บ้านแถวขนาดย่อมในลอนดอน ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยแต่คือการออกแบบวิถีชีวิตของผู้ใช้งาน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การปฏิสัมพันธ์ในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกัน มันช่วยทำให้เกิดความแข็งแรงในแต่ละชุมชน ก่อเกิดการร่วมมือ สร้างความช่วยเหลือของผู้คนในสังคมตั้งแต่หน่วยย่อยจนภาพใหญ่ สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม ประเด็นชวนให้ฉุกคิดเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของชุมชน เป็นสิ่งที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ แต่มันถูกแสดงออกผ่านส่วนไหนของสถาปัตยกรรมได้บ้าง

อีกกลวิธี อาจจะอยู่แค่ประเด็นเล็กน้อย แต่จุดให้เกิดความยิ่งใหญ่ได้ อย่างการเลือกใช้เฉลียงหน้าบ้านให้สังคมได้สื่อสารกันที่บ้านแถวในลอนดอน ย่านนิวแฮม สหราชอาณาจักร บนที่ดินรูปตัว L Peter Barber Architects  สำนักงานสถาปนิกจากลอนดอน ได้รับโครงการออกแบบบ้านแถวขนาดย่อม จำนวน 6 หลังมาออกแบบพร้อมโจทย์ข้างต้น ตัวบ้านแต่ละหลังมีความสูง 3 ชั้น จุดสะดุดตาคือผนังภายนอกกรุด้วยอิฐ ทำให้ขับเน้นความชัดของยุควิคตอเรียน ที่นิยมอิฐเปลือยในการก่อสร้าง ความน่าสนใจของการแก้ปัญหางานนี้คือการที่ปลายดินมีส่วนยื่นไปด้านหลังที่ดิน มันอาจจะถูกออกแบบให้มีบ้าน 7 หลังแทนแบบนี้ก็ย่อมได้ แต่บ้านแต่ละหลังต้องมีที่จอดรถ ทางออกคือการเจาะทางเข้าโค้งใต้บ้านหลังแรกให้รถเข้าออกได้ แล้วเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบ้านหลังแรก ทำให้รูปด้านหน้ามีความน่าสนใจจากการแก้ปัญหา โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สูงสุด

สิ่งที่สถาปนิกสนใจคือให้ผู้อาศัยมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกบ้าน จึงออกแบบให้หน้าบ้านถอยไปจากถนน เพื่อเกิดเฉลียงพร้อมสวนขนาดเล็กที่หน้าบ้าน แทนที่จะอยู่หลังบ้านแบบทั่วไป ทางเข้าออกแบบให้เป็นช่องอิฐเปลือยโค้งจนเกิดร่มเงาชวนให้นั่งสำหรับจิบกาแฟยามเช้า นั่งพูดคุยกัน โดยที่ภายในบ้านออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างสมเหตุสมผล

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ไม่ใช่เพียงออกแบบสิ่งก่อสร้าง แต่มันคือการออกแบบวิถีชีวิตของผู้เข้าใช้งานด้วยเช่นกัน

 

 

อ้างอิง: www.peterbarberarchitects.comwww.dezeen.compopupcity.net

Tags

Tags:

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles