ท่ามกลางท้องนาอันเงียบสงบของตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เพิ่งมีงานสร้างสรรค์ชุมชนที่สร้างแรงบันดาลใจดีๆ เกิดขึ้นอีกแห่ง สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) แหล่งท่องเที่ยววิถีไทยพิกัดใหม่ที่นำเอาเสน่ห์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านมาพลิกโฉมสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีพลัง
ในบรรยากาศของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและวิถีท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน เราจะพบเห็นผู้คนในชุมชนโซ่พิสัยนี้ที่ยังคงนุ่งซิ่นตื่นเช้ามาตักบาตรกันเป็นปกติ แต่หนึ่งอัตลักษณ์ที่น้อยคนจะรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านใกล้สะดือน้ำโขงแห่งนี้ ก็คือความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับตำนาน ‘พญานาค’ ที่วันนี้เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกนำมาปัดฝุ่นและรีแพคเกจจิ้งใหม่โดยฝีมือ ขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ คอนเซ็ปท์ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งวงการอาหารไทย
คุณขาบนั้นแต่เดิมเป็นลูกอีสานแท้ๆ ที่เติบโตมาในอำเภอโซ่พิสัย แม้ในวัยหนุ่มของเขา เขาจะเคยย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองกรุงเพื่อไปตามหาความฝันทางอาชีพ (เช่นเดียวกับพี่น้องคนอื่นๆ) แต่โชคดีที่ว่าครอบครัวของคุณขาบซึ่งมีคุณพ่อวัย 92 เป็นเสาหลัก ยังคงเก็บรักษาบ้านเรือนไทยหลังน้อยไว้เป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลาน จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายขวบปีความผูกพันต่อบ้านเกิดของเหล่าลูกๆ ก็ได้ตกตะกอนหลอมรวมกับประสบการณ์และวิสัยทัศน์ทางอาชีพ ทำให้คุณขาบตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นทัพหน้าแสวงความร่วมมือจากเพื่อนบ้านหลายหลังในชุมชน รวมถึงพลิกโฉมบ้านไทยอีสานอายุร่วม 60 ปีของครอบครัวตนให้กลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต’ โดยเขามีความฝันเล็กๆ ว่าอยากจะเชิดชูความงดงามตามวิถีบ้านเกิดนี้ให้เป็นที่รู้จักกว้างออกไปในสายตาคนภายนอก
โครงการ ‘วาดบ้านแปลงเมือง’ ของคุณขาบเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการนำศิลปะร่วมสมัยแนวสตรีทอาร์ทมานำเสนอบนผนังบ้านเก่าเกือบ 20 หลัง โดยงานนี้ชาวบ้านได้ยกพญานาคมารับบทตัวเอกในการดำเนินเรื่อง ซึ่งคุณขาบบอกว่าพญานาคของแต่ละบ้านนั้นก็จะมีบุคลิกเรื่องราวที่ผูกโยงอยู่กับอาชีพของคนในบ้านนั้นเอง เช่น พญานาคกระติ๊บข้าว พญานาคไอศครีม พญานาครถไถ พญานาคตัดผม หรือกระทั่งพญานาคคับเค้ก (ที่ศูนย์เด็กเล็กในชุมชน) ฯลฯ ซึ่งผลงานศิลปะทั้งหมดในช่วงเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ชุมชนนี้เป็นงานจิตอาสาที่ได้นักศึกษาวิชาออกแบบจากสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมาช่วยรังสรรค์ให้อย่างสวยงามทันสมัย
“เราอยากให้สิ่งที่เราทำกันที่นี่เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทย นั่นก็คือการที่ลูกหลานในชุมชนที่เติบโตไปทำงานรับใช้สังคมในเมืองหลวง หรือที่ไหนในโลกก็แล้วแต่ วันหนึ่งเราอยากให้เขาได้ฉุกคิดว่าเขาต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง และให้คิดนำทักษะความสามารถของตัวเองกลับมาพัฒนาบ้านเกิดด้วยในวันหนึ่งที่เขาสามารถทำได้ ก็หวังว่านี่จะเป็นการจุดประกายเริ่มแรกให้กับคนอื่นๆ ต่อไปครับ” คุณขาบกล่าวสรุป
ในมุมมองของเรา การเปิดใจให้กับความสร้างสรรค์ที่แปลกต่างไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวบ้านครั้งนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของชนบทห่างไกลที่จะบูรณาการรากเหง้าของตนเองเข้ากับงานดีไซน์สมัยใหม่ เชื่อว่าพวกเขาทุกคนน่าจะมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากต่อยอดความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่น รวมถึงสร้างกระบอกเสียงของชุมชนที่จะนำพาคนนอกให้อยากเข้ามาทำความรู้จัก และเชื่อมโยงกับอำเภอโซ่พิสัยกันมากขึ้นในฐานะแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยที่ไม่ธรรมดา
สำหรับผู้ที่สนใจแวะเวียนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) คุณสามารถเข้าชมได้ฟรีทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. ติดตามรายละเอียดและขอนัดเข้าชมได้ที่ 086-229 7629 หรือทาง FB: พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ
อ้างอิง: พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ