Mona Caron เป็นศิลปินชาวสวิสจากซานฟรานซิสโกที่ทำงานศิลปะฝาผนังขนาดใหญ่ (mural art) มาตั้งแต่ปี 1998 และเป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า ศิลปะของเธอมักเป็นรูป ‘วัชพืช’ ชนิดต่างๆ ที่ขึ้นตามทางเท้า พื้นที่ปูด้วยก้อนอิฐ ผืนดินแห้งแล้ง หรือพูดง่ายๆ คือ พืชที่เติบโตขึ้นมาเองท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่น่ามีอะไรงอกเงยขึ้นมาได้ แต่… พวกมันก็ทำได้
ล่าสุด ใน Mumbai Urban Art Festival ปีนี้ Mona เข้าไปเพนต์ผนังอาคารที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในย่าน Lower Parel ของมุมไบ เป็นรูปวัชพืช 4 ชนิดที่พบได้ตามท้องถนนทั่วไปในอินเดีย คือ Kurdu, Takla, Chota kalpa และ Kantakari โดยพืชทั้ง 4 นี้เหมือนจะเป็นวัชพืชไร้ค่าที่ขึ้นเกะกะตามถนนหนทาง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยา เช่น Chota kalpa ที่สามารถลดอาการอักเสบ ลดไข้ และขับปัสสาวะ
จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ชิ้นนี้ของ Mona จึงเป็นอีกครั้งที่เสมือนการยกย่อง ‘วัชพืช’ ที่ดูเหมือนไร้ค่า แต่กลับมีคุณค่าในตัว และยังเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรท้องถิ่นผ่านงานศิลปะอีกด้วย
นอกจากนั้น การที่ผลงานของเธอไปปรากฏอยู่บนผนังอาคารที่ ‘ชนชั้นรากหญ้า’ อาศัยอยู่ ก็ยิ่งเป็นการเปรียบเทียบและให้กำลังใจว่า ถึงจะอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมที่ยากลำบาก แต่พวกเราหลายคนก็เหมือนพืชเหล่านั้น ที่สามาถฝ่าฟันอุปสรรคจนงอกเงยขึ้นมาจากรอยแตกของก้อนอิฐบนพื้นได้
ที่สำคัญ แม้บางคนจะมองไม่เห็นคุณค่าของเรา แต่เรารู้ดีว่าเรามีคุณค่าในตัวเองอย่างไรบ้าง
Photos courtesy of Mona Caron / St+art India
ที่มา: monacaron.com , facebook.com/startindia , facebook.com/mona.caron