Refill Station ตู้รีฟิลผลิตภัณฑ์จากยูนิลีเวอร์ ช่วยลดขยะ จ่ายน้อยกว่า ตอบโจทย์สายกรีน 

ผู้บริโภควันนี้มีความตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนและทุกคนสามารถลงมือทำได้ง่ายและทันที เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม 3 เทรนด์ที่ไม่ทำนับว่าตกกระแส คือ  Reduce เทรนด์การลดใช้ถุงพลาสติก, Reuse การเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ และ Recycle การนำวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกลับมาเป็นสินค้าใหม่

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเทรนด์ที่ก็มากับเขาด้วย และมีการนำไปปรับใช้จริงในหลากหลายธุรกิจที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็คือ Refill การนำบรรจุภัณฑ์เก่ากลับมาเติมเพื่อสินค้าใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก

ก่อนหน้านี้เราเห็นผลิตภัณฑ์น้ำยาจากธรรมชาติโดยผู้ผลิตรายย่อย ออกตัวนำไปหนึ่งก้าวด้วยจุดเติมน้ำยาในร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกมาบ้างแล้ว ถึงวันนี้เราได้เห็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก ส่งเสริมการลดขยะพลาสติกผ่านรูปแบบการให้บริการ Refill บ้าง ก็คือ Unilever เจ้าของสินค้ามากมายที่แทบทุกบ้านต้องมีอย่างน้อยก็หนึ่งแบรนด์ ได้นำเสนอวิธีใหม่ในการเลือกซื้อ เลือกใช้ และนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้แก่ลูกค้า ด้วยโมเดล Refill Station ที่ได้ทดลองทำไปแล้วในหลายประเทศ

อย่างในประเทศไทยเอง ก็ได้ติดตั้งตู้นี้ไว้ที่ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต กับสินค้าน้ำยาปรับผ้านุ่มแบรนด์หนึ่ง โดยให้ผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มเดิมที่ทำความสะอาดแล้วขนาดตั้งแต่ 1 ลิตรขึ้นไป มาเติมผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มจากตู้ Refill Station ได้ด้วยตนเอง ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เติม-ติดบาร์โค้ด แล้วจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ก็เสร็จเรียบร้อย ซึ่งสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับคือประหยัดถึง 30 % เพราะผลิตภัณฑ์แบบ Refill จะมีราคาที่ถูกกว่าจากการลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดปริมาณพลาสติกได้อีกด้วย ตอบโจทย์ผู้บริโภคสายกรีนที่ต้องการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันให้แคร์โลกมากขึ้น

โมเดล Refill Station ของสินค้าในเครือนี้ เริ่มต้นที่  Asda ในเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ และประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ซึ่ง Unilever ได้ขยายผลไปประเทศต่างๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับวิถีของประเทศนั้นๆ เช่น ในอินเดีย ใช้ชื่อว่า Smart Fill ผู้ใช้จะเอาบรรจุภัณฑ์อะไรก็ได้มาเติม ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

และจากการสำรวจเทรนด์ในประเทศไทย ก็พบว่า 73% ของเทรนด์รักษ์โลกของผู้บริโภคชาวไทยก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่นเลย ผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 72% ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวัน Refill Station จึงเกิดขึ้นให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้ใช้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างรวดเร็ว และได้ผลตอบรับที่ดีเช่นกัน

เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการรีฟิลกำลังได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในกลุ่มคนยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบมาจากการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์ของมนุษย์  ผู้บริโภคกลุ่มนี้คาดหวังว่าผู้ผลิตสินค้าจะมีการพัฒนาสินค้าที่มุ่งเน้นในด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากจะต้องจ่ายแพงกว่า พวกเขาก็พร้อมเปย์และปรับตัว อ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ ซึ่งถ้าโมเดลตู้ Refill Station ได้การตอบรับจากผู้บริโภคดี ก็แน่นอนว่าจะมีการขยายผลไปให้ทั่วประเทศและทั่วโลก และพัฒนาโซลูชั่นที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น รถ Refill Station และเชื่อว่าเราจะได้เห็นแบรนด์สินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุปโภคบริโภคหลายแบรนด์หันมาขายสินค้าผ่านการ Refill มากขึ้น

แม้เราจะเลี่ยงไม่ใช้พลาสติกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะใช้ให้น้อยลงได้ และเมื่อผู้บริโภคและผู้ผลิตร่วมมือกันลดการใช้พลาสติกอย่างนี้ โลกเราน่าจะยังมีความหวังที่ปัญหาขยะพลาสติกหมดไปเสียที

อ้างอิง: www.unilever.co.th, www.brandbuffet.in.th, packagingeurope.com, www.centralretail.com, campaignbriefasia.com

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles