจุบัน 

“ส่วนการทำงานกับชุมชน เราน่าจะซึบซับจากคุณแม่ เพราะคุณแม่ทำงานที่กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นวิทยากรที่จะลงชุมชนเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร แล้วท่านเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง และมักจะหาเทคนิคที่เข้าใจง่ายเพื่อเข้าสอนเกษตรกรเสมอ พอเราได้เห็นแม่ทำงานแบบนั้นก็รู้สึกว่าแม่เราเท่จังเลย จนมาเป็นอาจารย์ ด้วยหนึ่งในสามบทบาทหลักอย่างงานบริการวิชาการ ทำให้เรามีโอกาสได้ก้าวสู่การทำงานกับชุมชนและสังคมอย่างจริงจัง ทำงานในฐานะที่ปรึกษา จนถึงตอนนี้น่าจะเกิน 10 ปีแล้ว เริ่มจากการทำแผนยุทธศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวให้กับกรมการท่องเที่ยว ซึ่งตอนที่ทำเรื่องยุทธศาสตร์ของแหล่งท่องเที่ยวยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องท่องเที่ยวยั่งยืนมากนัก พอได้ไปเรียนปริญญาเอกที่ School of Hotel and Tourism Management มหาวิทยาลัย Hong Kong Polytechnic University ในสาขา Tourism and Hotel Management ยิ่งจุดไฟในตัวให้เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศอะไรแบบนั้นเลย จากนั้นโอกาสต่างๆ ที่ทำให้เราได้สานต่องานเหล่านี้ก็เริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”

ชุบชีวิตย่านโบราณสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบ

“จุดเริ่มต้นของการทำชุมชนท่องเที่ยวสรรพยา ต้องย้อนไปเมื่อปี 2561 ตอนนั้นพื้นที่โรงพักตรงนั้นยังถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่เลย งานนี้เกิดจากแรงบันดาลใจของท่านนายก และท่านปลัดฯ เทศบาลของสรรพยา ซึ่งเขารู้ว่าพื้นที่ของพวกเขามีของดีและอยากทำสรรพยาศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับการสอนนักเรียนในพื้นที่ให้รู้จักบ้านเกิดของตัวเอง แต่ทั้ง 2 ท่านยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หน้าที่ของเราจึงเป็นการไปสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนที่เป็นผู้นำและเทศบาลซึ่งอยากให้ชุมชนเกิดแรงบันดาลใจในการทำแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงช่วยวางแผนเรื่องของการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เป็นระบบ เพราะเขาค้นพบว่าบ้านเขาดูไม่มีสีสัน แต่ยังคงมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพียงแต่ยังไม่มีใครจุดประกาย หลังจากนั้น เราจึงเริ่มทำเวิร์กช็อป มานั่งคุยกับทางเทศบาลว่างานนี้เราทำคนเดียวไม่ได้นะ แต่จะต้องเรียกชุมชนและจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อที่จะทำเรื่องการท่องเที่ยวด้วยกัน จะต้องทำให้คนพื้นที่เห็นพ้องต้องกันด้วย เราจึงต้องลงพื้นที่ทุกเดือนในช่วงแรกๆ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นว่าเรามาช่วยสนับสนุนจริงๆ วัตถุประสงค์ในการทำงานครั้งนั้น เราเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำเรื่องท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนบอกว่าพวกเขาอยากให้ลูกหลานกลับบ้าน แค่เดือนละครั้งก็ยังดี นั่นเลยทำให้เกิดตลาดกรีนดีขึ้นมา โดยมีการบริหารจัดการโดยชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรรพยา มีสมาชิกหลักๆ จากหลายภาคส่วนทั้งคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ใช้กระบวนการอย่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางการจัดการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมเป็นสำคัญ”

แต่เดิม ย่านตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ในอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและเข้มแข็ง ก่อนจะซบเซาไปตามกาลเวลา กระทั่งชาวเทศบาลตำบลสรรพยาและชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยาตั้งใจที่จะฟื้นฟูย่านเก่าแก่ดังกล่าวให้เป็นตลาดที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนและเกิดความยั่งยืน จึงเกิดเป็นแนวคิดการฟื้นโรงพักเก่าสรรพยาที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วให้กลายเป็นตลาดกลางคืนภายใต้แนวคิด ‘ตลาดกรีนดี’ (Green Market) ที่จะงดใช้โฟมและพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขึ้น ในทุกสุดสัปดาห์แรกของเดือน ระหว่างเวลา 3 โมงเย็นถึงราว 2 ทุ่ม ชุมชนจะเปิดตลาดแห่งนี้ พร้อมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาหารและขนมโบราณ กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และการจำลองบรรยากาศของตลาดโบราณที่แสนอบอุ่นของคนสมัยก่อนเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน

“ช่วงนั้นการทำตลาดกรีนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ช่วงแรกจึงจะยากสักหน่อยในการทำให้ชุมชนปราศจากพลาสติก โฟม หรืออะไรก็ตามที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทุกคนจึงต้องถูกให้ความรู้พร้อมกัน ตอนนี้เราทำมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดตลาดสรรพยาให้เป็นเขตปลอดโฟม 100% โดยชาวบ้านเลือกวัสดุธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้มาใช้เป็นบรรจุอาหาร เช่น กระบอกไม้ไผ่  กะลา ใบตอง ไปจนถึงน้ำขวดพลาสติกที่เราต้องรู้ว่าสุดท้ายแล้วขวดเหล่านี้จะไปไหน  

“วันนี้เราดีใจมากที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือการจัดการขยะ อย่างช่วงที่มีงานอัฏฐมีบูชารำลึก ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดและจะมีขยะเยอะมากจากกิจกรรมที่เกิดขึ้น เรียกว่า 500 ตันต้องมีแน่นอน แต่เราพบว่าหลังจากที่ทำตลาดกรีนดี ซึ่งเรามีโอกาสได้ให้ความรู้คนว่าจริงๆ แล้วเรามีตัวเลือกของการใช้บรรจุภัณฑ์ได้นะ จนสุดท้ายงานจบ เราพบว่าปริมาณขยะลดลงแบบเห็นผลชัดเจน ปีที่ผ่านมา เราเลยส่งตลาดสรรพยาเข้าประกวด จนติดเป็น Top 100 ของ Destination Sustainability Stories 2022 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนใน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 ซึ่งจะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้จากองค์กร Green Destinations Foundation ของเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับเกาะหมาก จังหวัดตราด และบ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือการพบการเปลี่ยนแปลงจากคนในชุมชน เราจำได้ดีเลยที่ ป้าลั้ง (เง็กลั้ง จันทรวรรณกูร) ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนวัย 83 ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ เพราะอยากจะมาให้ทุนหลังจากตลาดได้รับรางวัล สิ่งที่ป้าลั้งตอบกลับไปคือ ‘คุณรู้ไหมกว่าเราจะเป็นตลาดกรีนได้ เราใช้เวลามาขนาดไหน คุณจะมาสั่งให้ฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ฉันต้องกลับไปคุยกับคณะกรรมการและชุมชนของฉันก่อน คุณควรจะเข้าใจว่ากรีนคืออะไร’ เมื่อก่อนเราเห็นคุณป้าฟังเรามาเรื่อยๆ มีแสดงออกบ้าง แต่ไม่เคยรู้ว่าท่านอินกับเรื่องนี้มากจนลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนบ้านเกิดของท่าน นั่นคือความดีใจ ประทับใจ และเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เราอยากจะทำโครงการอื่นๆ ต่อไป”

         

ปัดฝุ่นบ้านร้อยปีเล่าวิถีคนริมคลอง

ในอดีต บ้านไม้สักชั้นเดียวยกพื้นสูงของ ‘ตาแก่ – เสวก จันทรกรณ์’ คือบ้านของคหบดีเก่าในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่คุณยายของอาจารย์แก้วซื้อเก็บไว้ก่อนจะนำขึ้นเรือขนย้ายมาปลูกไว้ ณ ริมคลองบางกอกน้อย วัดบางกร่าง จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“บ้านตาแก่เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกว่า เราไปทำโครงการมาทั่วประเทศแล้ว แต่ไม่เคยหันมามองบ้านตัวเองบ้างเลยที่มีทั้งสวน บ้านร้อยปี ทั้งฝั่งคุณพ่อที่เป็นคนอยุธยาและคุณแม่ที่เป็นคนนนทบุรี ต้องขอบคุณสถานการณ์โควิดมากเหมือนกันที่ทำให้เราเริ่มหันมามองว่า เราจะทำอะไรให้ที่บ้านตัวเองได้บ้าง บ้านตาแก่จึงเกิดขึ้นเพราะที่นั่นมีตาแก่ที่เริ่มมีอายุแล้วรู้สึกว่าอยากได้เงินสักก้อนเพื่อที่จะมาทำบ้านให้ดีขึ้น เลยมาจบตรงคำถามที่ว่า… เรามาทำอะไรร่วมกันไหม?

“เรากำหนดนิยามให้ที่นี่คือ ‘Chilling Space’ โดยนำบ้านเก่าอายุร้อยปีมาเปลี่ยนฟังก์ชั่นใช้งาน และชวนคนในบ้านของเรามาร่วมกันสานต่อและบอกเล่าเรื่องราว รวมถึงวิถีชีวิตในอดีตให้กับคนในปัจจุบันได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตของชาวคลองบางกอกน้อย อาหารจากรสมือของแม่ครัวรุ่นเก๋าที่พิพีพิถันในเรื่องวัตถุดิบและเครื่องปรุง ตลอดจนกิจกรรมทางต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับชีวิตริมน้ำแบบไทยแท้ๆ 

“แม้ในปัจจุบัน บ้านตาแก่หยุดทำการชั่วคราวด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพและอายุของลุงป้าน้าอาที่อยู่ที่นั่น เพราะเราอยากเซฟทุกคนไว้ก่อน แต่ว่าตัวโมเดลยังคงอยู่ และสิ่งหนึ่งที่เราได้ค้นพบและเรียนรู้ว่าโครงการนี้เจ๋งมาก เพราะยังมีคนโทรมาหาเพื่อถามว่า ถ้าพวกเขาอยากทำโปรเจ็กต์แบบนี้บ้างจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งเราเอ็นจอยมากกับการเล่าเรื่อง การแบ่งปันประสบการณ์ที่เราได้ลงมือทำไปแล้ว และยินดีเสมอที่สิ่งที่เราทำสามารถส่งต่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้ว่า เธอทำโครงการแบบนี้ได้นะและจะต้องเริ่มต้นจากอะไร”

ภารกิจที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“การทำงานกับชุมชน เราว่ายากตั้งแต่ทัศนคติแล้ว หมายถึงเวลาคนมองว่าเราเป็นอาจารย์แล้วมาพูด คนก็มักพร้อมที่จะเชื่อ ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องการให้คนเชื่อเราตั้งแต่แรกจากบทบาทที่เราเป็น แต่อยากให้เชื่อเพราะเราทั้ง 2 ฝ่ายช่วยกันคิดมามากกว่า ฉะนั้น ทัศนคติของการเริ่มเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน เราจึงต้องปรับตัวเองอย่างมาก ทั้งคาแร็กเตอร์เพื่อให้สามารถเข้ากับพวกเขาได้เหมือนเป็นเพื่อนกัน ต้องใช้ความมานะในการเดินทางไปบ่อยๆ ให้เขาเห็นหน้าค่าตา เห็นว่าเราจริงจังและจริงใจนะ จนกระทั่งเขารู้สึกไว้ใจ เชื่อใจ และสบายใจที่จะพูดคุยกับเราแบบเปิดอก เช่น เขาบอกเราว่า ‘อย่าไปบอกใครนะ’ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาพูดจะสัมฤทธิ์ผล แต่เขาจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร ประมาณนั้น 

“นอกจากเรื่องทัศนคติต่อการทำงานของตัวเอง เรื่องของมานะในการทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ของพื้นที่ รวมถึงความไม่แน่นอนที่อาจะเกิดขึ้นได้ระหว่างทางแล้ว เรายังต้องคอยเตือนตัวเองและคนในชุมชนในวันที่อาจเริ่มรู้สึกว่า ‘เราตัวใหญ่’ ตัวใหญ่ในที่นี้หมายถึงอีโก้ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคน เราพบความจริงว่า การที่เราไม่ต้องตัวใหญ่ เราจะไปได้ไกลกว่า เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าตัวใหญ่ปุ๊บ เราจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้วนะ หรือการพร้อมรับและหาทางออกกับความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะใจคน เป็นต้นว่า จากที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เคยสามัคคีกันอยู่ พอได้ผลประโยชน์เพราะชุมชนโตขึ้น มักจะเกิดลักษณะของเรื่องของฉัน-เรื่องของเธอ เธอได้มาก ฉันได้น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่เราไปช่วยเขาแก้ปัญหา เราต้องฟังทั้งสองฝ่าย ไม่ให้ใครรู้สึกว่าเราเอียงเอนไปข้างไหนข้างหนึ่ง เพื่อจะหาว่าเรื่องนี้มีสาเหตุจากอะไรและจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 


“นอกจากนี้ คงเป็นเรื่องความเป็นผู้นำด้วย เพราะเราปูให้พวกเขาทุกคนเป็นผู้นำทั้งหมด ไม่ได้บอกให้ใครเป็นผู้นำแค่คนเดียว เพราะการสร้างการมีส่วนร่วม หมายถึงการสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ให้ชุมชนสามารถทำงานด้วยกันได้ เป็นทั้งผู้ตามและผู้นำได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วงเวลานั้น ในฐานะของพี่เลี้ยง เราจึงต้องคอยปรับให้เขาเข้ากันได้ให้นานที่สุด เพราะว่าทุกชุมชนจะมีภาวะประมาณว่า ฉันทำของฉันเองได้แล้ว ฉันไม่จำเป็นต้องเข้ากลุ่มนี้อีกแล้ว ฉันไม่จำเป็นต้องเข้าไปในกฎนั้นอีกแล้ว ดังนั้น เราจึงต้องมีการเตรียมตัวในวันที่หากชุมชนนั้นมีชื่อเสียง ปัญหาที่ตามมาจะมีอะไรได้บ้าง เช่น ความขัดแย้ง เรื่องเงิน เรื่องความไม่โปร่งใส ทัศนคติของคนที่ทำและไม่ได้ทำ ความไม่เท่าเทียม โดยหากมีเรื่องประมาณนี้เกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่จะไม่แทรกแซงมากเกินไป เพราะถ้าเราเข้าไป จะกลายเป็นว่าอาจารย์แก้วบอกแบบนั้นแบบนี้ แต่เราจะเป็นคนตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการพูดคุยว่าจะไปในทิศทางไหน พวกเขาตัดสินใจอย่างไร แล้วเราค่อยเป็นคนช่วยเขาในการตัดสินใจโดยบอกข้อดีข้อเสียของการตัดสินใจแบบนั้นๆ แต่จะไม่ไปตัดสินใจแทนเขา ซึ่งเราต้องย้อนกลับไปที่เป้าหมายของพวกเขาก่อนว่าเขาอยากได้อะไร โดยมีตัวแผนพัฒนาเป็นกรอบในการพัฒนาร่วมกัน 

“การทำงานกับชุมชนยังทำให้เราพบว่าตัวเราเล็กมากเลยนะ และเข้าใจเลยว่าทำไมบุคลิกของ Professor Bob Mckercher ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเราตอนเรียนปริญญาเอกว่าเขาถึงอ่อนน้อมและถ่อมตนได้ขนาดนั้น เราชอบทัศนคติและการปฏิบัติตัวแบบนั้นมาก จนยึดเป็นแบบอย่างของการทำงานตลอดมา เพราะการปราศจากอีโก้ทำให้เราสามารถกลมกลืนตัวเองให้เข้ากับทั้งชุมชนและผู้คนทุกคนได้โดยที่เราจะได้เรียนรู้เรื่องนั้นได้จริงๆ แต่เมื่อไหร่เราตั้งตนเป็นคนข้างบนว่า ฉันเป็นคนมาให้ มาดูแลนะ เราจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรเลย”

เป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเรา

“มีคนเคยสงสัยเหมือนกันว่าเราได้พลังแบบเหลือล้นนี้มาจากไหน เราว่าคงเป็นคาแร็กเตอร์ที่ได้เชื้อจากครอบครัว ทั้งคุณพ่อที่เป็นทหาร คุณแม่ที่เป็นนักพัฒนาชุมชน การมีทัศนคติแบบ can do attitude เพราะชีวิตของเราตั้งแต่เรียนในทุกๆ ระดับจนมาเป็นอาจารย์ไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบแล้วเดินไปได้สบายๆ ซึ่งทัศนคติแบบนักสู้และคิดว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ คงจะเป็นมรดกตกทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่และการถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เมื่อเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคระหว่างทาง เราเลยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัว ถ้าเจอก็คิดเพียงแค่ว่า ถ้าอย่างนั้น เราลองนำสิ่งนี้มาคิดดูใหม่สิ หรือลองทำใหม่สิ ซึ่งชีวิตที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เราเห็นด้วยว่าทางออกมีมากกว่าหนึ่งนี่นา และเราไม่จำเป็นต้องไปทางเดิมเสมอไป อีกเหตุผลของพลังขับเคลื่อนในตัวเรา คงเพราะเรารู้สึกเป็นเกียรติกับการเป็นอาจารย์มหิดลมาก ซึ่งปรัชญาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือการนำความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยเหลือสังคม ที่กล่าวว่า ‘ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ’ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เลยทำให้เรามีพลังที่อยากจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ว่าในแต่ละปี เราอาจมีบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย แต่เรารู้สึกดีและเห็นคุณค่าเสมอกับโอกาสที่ได้รับ (ยิ้ม)

“เอาจริงๆ ความสุขที่สุดกับงานตรงนี้ คือการได้เห็นความสำเร็จของชุมชนนะ เวลาเราเห็นชาวบ้านภูมิใจในบ้านเกิดของพวกเขา หรือแม้กระทั่งแค่ชาวบ้านมาบอกว่า ‘อาจารย์ ดีจังเลยที่ชุมชนของเรามีส่วนร่วม พวกเรารู้สึกสนุกมากเลย’ แค่นั้นเราก็ดีใจแล้ว เรารู้สึกว่าการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นหน้าที่ของเราและเราชอบเวลาพวกเขาได้แสดงออก เรามีแพชั่นกับการเห็นผู้คนได้ดี โดยไม่มายด์เลยว่าบทบาทในภารกิจนั้นของเราจะเป็นอะไร หรือการที่มีคนเห็นศักยภาพของเราในการทำงานเพื่อชุมชน เวลามีโครงการอะไรแล้วมีคนนึกถึงเรา อยากให้เราเป็นคนที่เข้าไปทำงานในจุดตรงนั้น เรารู้สึกภาคภูมิใจกับเรื่องอะไรแบบนี้

“มองอนาคตของตัวเองอย่างไร เป็นคำถามที่ยากที่สุดเลย ตอนนั่งรถมาก็คิดหนักอยู่ว่า นั่นสิ แล้วเราจะไปไหนได้ต่อล่ะ? เพราะตอนนี้น่าจะเกินแม็กซ์ที่ชีวิตเราควรจะเป็นแล้ว ที่บ้านถามอยู่ตลอดว่าเราได้พักผ่อนบ้างไหม ได้นอนบ้างไหม (หัวเราะ) เราค้นพบว่าเราคงสนุกและมีความสุขมากๆ แหละ เลยไม่รู้สึกเหนื่อยและไปได้เรื่อยๆ กับงานเชิงสังคมแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากทำให้สำเร็จในเวลานี้ คือโครงการที่เรากำลังจะเขียนให้กับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งคือเรื่องการวางมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในยกระดับสู่สากล จริงๆ เราเคยขายไอเดียนี้ไปตั้งแต่ประมาณ 8 ปีที่แล้ว แต่เวลานั้นด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างยังไม่พร้อม แต่วันนี้พร้อมแล้วทั้งเขาและเรา หากเป็นไปได้มาตรฐานการท่องเที่ยวจะถูกยกระดับขึ้นมาทันที ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกคนต้องเข้าถึงได้ ต้องเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม มีเรื่องการจัดการน้ำ การจัดการขยะ การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม มีการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยกัน เราเลยมีความหวังกับการเขียนโครงการนี้เพื่อให้ภาครัฐใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างเป็นระบบ จริงๆ ทุกงานที่เราทำไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต เราไม่ได้คิดเพื่อใครคนใดคนหนึ่งนะ แต่คิดในภาพใหญ่ที่อยากพัฒนาให้กับคนไทยและประเทศของเรา อย่างที่บอก เราอยากใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาทำประโยชน์ให้กับบ้านของเรา (ยิ้ม)”  

 

   

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
เพิ่มเติม: muic.mahidol.ac.th

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles