‘จารุพัชร อาชวะสมิต’ กับแบรนด์ Ausara Surface ผ้าทอแนวตั้งจากวัสดุทางเลือก

เรื่องราวการเดินทางของชีวิตนักออกแบบผ้าทออย่าง จารุพัชร อาชวะสมิต หรืออาจารย์ปุ๊ก นั้นเต็มไปด้วยขุมพลังของความคิดสร้างสรรค์และความสนุกในทุกบทบาทของเธอ จากนักศึกษาที่สนใจเรื่องผ้าทอ สู่บทบาทการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนการเป็นนักออกแบบและพัฒนาลวดลายผ้าทอให้แก่องค์กรต่างๆ นอกเหนือจากการอัพเดทเรื่องราวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังลวดลายผ้าที่สวยงามภายใต้แบรนด์ Ausara Surface ที่เธอและ โชษณ ธาตวากร ทดลองหาความเป็นไปได้กับวัสดุชนิดใหม่ผ่านงานผ้าทอแนวตั้งแล้ว อาจารย์ปุ๊กยังเล่าให้เราฟังถึงการทำงานร่วมกับองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ในการนำความรู้เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้านเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งเธอทุ่มเทกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจเพื่อถักทอให้ทุกภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยหัวใจ ความรัก และความสุข

Ausara Surface แบรนด์ผ้าทอแนวตั้ง (Vertical Textile) ถักทอความงามจากวัสดุทางเลือก

“Ausara Surface เริ่มต้นหลังจากที่อาจารย์ทำงานอยู่ในวงการทอผ้า ทำงานกับวัสดุอย่างไหมและฝ้ายมานาน แต่ก็รู้สึกว่ายังมีอะไรในใจที่อยากจะทำมากกว่านี้ ประกอบกับน้องรหัส โชษณ ธาตวากร ซึ่งเคยทำงานด้วยกันและเข้ากันดี ชวนมาทำงานด้วยกัน โดยทางโชษณเห็นช่องว่างทางการตลาดด้าน Vertical Textile ก็คุยกับโชษณว่าอยากทำงานกับวัสดุแปลกๆ อย่างโลหะ เขาเลยเอาตัวอย่างมาให้ทดลองทอดู ปรากฏว่าทำได้และสวยแปลก เราสองคน เห็นว่าตลาดผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ พรม มีคนจับจองเป็นเจ้าของตลาดเยอะแล้ว ส่วน Vertical Textile ยังไม่ค่อยมี เราเลยมาคุยกันว่าถ้าอย่างนั้น ลองมาตั้งบริษัทออกแบบ ผลิต และสร้างแบรนด์กันเลยดูไหม Ausara Surface จึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยใช้เวลา 1 ปี แรกในการคิดค้นและพัฒนาผ้าทอจากโลหะอย่างเดียวเลย

ผ้าชิ้นแรกที่เราทำได้จากการนำทองแดงมาทำรีดเป็นเส้น แล้วทอขึ้นเป็นผืนผ้า ซึ่งเป็นการทอในระบบอุตสาหกรรม ใช้ power loom เลย เมื่อเราทำทองแดงได้แล้ว ก็เริ่มทดลองกับดีบุก จากนั้นก็ทองเหลืองและสแตนเลส เมื่อครบ 4 ตัวนี้ เราก็ออกคอลเล็กชั่นแรก ซึ่งโชคดีที่มีรุ่นพี่ในวงการ คือ พี่ติ๊ก (คุณนิวัติ คูณผล) ซึ่งตอนนั้นทำงานให้กับสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) พี่ติ๊กเรียก Ausara Surface เข้าไปพรีเซ็นต์งาน เผื่อว่ามัณฑนากรท่านไหนสนใจจะนำผ้าไปใช้ในการทำงาน โดยมัณฑนากรก็จะมาจากหลายๆ บริษัท ปรากฏว่ามีคนชอบ แล้วก็นำไปใช้จริง โดยเริ่มต้นเป็นบริษัท PIA ที่เลือกนำผ้าของ Ausara ไปใช้ในโครงการ Ashton Silom ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่สำหรับเรา ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก เป็นการโปรโมทให้เราไปในตัว แล้วคนในวงการก็ได้เห็นผลงานจริงของแบรนด์เรามากขึ้น”

‘เท่าที่จำเป็น’ หัวใจในการดำเนินธุรกิจของ Ausara Surface

“ตอนที่ตั้งบริษัท เรา 2 คน คิดถึงวิธีการใช้เงินของเราว่าจะไม่เสียเงินกับสิ่งที่ยังไม่จำเป็น เช่น การเช่าที่ เราจะยังไม่มีออฟฟิศจนกว่าจะจำเป็นจริงๆ เราจะไม่เป็นเจ้าของเครื่องจักรหนัก ใช้สั่งของซัพพลายเออร์แทน และจะพยายามรักษาจำนวนพนักงานให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ผ่านมา 4 ปีแล้ว วันนี้เราก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ เพราะว่าเราอยู่ในวงการมาและรู้ว่ากำไรในบริษัทเสียไปกับอะไรบ้าง เราจะหลีกเลี่ยงรูโหว่ตรงนั้น และมันก็เวิร์กจริงๆ”

‘นวัตกรรมการทอ’ อีกหนึ่งจุดต่างของ Ausara Surface

“ด้วยความที่เราทำงานกับนวัตกรรมมาโดยตลอด นวัตกรรมในการทอ นวัตกรรมวัสดุ การนำวัสดุเหล่านี้มาทอ เราจำเป็นต้องปรับกลไกต่างๆ ของกี่ทอผ้า เมื่อเราทำงานกับนวัตกรรม คู่แข่งเราจะน้อยหน่อย เพราะว่าทำยาก (หัวเราะ) ไม่มีใครทำเหมือนเรา กลุ่มคนที่นำผ้าของ Ausara ไปใช้งานจริงๆ คือ อินทีเรียดีไซเนอร์ โปรดักท์ของเราจะเป็นงานประเภทที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ อินทีเรียดีไซเนอร์ เป็นคนตัดสินใจ ส่วนลูกบ้านในคอนโดมิเนียม หรือลูกค้าโรงแรมเป็นคนใช้งานจริง key person ของเราจะมีอยู่ไม่กี่คน เราต้องเข้าให้ถึง key person เหล่านั้นได้ นี่คือการทำการตลาดของเรา”

จากโลหะและแร่ธาตุ ต่อยอดสู่การถักทอผ้าจากวัสดุเหลือใช้

“เมื่อคอลเล็กชั่นแรกสำเร็จ เราก็เริ่มมองหาวัสดุที่แปลกขึ้น โดยคอลเล็กชั่นที่ 2 จะเป็นเรื่องของเคฟล่า คาร์บอนไฟเบอร์ และบะซอลต์ เหล่านี้เป็นแร่ธาตุซึ่งเป็นก้อน แต่เราก็หาวิธีการเพื่อทำให้แร่เหล่านี้กลายเป็นเส้น แล้วก็สำเร็จด้วยดี จนมาถึงคอลเล็กชั่นที่ 3 เราก็เริ่มมองวัสดุเหลือใช้เหลือทิ้งเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้น อาจารย์ชอบไปเดินที่วงษ์พาณิชย์ แล้วเจอเข็มขัดนิรภัยเป็นจำนวนมากเลย แต่เป็นเข็มขัดนิรภัยที่สีเพี้ยนบ้าง หรือทอผิดลาย ทีนี้เขาก็มาขายเป็นกิโลๆ ทิ้งไว้ เราก็ไปซื้อมา โดยนำมาใช้ในการออกแบบคอลเล็กชั่นชื่อ ‘Horse Hair’ ซึ่งเป็นงานที่มีโอกาสได้ทำเพื่อไปจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Pure Gold – Upcycled! Upgraded! ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จะหมุนเวียนจัดไปสิบประเทศทั่วโลก แต่งานของเราโชว์ที่เมืองไทย ที่ TCDC โดยปรัชญาในการทำงานของเราคือหากจะนำของเหลือใช้เหลือทิ้งมาใช้งาน เราจะไม่ออกแบบให้รู้เลยว่านี่คือของเหลือใช้เหลือทิ้ง เราจึงนำเอาเข็มขัดนิรภัยที่ไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องสีสัน ลวดลาย มาใช้เป็นวัสดุตั้งต้น ซึ่งหากมองตามคุณสมบัติแล้ว วัสดุเหล่านี้มีคุณภาพสูงมาก เรารู้ว่าโครงสร้างของเข็มขัดนิรภัยเป็นอย่างไร มีโครงสร้างลายทอและใช้วัสดุอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อนำมาทอแล้วก็พบว่าเข็มขัดนิรภัยเหล่านี้มีความแปลกพิเศษคล้ายๆ กับผ้าที่ทอขึ้นจากหางม้าเลย จึงตั้งชื่อคอลเล็กชั่นว่า Horse Hair โดยเราออกแบบและผลิตคอลเล็กชั่นนี้มาตั้งแต่ปี 2017 และถูกใช้ในโรงแรมและคอนโดมีเนียมจริงแล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานกับวัสดุเหลือใช้เหลือทิ้งดังกล่าวไม่ใช่ของที่ทำเพื่อโชว์ แต่สามารถใช้งานได้จริงๆ ด้วย

เอาจริงๆ Ausara Surface โดยธรรมชาติทำงานกับวัสดุรีไซเคิลมาตั้งแต่ต้นนะคะ เพราะจริงๆ แล้ว โลหะก็เป็นวัสดุรีไซเคิลอยู่แล้ว อย่างในประเทศไทย เรารีไซเคิลโลหะตั้งแต่ระดับครัวเรือน ขายเศษเหล็กให้ซาเล้ง รวมถึงในระดับอุตสาหกรรมด้วย เพราะฉะนั้น โลหะที่ใช้ส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะของการหมุนเวียน สแตนเลสที่แพงแสนแพงขนาดนี้ ก็หมุนเวียนอยู่แล้ว รวมถึงเงินและดีบุกด้วย โดยสภาพเดิมอาจจะเป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นอะไรมา เราก็นำมารีไซเคิล แล้วดึงให้เป็นเส้น เพราะฉะนั้น 90% ของวัสดุตั้งต้นของการทำผ้าในแบรนด์เป็นวัสดุรีไซเคิล”

สร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน การทำงานบนเส้นทางคู่ขนานของ จารุพัชร อาชวะสมิต

“ปัจจุบัน นอกจากที่ทำ Ausara Surface และเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว อาจารย์ยังมีโอกาสได้ช่วยงานที่มูลนิธิชัยพัฒนา ในส่วนของงานหัตถกรรม ด้านการออกแบบและการสาธิตให้กับชุมชน เพื่อให้หัตถกรรมเป็นอาชีพที่สองที่เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองรองจากงานเกษตรกรรม การทำงานที่นี่เป็นงานที่อาสาทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้น ในใจถือว่า ทำพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อได้ทำงานที่นี่แล้ว เห็นว่างานของมูลนิธิช่วยคนได้จริงๆ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงริเริ่มให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อปกป้องและคุ้มครองดินในเวลาที่ฝนตกหนัก เพราะเวลาน้ำท่วมลงมาแรงๆ หน้าดินที่ดีจะหายไปหมด บางครั้งดินถล่ม ซึ่งหญ้าแฝกเป็นพืชที่รากยาว แล้วออกลงทางตรง ไม่ออกข้าง ด้วยโครงสร้างรากแบบนี้ทำให้สามารถปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ ได้ โดยที่รากไม่ไปรบกวนและแย่งน้ำ แย่งอาหารของพืชอื่น เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ย่าฆ่าแมลง โดยปรกติหญ้าแฝกควรจะต้องตัดใบทุกๆ 3 เดือน ไม่อย่างนั้นจะออกดอกแล้วมันจะตาย อาจารย์ก็ไปอาสาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก เพื่อจำหน่ายในร้านภัทรพัฒน์ ของมูลนิธิชัยพัฒนาเอง ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพด้วยการใช้ใบหญ้าแฝกเป็นวัสดุในการทำงานหัตถกรรม เช่น ถัก ทอ และแปรรูปเป็นกระเป๋า รวมถึงแนะนำแนวทางเลือกให้กับชุมชนในการย้อมผ้าไหมมัดหมี่ด้วย ผ้าไหมของชุมชนเดิม สีจะสดมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านภัทรพัฒน์ ชอบผ้าที่มีสีเข้ม เลยไปแนะนำให้ย้อมสีทับสีผ้าไหมมัดหมี่เดิม โดยใช้สีที่เข้มขึ้นแต่ยังคงเห็นลวดลายเดิมอยู่ เรียกว่า overdyed ออกมาเป็นโทนที่สามารถใส่ได้ง่ายสำหรับกลุ่มลูกค้าของร้านภัทรพัฒน์ ก็ประสบความสำเร็จ ทำให้ชุมชนสามารถมีรายได้มากขึ้นถึงหกหลักเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ GC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท. โดยทำงานในโครงการที่เน้นเรื่องของการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ทั้งขยะพลาสติกจากโรงงานอุตสาหกรรม และขยะพลาสติกจากครัวเรือน โดยทาง GC มีศูนย์ Innovation Center ที่มีเทคโนโลยีในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นธรรมาภิบาลของบริษัทที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เขาผลิตเม็ดพลาสติกแล้ว ในขณะเดียวกัน เขาเองก็เป็นคนเก็บขยะพลาสติก มีตั้งแต่ขยะอุตสาหกรรม อย่างเช่น ขยะพลาสติกในโรงงาน ขยะบ้านอย่างถุงและขวดพลาสติก นำมาแปรรูปกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตัวเองก็จะเข้าไปในกระบวนการนั้นในส่วนของการร่วมวิจัย พัฒนา และออกแบบ โดยนำเอาขยะทั้งขวดน้ำดื่มและถุงพลาสติกมาหลอม แล้วทำให้เป็นเส้นเพื่อทำเป็นเส้นใย ส่งต่อเส้นใยนี้ให้ช่างฝีมือในชุมชนที่จังหวัดระยองเป็นคนถักเป็นผืนผ้าและตัดเย็บเป็นกระเป๋าต่อ”

‘ไม่ให้ปลา แต่สอนจับปลา’ หนทางบรรเทาความยากจน

“หลังจากที่ได้ทำงานกับชุมชนและองค์กรต่างๆ สิ่งที่ค้นพบคือเราสามารถช่วยชุมชนได้ ซึ่งไม่ใช่การช่วยด้วยการเอาเงินไปให้ แต่สอนให้เขามีทักษะเพื่อให้เขาทำเป็นด้วยตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เขารู้ว่าเขาจะมีเงินได้นะเมื่อเขาทำงาน สำหรับตัวเองแล้ว การจะอยู่ได้ด้วยตัวเองแบบยั่งยืน เราจะต้องสอนให้เขาจับปลา ไม่ใช่เอาปลาไปให้เขา แต่เอาสวิง เบ็ด แห อวน ไปให้ได้นะคะ สอนให้รู้และเข้าใจไปเลยว่างานแบบนี้ ทักษะแบบนี้ต้องทำอะไรอย่างไร เช่น เรื่องผ้า เราก็สอนตั้งแต่การทอ ตัด เย็บ ขาย ช่วยให้เขาทำเป็นตั้งแต่ศูนย์ถึงสิบ อย่างนี้น่าจะยั่งยืนกว่า

เอาจริงๆ นะ ประเทศไทยนอกจากจะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่แข็งแรงแล้ว เรายังมีงานหัตถกรรมที่แข็งแกร่งด้วย เป็นงานฝีมือซึ่งเป็นความชำนาญที่มีแทบทุกครัวเรือนในชนบท เช่น การทอผ้า ถ้ารุ่นยายจะทอผ้าเป็นแทบทุกคน รุ่นแม่ก็เริ่มเป็น แต่รุ่นลูกซึ่งเป็นรุ่นพวกเรานี่ล่ะ เริ่มทำไม่เป็นแล้ว รุ่นหลานนี่แทบจะไม่มีเลย ตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าใครจะให้ทำโครงการอะไรก็ตาม พี่พยายามขอให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตให้ พวกเราไม่ควรหลงลืมกลุ่มช่างที่มีฝีมือกลุ่มนี้ เรามีแรงงาน เรามีฝีมือ แล้วเราจะหันมาใช้แต่เครื่องจักรหมดเลยอย่างนั้นเหรอ จะเอาเข้าแต่โรงงานเหรอ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ ในโครงการต่างๆ ถ้าหน่วยงานเขามีเวลาที่จะรอ มีงบประมาณ ก็จะขอให้ชุมชนเป็นผู้ผลิต แล้วให้รายได้ตรงสู่ชุมชนเลย นี่จะเป็นหนึ่งในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท แม้กระทั่งงานของ Ausara เอง เราก็พยายามที่จะให้ชุมชนเป็นคนทำ”

ความแตกต่างและขัดแย้ง เยียวยาได้ด้วยความช่วยเหลือ

“อยากแชร์เรื่องที่ Bill Clinton เคยไปเล็คเชอร์ใน The Richard Dimbleby Lecture ซึ่งเป็น lecture series ตอนนั้นคลินตันพูดได้ดีมาก เขาพูดว่า ก่อนที่ 9/11 จะเกิดขึ้น เขาได้พูดไว้ก่อนแล้วว่า ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและผู้ก่อการร้าย สามารถป้องกันได้ด้วยความช่วยเหลือแก่มนุษย์ชาติ ไม่ใช่การใช้อาวุธ หมายความว่าถ้าเราให้ความช่วยเหลือกลุ่มชนทางด้านการศึกษา สาธารณสุข ลดความยากจน และสิ่งอื่นๆ ที่ช่วยได้ ความขัดแย้งก็จะไม่รุนแรง ส่วนตัวรู้สึกว่าด้วยนโยบายของคลินตันในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว ความรุนแรงจากการก่อการร้ายก็ไม่มากเท่าในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีคนอื่นหลังจากเขา การใช้กำลังและอาวุธนำมาซึ่งความเกลียดชัง สำหรับประเทศไทยเราก็ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกขนาดนั้นเลย ไม่อยากให้มีความรู้สึกแปลกแยกระหว่างเมืองกับชนบท

ลองคิดดูว่า ถ้าชุมชนของเราเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมไทยจะเป็นคนละเนื้อที่ไม่เข้ากัน มันจะหัก เมื่อหักแล้ว เราไม่รู้เลยว่าผลกระทบเชิงสังคมจะเกิดอะไรบ้าง ไม่ว่าจะความขัดแย้ง ความรุนแรง ความไม่เข้าใจกัน คือบางทีเมื่อเกิดความต่างกันมากๆ เขาจะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้น ความรู้สึกแบบนี้จะนำไปสู่ความโกรธ เพราะว่านี่ไง ตรงนี้แห้งผาก แต่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์สุดๆ เป็นเนื้อเดียวกันไม่ได้อีกแล้วเพราะต่างกันเกินไป ก็เลยรู้สึกว่า เราน่าจะมีหนทางที่จะช่วยกระจายความอุดมสมบูรณ์ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากรายได้เสริมจากการทำงานหัตถกรรมนี่แหละ ถึงจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ตั้งใจจะขยายผลต่อไปให้มากที่สุด”

แรงสนับสนุนจากเอกชนและภาคประชาชน ปัจจัยสร้างชุมชนเข้มแข็ง

“ในความคิดของอาจารย์ เมื่อใดก็ตามที่เอกชนสนใจให้การสนับสนุน เมื่อนั้นอาจารย์ก็มีความหวังทันที เพราะเอกชนไทยเข้มแข็งมากนะ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในประเทศ เอกชนจะยืนหยัดอยู่ได้ การที่เอกชนมองเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาจับเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เรื่องที่รัฐบาลให้การสนับสนุนส่งเสริมอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องมีผลกำไรคุ้มทุนเป็นเม็ดเงินก็ได้ อาจจะเป็นความคุ้มค่าทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาจจะเห็นผลในระยะยาวมาก แต่ถ้าเอกชนทำ นั่นคือความหวังว่าเห็นตัวเลขและมี impact ที่ชัดเจนในระยะที่สั้นกว่า เช่น เรื่องแปรรูปขยะหรือการที่เราใส่ใจกับการทิ้ง การนำกลับมาใช้ใหม่ ยิ่งถ้าประชาชนทำเมื่อไหร่ นี่คือความสำเร็จที่แท้จริง

อาจารย์อยากฝากนักออกแบบรุ่นใหม่ ลองมองแรงงานชุมชนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำงาน เช่น ช่างไม้ งานเครื่องประดับ อยากให้เข้าไปลองทำงานกับชุมชนดู อาจจะต้องเรียนรู้ร่วมกันทั้งชุมชนและนักออกแบบในช่วงแรกๆ แต่มันคงจะดีมากๆ หากเราสามารถช่วยกันได้ แก้ไขในสิ่งที่ติดขัด จัดการเรื่องการบริหารคน จริงๆ ไม่ว่าเราจะทำงานกับใครเราก็ต้องบริหารเขา ทำงานกับชุมชนก็เช่นกัน เราก็ต้องบริหารชุมชน แต่ก็คิดว่าเป็นสิ่งคุ้มค่าในระยะยาว อย่ามองแต่ความรวดเร็วในการทำงานหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว หรือสำหรับคนทั่วไปอย่างเราที่เป็นผู้บริโภค การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มาจากชุมชนก็เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ หรือจะเป็นการท่องเที่ยวในชุมชนก็ช่วยได้”

หัตถกรรมที่ดีต้องเข้าถึงใจผู้ใช้งาน

“งานหัตถกรรมที่มีชีวิต คืองานที่คนชอบ ไม่ว่าจะงานนั้นจะวิจิตรมากขนาดไหน แต่ถ้าคนไม่ชอบ คนไม่ซื้อ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง เราต้องกลับไปย้อนถามตัวเองตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมผลลัพธ์ถึงเป็นแบบนั้น

อย่างที่ญี่ปุ่น หัตถกรรมของเขาเจริญไปพร้อมกับคน เปลี่ยนไปพร้อมกับคน ทำให้ปัจจุบันนี้ เรายังเห็นคนญี่ปุ่นใส่ยูกาตะ ใส่กิโมโน ก็เพราะงานเหล่านั้นเข้าถึงใจคน หัตถกรรมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์คือหัตถกรรมที่ตายแล้ว แต่หัตถกรรมที่คนเอามาใช้คือหัตถกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งถ้างานนั้นสามารถตอบโจทย์อยู่ เราอย่าไปขังเขาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ปล่อยออกมาให้คนใช้

สำหรับประเทศไทย ช่วงนี้ดีมากๆ เรามีผลงานที่เป็นต้นฉบับของงานชั้นครู และเราก็มีงานที่คนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งด้วยราคาและปัจจัยอื่นๆ งานหัตถกรรมต้องมีส่วนที่เดินตามเวลาด้วย ผลิตภัณฑ์ที่คนใช้คือสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ฉะนั้น คนผลิตไม่ใช่หลับหูหลับตาผลิตอย่างเดียว เราต้องดูความเป็นไปในสังคมด้วย ไม่อย่างนั้น เราจะมานั่งทำอะไรที่ขายไม่ออก แล้วตั้งกองไว้บนชั้นเพื่ออะไร ในความคิดของอาจารย์ วิธีที่จะทำให้งานฝีมือคงอยู่และให้ช่างฝีมืออยู่ได้ คือต้องทำผลิตภัณฑ์ที่มีคนอุดหนุน มีการหมุนเวียนในทางเม็ดเงินด้วยเพื่อให้ผู้ผลิตมีกำลังใจ มีต้นทุน มีกำไร ที่จะผลิตต่อไป”

ให้คุณค่า = ยกระดับหัตถกรรมไทยให้คงอยู่

“อาจารย์เพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น คราวนี้ได้ไปพบศาสตราจารย์ด้านหัตถกรรมที่ Tokyo University of the Arts แล้วก็มีโอกาสได้คุยกับคนในวงการหัตถกรรมด้วย คนญี่ปุ่นให้ค่างานหัตถกรรมสูงมาก สถานะของ craftspeople สูงมาก งานประเภท craft based ในญี่ปุ่น เช่น งานแกะสลัก งานประติมากรรม งานผ้า ของเขาได้รับความเคารพ กิโมโนสามารถตั้งราคา 1 ล้านบาทได้ เพราะฉะนั้น เมืองไทย เอาจริงๆ งานหัตถกรรมก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าญี่ปุ่นเลย เราต้องค่อยๆ ปรับในเรื่องของตลาด สื่อสารกับผู้บริโภค เราต้องค่อยๆ ให้ค่าไปเรื่อยๆ ซึ่งการให้ค่าสามารถทำได้ทุกทาง ไม่ใช่ตะกร้าสาน 25 บาท เราก็ไปต่อเหลือ 20 บาท ถ้าเราทุกคนเห็นค่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนเห็นค่า ก็คือทุกระดับ คนทำหัตถกรรมก็จะมีกำลังใจ พอมีกำลังใจงานก็จะดีขึ้นไปอีก”

การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ช่วยสังคมได้จริงหรือ?

“ความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบช่วยสังคมได้ทุกทางเลย ช่วยตั้งแต่ตัวของมันเอง เริ่มที่ความสุนทรีย์ช่วยทำให้เรามีชีวิตที่รื่นรมย์ขึ้น ช่วยสนับสนุนเรื่องของรายได้กับผู้ผลิต ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คิดว่าช่วยทุกทางเลยนะคะ มีทุกแง่มุมและเดี๋ยวนี้ยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะว่าเราเอาของเหลือใช้เหลือทิ้งกลับเข้ามาอยู่ในระบบได้แล้ว (ยิ้ม)”

‘สะดวก สนุก สบาย ได้ประโยชน์’ หัวใจของการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะ

“สิ่งที่จะกระตุ้นได้จะต้องสะดวก สนุก สบาย และเขาได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าดีกับเขาแบบนี้ เขาฟังทีเดียว รู้ทีเดียว เขาจะทำเลย ก็จะสำเร็จง่าย แต่ถ้าเราทำแคมเปญแล้วเราต้องทำซ้ำ ต้องย้ำ ต้องพูดบ่อยๆ แล้วคนก็ยังไม่สนใจ แปลว่ามันไม่น่าจะสะดวก ไม่สบาย ไม่สนุก อย่างเช่นการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ถ้ายากมากเกินไป ก็จะไม่สำเร็จ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อย่างเช่นการขายของเก่าให้กับรถซาเล้ง ทำไมถึงสำเร็จ ก็เพราะสะดวก สบาย และได้เงิน ถามว่าสะดวกไหม สบายไหม ก็สะดวกสบายเพราะเขามารับถึงหน้าบ้าน เรามีขวด มีกระดาษ ก็ขนไปขาย เขาแยกประเภทให้เราด้วย แล้วเราก็ได้เงิน ถ้าเราออกแบบการนำกลับมาใช้ใหม่ให้ง่าย โดยที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนตัวเขาเองมากจนเกินไป ไม่ได้ลำบากก็น่าจะประสบความสำเร็จ อาจารย์คิดถึงเรื่องของเหลือใช้เหลือทิ้งในองค์กรขนาดใหญ่ด้วย ที่แต่ละองค์กรตั้งใจนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น อาหารกลางวันเหลือทิ้งของพนักงาน น้ำเสียในตึก พลังงานความร้อนที่เสียไป ถ้าเรานำกลับมาใช้ได้ เราก็จะประหยัดไปเยอะมาก ที่สำคัญคืออย่าทำขยะให้เป็นขยะอีกรอบนึง แปรรูปให้สวยงาม ใช้งานได้จริง เราเพิ่มมูลค่าให้สิ่งที่เคยเป็นขยะด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชั่นที่ดีในราคาเทียบเท่ากับของที่มีอยู่ในท้องตลาด เป็นงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละแบบ และราคาปกติ ไม่ได้สูง เช่น สินค้ารีไซเคิลจากพลาสติกก็แพงขึ้นกิโลกรัมละหน่วยเป็นสตางค์ คือแพงขึ้นน้อยมาก ในเชิงการขายปลีกถือว่ามีนัยยะสำคัญไม่มาก”

เรียนรู้ ‘การให้’ จากทำงานกับส่วนรวม

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับชุมชนคือการให้ อาจารย์เรียนรู้ว่าเราสามารถลงแรงและลงเวลาโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอะไรตอบแทนในทุกๆ เรื่องก็ได้ และมีหลายอย่างที่เราสามารถให้เปล่าได้เลย ซึ่งนั่นทำให้เราโลภน้อยลง ชีวิตเราเบาลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง หรือเวลาที่สูญเสียอะไรแล้วไม่ค่อยเสียใจมากแล้ว เพราะว่าคิดได้ว่า ให้มากกว่านี้ฉันก็ให้มาแล้ว (หัวเราะ) การให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งนะ เมื่อเราให้ได้ การสูญเสียอะไรไปก็เป็นเรื่องที่ทำใจง่ายขึ้น ใจเราไม่ทุกข์ อะไรๆ ก็ทำร้ายใจเราไม่ได้ ชีวิตคนเราก็จะมีช่วงเวลาที่ทำอะไรพลาดไป อาจารย์ก็มี เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกว่าไม่น่าเลย รู้สึกเสียดาย เสียใจ แต่ตอนนี้เฉยๆ ไม่เดือดร้อนมาก แต่ก็จะระวัง คนที่ยังรู้สึกว่าตนเองเสียไม่ได้ ลองให้ดู แล้วเราอาจจะค้นพบว่าชีวิตนี้เสียบ้างก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก การให้สอนอาจารย์แบบนี้นะ”

‘อดทนรอ’ ในวันที่จังหวะชีวิตไม่ลงตัว

“บางที ถ้าปัญหาที่เจอกับวิธีแก้ยังไม่ลงตัว อาจารย์จะดูจังหวะเวลา บางอย่างอาจต้องรอก่อน บางอย่างทำไม่ได้ก็ต้องทำใจ สิ่งสำคัญ ทุกอย่างจะลุล่วงได้หมดถ้าใจเราพร้อม แต่ใจเราไม่ได้พร้อมตลอดเวลา เราก็ต้องรู้ขีดจำกัดตัวเองว่าเวลานี้ยังไม่ต้องทำ เพราะเธอทำยังไม่ได้ แต่บางอย่างต้องทำเลยเดี๋ยวนี้ สมมติว่าในส่วนโปรดักชั่นของโครงการนี้มีปัญหาเยอะมากที่ต้องแก้ แล้วยังแก้ไม่ได้จริงๆ อาจารย์ก็จะรอ คือเราจะต้องรู้ว่าเวลาไหนที่เราจะเผชิญกับปัญหาได้ดีที่สุด และต้องเผชิญอย่างไร การแก้ปัญหาเป็นศิลปะและละเอียดอ่อนนะ อาจารย์จะไม่บีบคั้นตัวเองจนเกินไป อาจารย์พบว่าเมื่อเราไม่บีบคั้นตัวเราเองจนเกินไป เราจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาให้เวลาช่วยแก้ไข บางปัญหารอก่อนได้ ยังไม่ต้องกลุ้มใจ เดี๋ยวค่อยกลุ้มใจตอนหลัง (หัวเราะ) อาจารย์มีคำขวัญในใจนะว่า ‘Most of the time, we worry for nothing.’ เคล็ดลับของอาจารย์คืออย่ารีบกังวล ถ้าเราตั้งใจทำดีที่สุดแล้วส่วนมากสุดท้ายมันจะโอเค”

ความสุขที่สงบและเรียบง่าย

“เอาจริงๆ อาจารย์ค่อนข้างมีความสุขอยู่ตลอด ความทุกข์ที่มีเป็นความทุกข์ที่จัดการได้ง่ายๆ เช่น ร้อน หิว ปวดหัว และเป็นความทุกข์ที่ไม่ได้มารบกวนจิตใจ การที่เราอยู่ในศีล 5 นี่แหละ เมื่อพิจารณาดีๆ พบว่าช่วยป้องกันให้เราไม่มีอุบัติเหตุชีวิต ไม่มีทุกข์หนัก ทำให้เราดำรงอยู่ในความสงบได้ง่าย”

บุคคลผู้นำทางชีวิต

“คนแรกคือพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้า พูดได้ว่าการปฏิบัติตามคำสอนของท่านเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา ทำให้อาจารย์มีชีวิตที่มีความสุข

คนที่สองคือพ่อ แม่ คุณยาย และน้าตุ๊ก อาจารย์กรรณีย์ ถาวรสุข ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกันคือ ครอบครัวและการเลี้ยงดู คุณพ่อถึงจะทำงานธนาคาร แต่มีความเป็นศิลปิน พ่อชอบทำงานไม้ แกะสลัก ชอบทำของเล่นให้ลูกๆ ส่วนคุณแม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัยโรคพืช แต่ตอนเด็กๆ วันเสาร์ อาทิตย์ แม่จะชวนอาจารย์ไปเดินเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อที่บางลำพู ซึ่งอาจารย์ชอบมาก คุณยายเป็นครูสอนเย็บผ้าคนแรกของอาจารย์ สอนถักโครเชต์ นิตติ้ง ปักผ้า ส่วนน้าตุ๊ก อาจารย์กรรณีย์เป็นเพื่อนสนิทของคุณแม่ ที่เป็นคนพาอาจารย์ไปเที่ยวสยามตั้งแต่เด็กๆ พาไปเรียนเย็บผ้าด้วยจักรคอมพิวเตอร์ที่ปักลวดลายได้หลากหลายมาก ซึ่งถือว่าทันสมัยมากในสมัยก่อน อาจารย์ได้ส่วนผสมของบุคคลทั้งสี่ท่านมา คือชอบวิทยาศาสตร์ ชอบคิดค้น แต่ก็ชอบงานศิลปะ ชอบสร้างของสวยงาม ทำงานสิ่งทอเหมือนกับคุณยาย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนด้านสิ่งทอเหมือนกับน้าตุ๊ก

บุคคลผู้นำทางชีวิตท่านที่สามคือในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่ได้มีโอกาสอาสาช่วยงานที่มูลนิธิชัยพัฒนาทำให้ได้เรียนรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาจารย์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงช่วยเหลือพสกนิกรทั่วประเทศ เป็นงานที่อาจารย์ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการนำปรัชญาที่ท่านพระราชทานให้กับประชาชนมาใช้จริงทั้งกับชุมชนและกับตัวเอง”

Junichi Arai เซนเซผู้เป็นแรงบันดาลใจ

“คนที่มีอิทธิพลกับพี่ในด้านออกแบบและความคิดสร้างสรรค์คือ Junichi Arai ท่านเป็น Sensei ชาวญี่ปุ่น ที่อยู่ในยุคเริ่มต้นของ Issey Miyake เมื่อก่อน Issey Miyake จะทำคอลเล็กชั่นอะไรขึ้นมา จะมาหา Arai Sensei เพื่อให้ออกแบบผ้าให้ แล้ว Issey ก็จะเอาผ้าของเขาไปทำคอลเล็กชั่น ที่บ้านของ Arai Sensei ก็จะมีผ้ากองๆ อยู่ตามที่ต่างๆ อยู่ในลังบ้างอะไรบ้าง เหมือนไม่มีค่าแต่จริงๆ แล้วเป็นผ้าต้นแบบของคอลเล็กชั่นที่ดังไปทั่วโลกแล้วมากมาย อาจารย์ชื่นชมเขามาตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่มิชิแกน จนเรียนจบแล้ว ทาง Japan Foundation ก็เชิญอาจารย์ไปแสดงงานญี่ปุ่น ตอนนั้นทาง Japan Foundation เขาก็ถามว่าไปญี่ปุ่นอยากเจอใครที่สุด เขาจะนัดให้และพาไปเจอ อาจารย์ก็บอกว่าอยากเจอ Junichi Arai ที่สุด เขาก็นัดให้และพาพี่หาที่บ้านเลยเพราะ Arai Sensei เป็นคนทำงานที่บ้าน บ้านของเขาก็คือสตูดิโอของเขา เขาพาไปดูให้เห็นว่าเขาอยู่อย่างไร ชีวิตเขาเรียบง่ายมาก เขามีห้องแล็ปเล็กๆ เอาไว้ทำงาน ต้มผ้า ใส่สารเคมีอันนั้นอันนี้ มัดผ้า ย้อมผ้า แล้วก็มีส่วนที่อยู่อาศัยที่กลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งการมีชีวิตของเขาก็คืองาน และงานของเขาก็คือชีวิตของเขา และอาจารย์ประทับใจมากว่า จริงๆ เขาดังมากนะ แต่เขาอยู่กับภรรยาอย่างสมถะในบ้านหลังเล็กๆ อาจารย์ได้รับอิทธิพลมาจากเขาอย่างเต็มที่ในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกัน งานของอาจารย์กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน อาจารย์ทำงานทุกวันแต่ก็รู้สึกว่าได้พักผ่อนทุกวันด้วย บ้านของอาจารย์ก็คือที่ทำงาน ที่ทำงานก็คือบ้าน work is play and play is work. น่าเศร้ามากที่ Arai Sensei เสียชีวิตแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2560”

ความหวังคือพลังใจ

“โชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานกับชุนที่หลากหลาย ได้เห็นความความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ที่เริ่มโครงการคิดดี ซึ่งตั้งกันเองกับเพื่อนๆ หลายๆ คน หลายปีมาแล้ว ทำงานกับกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกค้ามนุษย์ เป็นผู้เสียหายต้องรอขึ้นศาล ระหว่างรอให้คดีความปิด เด็กๆ จะมาอยู่ในความคุ้มครองของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ โดยเด็กที่มาไม่ใช่เฉพาะเด็กไทย จะมีเด็กๆ จากประเทศ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่เขาโดนหลอกมาขายบริการ โดยตอนแรกจะโดนหลอกว่าให้มาทำงานเสิร์ฟอาหารก่อน อาจารย์กับเพื่อนๆ ไปสอนพวกเขาเย็บกระเป๋า เย็บหมวก ซึ่งการทำงานหัตถกรรมเหล่านี้ก็ถือเป็นศิลปะบำบัดอย่างหนึ่งได้ พวกเรานำผลิตภัณฑ์ไปขายให้เขา นำรายได้กลับมาให้เขาทั้งหมด จนเมื่อวันหนึ่งที่คดีปิดและเขาได้กลับประเทศ เขาก็มาบอกขอบคุณ เพราะเขามีเงินกลับบ้านหลายพัน หลายหมื่น ซึ่งเขาบอกว่า เขาจะกลับไปสอนเพื่อนที่บ้านเกิดให้เย็บตุ๊กตา เย็บกระเป๋าแบบที่เราสอน จะได้ไม่ต้องมาขายบริการ ทำให้รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ได้ส่งผลให้คนแค่คนเดียว แต่ขยายผลไปไกลกว่าที่เราคิดมาก มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ขณะที่เราให้ความรู้กับเขา เขาให้อะไรเรากลับมารู้ไหม เขาให้ความหวังกับเรา ทำให้เรารู้ว่าโลกนี้มีหวัง และความหวังนี่แหละคือพลังใจที่ทำให้อยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเขาทำไม่สำเร็จ อาจารย์ก็ไม่มีแรงทำงานต่อนะ แต่ถ้าเขาชีวิตดีงาม ไม่ต้องไปทำงานแย่ๆ ไม่ต้องเป็นหนี้ มีสตางค์ไปใช้หนี้ มีชีวิตที่ดี นี่เป็นแรงใจให้อาจารย์มีชีวิตอยู่เพื่อทำงานต่อไป”

ภาพ: Saran Sangnampetch, Jarupatcha Achavasmit, AUSARA SURFACE
อ้างอิง: www.ausarasurface.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles