Donnybrook Quarter บ้านพักอาศัยแบบมีพื้นที่สีเขียวร่วมกันในพื้นที่จำกัดในลอนดอน

คำตอบสำหรับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา ยิ่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของคนเมืองก็มีรูปแบบหลากหลายมาก สาเหตุเพราะโจทย์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่มันกลับเป็นความท้าทายของสถาปนิกในการหาคำตอบใหม่เสมอ

ในปี 2007 ด้านตะวันออกของลอนดอน ย่านอีเด็นเวย์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นย่านพักอาศัยที่มีความหนาแน่น ลักษณะแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นบ้านเรือนที่ขึ้นไม่สูงนัก ราว 3-4 ชั้น ส่วนใหญ่เป็นแฟลต ซึ่งปัญหาของอาคารพักอาศัยประเภทนี้คือขาดพื้นที่สีเขียวไว้หย่อนใจในตัวบ้าน ในทางจิตวิทยาการออกแบบแล้ว ต้นไม้ สวน มีส่วนช่วยให้ผู้อาศัยสามารถลดความเครียดลงได้

จากโจทย์นี้ สำนักงานสถาปนิก Peter Barber Architects ได้เสนออีกคำตอบที่งาน Donnybrook Quarter ส่วนสำคัญของมันคือการแชร์สวนร่วมกันในหน่วยย่อยของแฟลต หากเป็นการออกแบบแนวที่ต้องการความคุ้มทุนสูงสุด แฟลตจะเป็นทางเดินกลางยาวเชื่อมทุกห้องในแต่ละชั้น แต่สำหรับงานนี้มันเริ่มจากการวางผังให้เป็นจัตุรัสรูปตัว T ขนาดย่อมผ่ากลางโครงการ ก่อเกิดถนนรวมที่ใช่ร่วมทั้งโครงการ การออกแบบให้กระจายอาคารเป็น 3 กลุ่ม ช่วยลดความอึดอัดลงได้มาก จากลานรูปตัว T จึงเข้าไปยังบ้านแต่ละหน่วยย่อยทั้งสาม ทุกหน่วยจะเดินเข้าบ้านโดยตรงจากถนน  บ้านแต่ละหลังมีประตูหน้าที่เข้าหาสวน ก่อเกิดพื้นที่สีเขียวที่แชร์กันทางสายตาอย่างต่อเนื่อง หากหน่วยไหนไม่มีสวนติดดิน ก็จะมีพื้นที่ระเบียงที่หน้าบ้านของตัวเอง พื้นที่สวนแต่ละหลังถูกออกแบบให้มีความลื่นไหล เชื่อมทางสายตาเข้าหากันได้

หากว่าในอนาคต ประชากรจะหนาแน่นกว่านี้ก็ตาม พื้นที่สำหรับหายใจให้บ้านของทุกคนมีชีวิตชีวาก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบใหม่ให้เหมาะกับยุคสมัยเสมอ

  

อ้างอิง: www.peterbarberarchitects.com,architizer.com/projects, www.archilovers.compopupcity.net

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles