Knotty ของเล่นใหม่แบบไม่จำกัดวิธีเล่น อยากเล่นแบบไหน ออกแบบเองได้

สำหรับเด็กแล้ว ช่วงเวลาในการเล่นไม่ได้สร้างความสนุกเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางปลอดภัยที่จะให้เด็กๆ ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตก่อนที่จะไปเรียนรู้โลก การเล่นยังช่วยพัฒนาความคิด หล่อหลอมให้เกิดบุคลิก รวมทั้งสร้างทักษะด้านต่างๆ ตลอดจนความแข็งแรงทางอารมณ์ โดยหนึ่งในประเภทของเล่นอย่าง open-ended toy หรือของเล่นปลายเปิด ก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะของเล่น ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสวงหาวิธีเล่นซึ่งจะเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

‘Knotty’ ที่มาจากการประกอบขึ้นของคำ 2 คำ อย่าง ‘knot’ ที่แปลว่า ‘เงื่อน’ และ ‘tying’ ที่แปลว่า ‘การผูก’ ก็เป็นของเล่นปลายเปิดที่ Saki Maruyama ออกแบบให้คล้ายกับคำถามปลายเปิดที่จะไม่มีคำตอบตายตัว สามารถตอบอะไรก็ได้ โดยของเล่นที่ว่าจะไม่จำกัดวิธีการเล่น เพื่อให้เด็กๆ สามารถหยิบมาเป็นเครื่องมือในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นหนทางในการเล่น ทดลอง แสวงหา และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง

Knotty มาในฟอร์มบล็อก 5 เหลี่ยม ที่มีรูวงกลมติดอยู่บนเหลี่ยมด้านหนึ่ง โดยวิธีการเล่นก็เพียงเลือกบล็อกที่ต้องการมา 2 ก้อน และผูกโยงเข้าด้วยกันด้วยเชือกที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ จากนั้น เจ้าเชือกนี้จะสร้างกระแสไฟฟ้าและทำให้บล็อกที่มีฟอร์มละมุนตานี้กลายร่างเป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถพิเศษแตกต่างกันไป ทั้งการสร้างแรงสั่นสะเทือน การเคลื่อนไหว การให้แสงสว่าง รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดเสียงได้ แถมผู้เล่นยังสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์เป็นข้าวของต่างๆ ตามจินตนาการของตัวเองได้อีก

Saki Maruyama เล่าถึงสิ่งที่เธอเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า “ทั้งๆ ที่หลายปีมานี้ เราได้เห็นของเล่น tech-toy ออกสู่ตลาดมากมาย แต่นั่นกลับไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเล่นอย่างอิสระกันสักเท่าไหร่ในแง่ของการเล่นแบบที่จะไม่ไปจำกัดความคิดหรือวิธีการเล่นให้เด็กๆ แบบเดียวกับการต่อเลโก้ จริงๆ แล้ว การเล่นเป็นกระบวนการที่เป็นอิสระ เป็นการแสวงหา แล้วก็ยังฝึกให้เด็กได้ค้นพบความหมายใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยให้พวกเขาสร้างนวัตกรรมในแบบของตัวเองด้วย ฉันคิดว่าการเล่นแบบปลายเปิดที่ไม่ต้องมีอะไรมาเป็นกรอบหรือกะเกณฑ์จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาความคิดและความสนใจของตัวเองไปได้อีกไกลทีเดียว”

มีคนเคยเปรียบว่าการเล่นก็เหมือนกับการทำงานของเด็ก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ได้เล่น พวกเขาจะแสดงออกถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่สะท้อนความคิด ความต้องการ ความสนใจ รวมถึงบุคลิกลักษณะ ทักษะ และความสามารถที่มีอยู่ในตัว ของเล่นจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญต่อการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชีวิต ที่เริ่มจากการใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ การลองผิดลองถูก การจำลองการแก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การคิดสรุปซึ่งเป็นผลลัพธ์ในปลายทาง แน่นอนว่าของเล่นเหล่านี้นี่แหละที่จะทำหน้าที่เสมือนใบเบิกทางให้เด็กๆ ได้ก่อร่างความงอกงามทางความคิด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขาในการดัดแปลงประสบการณ์จากการเล่นไปสู่การใช้ชีวิตในสังคมจริงๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นได้

อ้างอิง: www.sakimaruyama.com

Tags

Tags: , , ,

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles