Música para Despertar เพิ่มความสุขและบรรเทาอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยเสียงดนตรี

ปัจจุบันนี้ มีประชากรราว 1.4 ล้านคนในสเปน และกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม แม้การใช้ยาจะช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงและยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปรกติ ทว่าการรักษารูปแบบดังกล่าวก็ทำได้เพียงแค่ชั่วคราว มีค่าใช้จ่ายที่สูง มีผลข้างเคียง และไม่หายขาดได้อย่างโรคอื่นๆ

ในขณะที่สมองของผู้ป่วยค่อยๆ เสื่อมลงโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อีก แต่สิ่งน่าสนใจประการหนึ่งจากข้อมูลทางประสาทวิทยาก็คือ ความทรงจำด้านดนตรีของพวกเขาจะยังคงอยู่แม้กระทั่งในระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Música para Despertar ที่ก่อตั้งและกำกับดูแลโดย Pepe Olmedo ศิษย์เก่าสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยกรานาดา (University of Granada) และเป็นโปรเจ็กต์ต่อเนื่องจากงานอาสาภายในบ้านพักคนชรา Cáxar de la Vega ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่และครอบครัว ใช้เป็นแก่นในการทำงานของพวกเขา  

Música para Despertar ประกอบไปด้วยเหล่ามดงานอย่าง Pepe Olmedo นักจิตวิทยาและนักดนตรี, Aarón Rodríguez นักดนตรีบำบัด, Mar Olmedo นักประสาทวิทยา, Javier Hernández เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร, María Olmedo ช่างภาพ วิดีโอ และผู้ดูแลฝั่งโซเชียลมีเดีย และ Zenaida Rodríguez นักจิตวิทยาและโค้ชด้านความฉลาดด้านอารมณ์ พวกเขานำเอาดนตรีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความเจ็บปวด ความตึงเครียด ความวิตกกังวล อารมณ์หดหู่ และก้าวร้าว ในเวลาเดียวกัน ท่วงทำนองของเสียงเพลงที่ผู้ป่วยคุ้นเคยยังช่วยปรับระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนถึงลดระดับฮอร์โมน Cortisol หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูความเสื่อมสภาพของการทำงานภายในสมองของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมและสั่งการไปยังระบบต่างๆ ของร่างกาย

ที่นี่ออกแบบทั้งออนไซต์และออนไลน์โปรแกรมในการนำเสียงดนตรีมาใช้เพื่อบำบัดผู้ป่วย ซึ่งโปรแกรมต่างๆ จะเปิดกว้างให้กับผู้สนใจ ตั้งแต่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว เหล่าอาสาสมัครในบ้านพักคนชรา รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการนำวิธีการนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา โดยรายได้หลักขององค์กรจะมาจากการสนับสนุนพวกเขาผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้น การระดมทุน ไปจนถึงการเปิดรับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์

เพราะทุกๆ 3 วินาที จะมีผู้ป่วย 1 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวสูงถึง 135 ล้านคน นี่จึงเป็นหมุดหมายของ Música para Despertar ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเตรียมความพร้อม ด้วยการส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ผู้คนมากเท่าที่พวกเขาจะทำได้ เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้มีความรู้และทักษะที่มีประสิทธิภาพมากพอสำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

“ผู้ป่วยอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมจะลืมทุกสิ่งในชีวิต แต่จะจดจำเสียงเพลงของพวกเขาได้ ในระหว่างการฟังเสียงดนตรีผ่านเฮดโฟน ร่างกายและสมองของผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้งานได้ชั่วขณะ ความทรงจำในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะย้อนกลับมา ได้สัมผัสและรู้สึกถึงความรักและอบอุ่นในใจที่ลบเลือนไป ได้กลับสู่ที่ชีวิตเคยเป็นอีกครั้ง”

 

อ้างอิง: www.musicaparadespertar.org

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles