Mission Blue: ภารกิจพิทักษ์โลกใต้น้ำของ ดร. ซิลเวีย เอิร์ล ปกป้องมหาสมุทรที่กำลังจะตาย

หากจะบอกว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่จะพบเห็นและเข้าใจชีวิตใต้ท้องทะเลไปมากกว่าเธอคนนี้ก็คงจะไม่ผิดนัก ดร.ซิลเวีย เอิร์ล ผู้อุทิศชีวิตให้กับการดำน้ำและสำรวจธรรมชาติใต้มหาสมุทรมามากกว่า 50 ปี แม้ปัจจุบันเธอจะมีอายุ 85 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงลงดำน้ำและสำรวจท้องทะเลอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปกป้องชีวิตสัตว์น้ำและระบบนิเวศไม่ให้ถูกทำลาย คนส่วนใหญ่บนโลกคงไม่มีโอกาสนักที่จะสัมผัสโลกใต้น้ำเหมือนนักสมุทรศาสตร์ เราจึงยังคงมองโลกสวยเวลาที่ไปพักผ่อนริมชายหาด ทว่าในมุมของนักสมุทรศาสตร์แล้วมีข่าวร้ายจะบอกคือว่า มหาสมุทรกำลังจะตาย

Mission Blue เรื่องเล่าประวัติชีวิตของ ดร. ซิลเวีย เอิร์ล ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ดร. ซิลเวีย เกิดในครอบครัวรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งช่วยปลูกฝังความเป็นคนช่างสังเกต ครั้งแรกที่ได้สัมผัสชีวิตตัวเล็กตัวน้อยริมชายหาดก็บอกกับตัวเองแล้วว่านั่นคือรักแท้ จากนั้นก็มุ่งมั่นศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา และอยากไปในที่ที่ไม่มีใครเคยสัมผัสนั่นคือใต้ท้องทะเลลึก และพบเห็นด้วยตาตัวเองว่าที่นั่นช่างมหัศจรรย์ราวกับอีกจักรวาลหนึ่ง สาหร่ายทะเลนับหมื่นที่เธอค้นพบและสะสมจัดจำแนกประเภทไว้พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน

และเมื่อเวลาผันผ่านความเจริญเข้ามา การเติบโตของอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมหลากหลายรูปแบบที่ทิ้งปัญหาลงในทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า สารเคมีอย่างมหาศาลในการเพาะปลูก โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ขยะพิษทั้งหลายล้วนพากันซึมผ่านสู่อ่าวเม็กซิโกปล่อยขยะพิษขนาดใหญ่สู่ทะเล ความงดงามที่เคยพบเห็นก็เริ่มจางหาย ที่สำคัญไม่ใช่เพียงอ่าวนี้เท่านั้น แต่สังคมอุตสาหกรรมทั้งโลกเลียนแบบและทำพฤติกรรมเดียวกันเช่นนี้แพร่กระจายไปทั่วทุกทวีป รวมถึงแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลอีกนับไม่ถ้วน ร้ายยิ่งกว่านั้นการทดลองระเบิดนิเคลียร์จากบรรดาประเทศมหาอำนาจล้วนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน ภาพสะท้อนหลากหลายของความเจริญเหล่านี้กำลังทำลายสมดุลของชีวิตใต้ท้องทะเลอย่างรวดเร็วและรุนแรง ฉะนั้นถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดยั้งวิกฤตินี้

ครั้งหนึ่งในชีวิต ดร. ซิลเวีย เอิร์ล เคยได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์กรบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา The U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration แต่ดูเหมือนการขยับเขยื้อนที่จะแก้ปัญหาไม่ทันต่อเหตุการณ์นัก เธอจึงลาออกแล้วหันมาปั้นโครงการ Mission Blue ซึ่งมีจุดประสงค์จะสร้างเขตปกป้อง อนุรักษ์พืชพันธุ์และสัตว์น้ำขึ้นที่เรียกกันว่า Hope Spot โดยหวังจะขยายพื้นที่เหล่านี้ไปทั่วโลก ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้แค่ไหน แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยอย่างน้อยก็ช่วยกันพื้นที่ให้ปลอดภัยจากความไม่รับผิดชอบของมนุษย์เพื่อให้ชีวิตสัตว์น้ำได้ฟื้นฟูตัวเองกลับมา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์มีคำถามว่าเธอไม่คิดจะพักบ้างหรือ ดร.ซิลเวีย ตอบว่า “ถ้าคุณเห็นเด็กกำลังจะหล่นจากหน้าต่างบนตึกสูง แล้วคุณรู้ว่าตัวเองช่วยได้ คุณจะขอพักมั้ย” ชัดเจนว่าตลอดเวลาแห่งการเดินทางของชีวิตมีเป้าหมายอยู่ที่ใด

แม้จะผ่านปัญหาส่วนตัวและครอบครัว มีทั้งที่สมหวังและล้มเหลว (ดร.ซิลเวีย มีส่วนออกแบบยานดำน้ำและหุ่นยนต์สำรวจใต้ท้องสมุทรร่วมกับสามีคนที่สามที่เป็นวิศวกรชาวอังกฤษ และยานนี้นำไปใช้ในหนังของผู้กำกับฯ เจมส๋ คาเมรอน ในฉากเปิดของไททานิค อีกด้วย) เธอคือผู้หญิงแกร่งตัวจริงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในธรรมชาติ ที่อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ที่ไม่ใช่แค่เพียงสัตว์น้ำ ปะการัง แต่มีความหมายต่อระบบนิเวศของทั้งโลก

สารคดีเรื่อง Mission Blue เป็นเหมือนการตั้งคำถามกับวิถีสังคมบริโภคที่นับวันมีแต่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง เกินความจำเป็นจนกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข ทว่าหากมองแง่บวกโลกก็ยังไม่สิ้นหวังซะทีเดียว ลองคิดว่าเรามีความสามารถจะผลิตเครื่องจักรกลที่จะเสพพลังงานได้มหาศาลในระยะเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ เราก็คงมีวิธีจะหาทางจัดการกับปัญหาได้ในระยะเวลาไม่นานนักเช่นเดียวกัน

อ้างอิง: https://mission-blue.org, https://en.wikipedia.org/wiki/Sylvia_Earle, www.nationalgeographic.org

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles