Urban Village Project ที่อยู่อาศัยมีชีวิต ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน คุ้มค่าราคาจ่าย

แม้ว่ามนุษยชาติจะมีเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่ในอีกหลายมุมโลกยังมีวิกฤติด้านที่อยู่อาศัยเสมอ  ทั้งจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรุกคืบของเมืองอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ปัญหาของประชากรสูงวัย ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร ประเด็นเหล่านี้ทำให้ประชากรโลกยังขาดคุณภาพชีวิตที่ดีในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่ถ้ามองในแง่ที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

คำตอบนี้สามารถใช้ศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยได้ อย่างกรณีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยยุคใหม่ที่มีแนวคิดให้บ้านเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ราคาที่คุ้มค่าจะจ่าย จากฝีมือการวิจัยของ SPACE10 หรือ IKEA’s global research and design lab และออกแบบโดย EFFEKT Architects ให้กลายเป็นโครงการนำร่องที่พักอาศัยแบบใหม่ของศตวรรษนี้ในชื่อว่า ‘Urban Village Project’ การพัฒนาที่น่าสนใจของโครงการนี้คือการคิด 2 ส่วน

ส่วนแรกคือประเด็นการคิดถึงเรื่องความง่ายในการเข้าถึงบ้าน ทำบ้านให้มีราคาเหมาะสม ไม่สูง มีคุณภาพที่ดี วัสดุมีขนาดไม่ใหญ่โตมากจนขนส่งด้วยรถกระบะขนาดเล็ก ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตได้จำนวนในระบบอุตสาหกรรมจนราคาถูกลงได้

ส่วนที่สองคือการออกแบบ ตัวบ้านถูกออกแบบให้เป็นหน่วยย่อยที่ประสานทางพิกัดหรือ Modular เริ่มตั้งแต่การใช้โครงสร้างที่เป็นไม้แบบท่อนทำจากการประกบหรือ laminated timber มันทำจากไม้ชิ้นเล็กจนกลายเป็นชิ้นใหญ่เป็นโครงสร้างได้ ทำให้ลดการตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมาก แต่ใช้ไม้โตเร็วจากอุตสาหกรรมป่าปลูกได้ การใช้โครงสร้างระบบนี้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ลดราคาจากค่าแรง เน้นระบบแห้ง ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรกว่าระบบเปียก แล้วมันยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย แนวทางการออกแบบมีความยืดหยุ่นสูง ให้รองรับวิถีชีวิตตามแต่ละครอบครัว เราสามารถเลือกเปลือกภายนอกตามการใช้สอยภายใน ทั้งการเลือกหน้าต่าง แผงบังแดด กระบะต้นไม้ ผนังไม้เลื้อย ในความเรียบง่ายของบ้าน แต่การออกแบบยังรองรับไปถึงการใช้อุปกรณ์อาคารต่าง ๆ ให้รองรับความทันสมัยจากเทคโนโลยีอีกเช่นกัน

และนอกจากนี้ ยังคิดถึงการออกแบบให้หลายหน่วยต่อเข้ากันจนเป็นชุมชนหลายขนาด ทั้งแบบแนวราบสูงไม่มาก จนต่อในแนวดิ่งจนเป็นที่พักอาศัยแนวดิ่ง ทรัพยากรบนโลกอาจจะมีน้อยลง แต่ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักแบ่งปัน มันเหลือพอกับทุกคนแน่นอน

อ้างอิง: www.effekt.dk, space10.iopopupcity.net

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles