สมัยนี้ การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการถือป้ายแล้วเดินตะโกนไปตามท้องถนนเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าใช้หัวคิดครีเอทีฟสักหน่อย แล้วบวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เราก็สามารถถ่ายทอดเนื้อใหญ่ใจความที่เราต้องการป่าวประกาศออกไปยังคนจำนวนมากได้… โดยใช้กำลังกายที่น้อยลง แต่เรียกความสนใจได้ดีกว่าเดิม
แคมเปญล่าสุดของ Greenpeace ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษหันมาให้ความสนใจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติกชิ้นนี้ จัดเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในประเด็นที่ว่า เพราะแทนที่จะใช้วิธีสื่อสารเดิมๆ เช่น เขียนข้อความที่ต้องการบอกลงบนแผ่นป้าย เดินขบวน ฯลฯ พวกเขาเลือกหันไปจับมือกับ Studio Birthplace สตูดิโอที่มักสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบภาพยนตร์สั้นเพียงไม่กี่นาทีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน โดยในคราวนี้ พวกเขาร่วมกันทำภาพยนต์สั้น (มาก) ชื่อ ‘Wasteminster: A Downing Street Disaster’ ออกมา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องขยะพลาสติก ที่ว่ากันว่ารัฐบาลซุกความจริงครึ่งหนึ่งไว้ใต้พรม
แค่ชื่อของ ‘Wasteminster: A Downing Street Disaster’ ก็บอกได้แล้วว่านี่ต้องเป็นภาพยนตร์ที่เสียดสีสุดๆ เพราะเอาทั้งชื่อ Westminster และ Downing Street ที่เป็นสถานที่ตั้งของอาคารสำนักงานของรัฐบาลอังกฤษมาปรับเปลี่ยนเติมแต่งให้กลายเป็นคำที่เกี่ยวกับขยะและหายนะ เช่นเดียวกับเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาก แต่กลับสื่อสารได้ชัดเจนตรงประเด็น เพราะนำเอาสุนทรพจน์จริงของ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีของอังกฤษมาใช้ (พร้อมน้ำเสียงสำเนียงการพูดที่เหมือนอีกต่างหาก) แต่ในขณะที่ Boris กำลังพูดแถลงถึงความสำเร็จในเรื่องการควบคุมมลพิษทางพลาสติกต่อหน้าสื่อมวลชนอยู่นั้น ก็มีขยะพลาสติกจำนวนมากตกลงมาเหมือนห่าฝน แล้วก็พัดทั้งนายกและกองทัพสื่อให้กระเด็นออกไปยังถนนด้านนอก จบด้วยภาพจากมุมสูงที่เห็นขยะพลาสติกกองสูงเป็นภูเขาเหล่ากา พร้อมข้อความที่บอกว่า “นี่คือจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดในอังกฤษที่ไม่ได้ถูกรีไซเคิล แต่กลับถูกส่งออกไปเป็นขยะยังประเทศอื่น” ซึ่งจำนวนขยะที่ว่าก็มีมากถึง 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน
“ขยะพลาสติกเป็นจำนวนมากถูกทิ้งหรือเผาอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้คน แม่น้ำ และมหาสมุทร” Sam Chetan-Welsh จาก Greenpeace แห่งสหราชอาณาจักร กล่าว “รัฐบาลสามารถหยุดการกระทำเหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมา Boris Johnson กลับเลือกใช้มาตรการเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น” สิ่งที่ทาง Greenpeace ต้องการจากรัฐบาลอังกฤษคือ แบนการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศอื่นให้ได้ 100% และใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตรายต่างๆ ในอังกฤษลดการผลิตพลาสติกลง เพื่อเป็นการลดจำนวนพลาสติกตั้งแต่ขั้นแรก
ดูภาพยนตร์สั้นชิ้นนี้แล้ว หลายคนคงไม่เพียงอยากให้รัฐบาลอังกฤษตอบรับข้อเรียกร้องของ Greenpeace เท่านั้น แต่ยังอยากให้รัฐบาลและประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก หันมาจริงจังกับเรื่องขยะพลาสติกมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเรื่องที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก: www.studiobirthplace.com, www.thisiscolossal.com