อรุณี อธิภาพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง AriAround มุ่งสร้างสังคมแห่งความใจดีและอารีต่อกัน 

‘อารีย์’ ถือเป็นอีกหนึ่งในย่านของกรุงเทพฯ มีเสน่ห์และอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งการเป็นย่านทีมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานที่น่าสนใจ เป็นจุดศูนย์รวมอาคารหน่วยงานราชการและสำนักงานบริษัทชั้นนำของไทย เป็นถิ่นฐานของข้าราชการและผู้ดีในอดีต เป็นย่านพักอาศัยของกลุ่มหนุ่นสาวในวัยทำงาน ตลอดจนเป็นแหล่งรวมธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ คอมมูนิตี้มอลล์ โดยย่านที่ทั้งเก่าแก่แต่ร่วมสมัยแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มคนทำงานนามว่า ‘AriAround’ กลุ่มอาสาที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการมุ่งทำให้ความเอื้ออารีเกิดขึ้นในชุมชมที่เป็นบ้านของพวกเขาแห่งนี้ เรานัดกับ อรุ – อรุณี อธิภาพงศ์ หัวหอกสำคัญของแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่ว่าเพื่อพูดถึงถึงที่มาที่ไป เป้าหมาย ภารกิจ และความท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไปจนถึงความฝันที่กลุ่มคนเล็กๆ แต่หัวใจใหญ่เหล่านี้อยากให้ได้และไปให้ถึงกัน

จุดก่อร่างสร้างความอารี 

“จริงๆ เราเริ่มคุยเรื่อง AriAround มาตั้งแต่ปี 2020 เวลานั้นมีการจัดงาน Bangkok Design Week ปีแรกที่อารีย์ เราเห็นทีมออกแบบ Cloudfloor มีการยกประเด็นเรื่องขยะรีไซเคิล แนวคิดลดขยะเหลือศูนย์ขึ้นมา ซึ่งเราสนใจมาก แต่ในพื้นที่จัดงานเวลานั้นยังเป็นลักษณะการนำเสนอแบบให้ข้อมูลและกิจกรรมซึ่งยังเป็นคอนเซ็ปต์ เรารู้สึกเสียดายที่ความคิดดีๆ แบบนี้ไม่ได้ต่อยอดเพิ่มเติมหลังงานจบ เลยมาคุยกับ ตุ้ย – ธิดารัตน์ ไทยานนท์ ซึ่งทำโปรเจ็กต์ใน Bangkok Design Week อยู่แล้ว ว่าเราอยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นโครงการเพื่อย่านอารีย์อย่างแท้จริง เป็นโครงการแบบระยะยาวและเป็นรูปธรรม จากจุดเริ่มต้นที่มีเราและตุ้ย ก็เริ่มมีการรวบรวมสมาชิกที่ดึงมาช่วยงานเกิดขึ้น ซึ่งบังเอิญว่าคนที่เราชวนมาร่วมงานอยู่ในย่านอารีย์ เมื่อทุกคนตกลง ปี 2021 จึงได้เริ่ม AriAround แบบจริงๆ จังๆ โดยเปิดตัวในงาน Bangkok Design Week ของปีนั้น จากความที่อยากเห็นความเป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์ มีความเอื้อเฟื้อ ถอยทีถ้อยอาศัย และโอบอ้อมอารี

“ชื่อของ ‘AriAround’ มาจากคำว่า ‘อารีอารอบ’ ซึ่งเป็นกิมมิกของการเล่นคำที่เราทำงานกับย่านและเพื่อย่านอารีย์ โดยไปพ้องกับคำว่า ‘อารี’ ที่แปลว่า เอื้อเฟื้อ มีใจเผื่อแผ่ แสดงน้ำใจอันดีต่อผู้อื่น คือความใจดี ซึ่งเราอยากชวนผู้คนมาแลกเปลี่ยนความใจดีต่อกัน โดยโฟกัสไปที่ 3 เป้าหมายใหญ่ คือเรื่อง Zero Waste (ขยะเหลือศูนย์) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Community Connection (การเชื่อมโยงชุมชน) จริงๆ ตอนเริ่มต้น เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าโฟกัสไหนที่คนในย่านอยากมีส่วนร่วม จึงเริ่มจากการทำแบบสอบถามภายในชุมชนว่าพวกเขาเจอปัญหาเรื่องอะไรบ้างและเรื่องไหนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งปัญหา 3 อันดับแรก คือ การจัดการขยะ เรื่องทางเดินเท้า และการเชื่อมโยงกันของชุมชน ขณะที่เรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน อาจะไม่ใช่ท็อป 3 แต่พวกเรามองว่าก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญและน่าจะเข้าไปทำงานกับประเด็นที่ว่าด้วย พอฟีตแบคมาว่าคนอยากมีส่วนร่วม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน เราเลยเห็นแล้วว่าทิศทางของคนในย่านเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เราจึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน AriAround”

สมาชิกอาสาของ AriAround ประกอบขึ้นจากคนอารีย์ในหลากหลายสาขาอาชีพ เริ่มจากอรุและ ตุ้ย – ธิดารัตน์ ไทยานนท์ ที่แท็คทีมกันพัฒนา ‘AriCoin’ ขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวกลางของของการแลกเปลี่ยนความใจดีต่อกัน โดยมี หยก – ปิยพรรณ จรัญพงษ์ท์ เข้ามารวมตัวและทำหน้าที่ในการออกแบบส่วนต่างๆ ของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยสมาชิกอื่นๆ ยังรวมไปถึง นิ่ม – ณัฐนิช ชัยดี ที่อยากทำวารสารเพื่อบันทึกเรื่องราวของพื้นที่ให้ผู้คนโดยเฉพาะชาวอารีย์รู้จักย่านที่พวกเขาอาศัยอยู่ ใหม่ – นภัทร จาริตรบุตร ที่มีพื้นฐานและความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของย่าน พิม ภิรมย์ นักออกแบบ UI/UX ที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการสร้างประสบการณ์ ตลอดจนตัวแทนจากย่านสาธุประดิษฐ์ที่มาช่วยแชร์มุมมองต่ออนาคตของอารีย์ว่าควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอย่างเจง – ธารีรัตน์ เลาหะพรสวรรค์ ไปจนถึง โบ – ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิจัยที่ทำงานด้านบัญชีสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มแสนอารีที่ว่านี้ด้วย 

“ในมุมส่วนตัว สิ่งที่ตัวเราเองสนใจมากๆ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องการแยกขยะและการส่งให้วัสดุใช้แล้วไปมีชีวิตต่อ เพราะเรารู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งเวลาเห็นขยะทุกชนิดมารวมตัวกันในถังเดียว ทั้งๆ ที่ขยะหลายๆ ประเภทสามารถแยกออกมาเพื่อให้เขาไปมีชีวิตและทำประโยชน์ต่อได้ โดยไม่ต้องไปทำลายปิโตเลียม ไม่ต้องไปขุดเพื่อเอาออกมาใช้อีก แล้วจริงๆ พลาสติกไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพียงแต่เราจะต้องมีที่ให้เขาไปต่อ”

ส่งต่อความใจดีผ่านเหรียญอารี 

AriAround เริ่มต้นเฟสแรกด้วยการพัฒนา ‘AriCoin’ หรือ ‘เหรียญอารี’ ที่ทางแอปพลิเคชันจะมอบเหรียญก้นถุงให้กับผู้ที่ดาวน์โหลด ขณะที่ผู้ใช้งานเองก็ยังสามารถสะสมเหรียญเพิ่มเติมได้จากการนำเอาความใจดีมากแลก โดยถูกแยกออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ความใจดีต่อสิ่งแวดล้อมและใจดีต่อผู้คนในชุมชน เมื่อมี AriCoin ในกระเป๋าแล้ว ผู้ใช้จะสามารถนำเหรียญที่สะสมไว้ไปแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ รวมทั้งองค์ความรู้จากเหล่าพาร์ทเนอร์ได้ต่อไป 

“ไอเดียของ AriCoin ส่วนหนึ่งประกอบขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่เราออกเดินทาง เพราะไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ แล้ว ซึ่งเรามีโอกาสได้ไปอยู่ต่างประเทศมาพักหนึ่ง ได้เห็นความเป็นไปของชุมชนของที่นั่นที่มีการจัดการเรื่อง Zero Waste กันแบบเข้มข้นสุดๆ อย่างการเลือกเดินทางด้วยการปั่นจักรยานอย่างเดียวโดยไม่ใช่พาหนะที่ต้องเติมเชื้อเพลิง การมีสวนผักชุมชนซึ่งจะเป็นการขออนุญาตนำพื้นที่ว่างของสนามหญ้าที่เจ้าของบ้านที่ไม่ได้ใช้งานมาทำเป็นแปลงผักผลไม้ โดยที่สมาชิกในชุมชนสามารถมาร่วมปลูกและแบ่งปันผลผลิตให้กับเจ้าของบ้านและคนในชุมชนได้ทาน หรือการทำห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือให้ยืม แต่สามารถยืมของได้ทุกอย่างในนั้น และจะมีค่าตอบแทนเป็นอาหารที่แปะป้ายว่าหมดอายุแล้วในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่จริงๆ แล้วยังทานได้อยู่ พอได้ไปอยู่ในชุมชนที่มีแนวคิดแบบนั้น เราประทับใจมากถึงขั้นเก็บมาอยู่ในใจ แล้วพอได้ทำ AriAround เราจึงโยนไอเดียนี้ออกมาด้วย เพราะเห็นโอกาสตรงนั้น โดยไอเดียนั้นคือ AriCoin นี่แหละ เราอยากใช้เพื่อเป็นตัวกลางในการดึงคนมามีส่วนร่วมและทำอะไรดีๆ ให้ชุมชนร่วมกัน

“ล่าสุด เราทำโครงการที่ร้าน Yellow Lane โดยรับขวด PET กระป๋องอะลูมิเนียม และหนังสือที่ส่งต่อได้ สำหรับหนังสือ เราอยากรวบรวมเพื่อนำไปทำเป็นห้องสมุดของย่านซึ่งกำลังสะสมให้มากพออยู่ ส่วนขวดและกระป๋อง เราจะนำไปส่งต่อในที่ที่ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลจริงๆ และถูกต้องตามกระบวนการ สำหรับคนที่เข้าร่วมนำขยะหรือหนังสือมาบริจาค พวกเขาจะได้ AriCoin กลับไป ซึ่งเมื่อผู้ใช้นำไปแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ของพาร์ทเนอร์ในเครือข่าย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้คนได้รู้จักย่านลึกขึ้นว่ามีร้านนี้ขายและให้บริการสิ่งนี้อยู่นะ ได้รู้ว่าพี่คนนี้มีความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้และพร้อมแบ่งปัน พวกเขาจะไม่ไปกระจุกเพียงที่ใดที่หนึ่ง เอาจริงๆ แม้แต่ทีมของเราที่อยู่อารีย์มานานแล้ว ยังไม่รู้เลยว่ามีร้านบางร้านอยู่ที่นี่ ซึ่งผลที่ตามมาคือคนในย่านจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และยังเป็นการเชื่อมโยงคนในย่านและนอกย่านมาทำความรู้จักกันได้ด้วย

“อาจเพราะเรามองเห็นบรรยากาศว่าคนเมืองมีความเหงาเมือง ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งเราเคยเห็นชุมชนที่เขามี Potluck Dinner (วัฒนธรรมการนำอาหารที่ทำมาเองจากบ้านมาทานร่วมกัน) ทุกสัปดาห์ หรือการได้เห็นคนที่มีความชอบคล้ายๆ กัน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่มีโอกาสได้มาทำอะไรในสิ่งที่ชอบร่วมกันได้ จนนำไปสู่การสานสัมพันธ์และสร้างสรรค์เกิดขึ้น พอเราเคยเห็นบรรยากาศของการรู้จักกันผ่านกิจกรรมอะไรแบบนั้นก็รู้สึกมีความสุข และอยากให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนลักษณะเดียวกันนี้ในระแวกบ้านของเราเอง รวมไปถึงอยากให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงเสียงว่าเราต้องการอะไร โดยการให้ประชาชนเป็นคนนำ จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์คือเราอยากมีชีวิตที่ดีในเมือง ไม่ต้องทุกข์ทนทรมานจนอยากจะหนีไปที่อื่น”

 

สำรวจ-พิทักษ์-พัฒนา พื้นที่ป่าในเมือง

นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องการจัดการขยะและการเชื่อมต่อชุมชนคนอารีย์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เล่ามาแล้ว อรุและสมาชิกใน AriAround ยังทำงานในมิติอื่นอย่างเรื่องพื้นที่สีเขียวในย่านด้วยเช่นกัน โดยกิจกรรมเชิงนิเวศนั้นมีชื่อว่า ‘Ari Eco Walk’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์คือเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในระแวกย่าน

“โครงการนี้มาจากความตั้งใจของ บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา หนึ่งในสมาชิกอาสาของ AriAround โดยเขาเป็นผู้นำกิจกรรมนี้มาตั้งแต่วันแรกจนปัจจุบัน สำหรับทริปการเดินสำรวจนี้เกิดจากการที่บาสแค่อยากมาเดินเล่นในช่วงโควิดจนกลายเป็นกิจกรรมจัดขึ้นเป็นประจำ ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ถึงตอนนี้ก็ 2 ปีกว่าแล้ว ความตั้งใจของการจัด Ari Eco Walk คือการชวนคนเมืองไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ทั้งต้นไม้หลากหลายชนิดที่เติบโตขึ้นตรงนี้ พื้นที่สีเขียวที่ซ่อนอยู่ในย่าน ไปเรียนรู้และทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างนก แมลง กระรอก

“ผลลัพธ์จากการเดินแต่ละครั้ง นอกจากจะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการเดินเท้าเพื่อสำรวจสิ่งที่มีอยู่ในอารีย์และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งบางแห่งเราเองก็พบจากการกิจกรรมนี้ Eco Walk ยังทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้นด้วย และอีกสิ่งที่พวกเรา AriAround ภูมิใจมากๆ คือการเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวรอบบึงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราได้ไปเจอพื้นที่นี้จากการทำ Ari Eco Walk ครั้งแรก และบังเอิญได้พบกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ จนทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกนำไปทำเป็นเส้นทางวิ่ง ในขณะที่พวกเรามองว่า ที่นั่นเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมืองที่ยังมีต้นไม้ล้อมรอบ มีบึง และสัตว์ต่างๆ มากมายอาศัยอยู่ ถือว่าเป็นจุดที่มีระบบนิเวศค่อนข้างสมบูรณ์ และสมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ เพราะถือเป็น hidden gem ของย่านเลยก็ว่าได้ เราใช้เวลา 13 เดือน ในการนำเสนอไปที่กระทรวงฯ ว่าพื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพมากแค่ไหน สามารถเป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กเข้าไปเรียนรู้ และหากเราอนุรักษ์ไว้จะเกิดผลดีอย่างไรต่อคนและสิ่งแวดล้อม

“ในระหว่าง 13 เดือน เราสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตลอด จนถึงช่วง Bangkok Design Week เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เราได้พบกับกลุ่มรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้พบกับพี่อ้อย – ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งพี่อ้อยเป็นเสมือนผู้เปิดทางให้เราได้ไปสื่อสารกับท่านอธิบดีกระทรวงทัรพย์ฯ คนใหม่โดยตรง และถือเป็นจังหวะที่โชคดีที่ท่านมีแนวคิดที่มองถึงโลกอนาคต นั่นจึงได้เกิดการฟังเสียงประชาชนจริงๆ ว่าต้องการอะไร เกิดกระบวนการให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในการจัดการพื้นที่บริเวณนั้นว่าสามารถเป็นไปได้มากกว่าลู่วิ่งนะ เราคิดว่ามหัศจรรย์มากว่างานนี้เริ่มจากการไปเดิน Eco Walk จนนำไปสู่การพูดคุยกับภาครัฐได้ และเขายอมฟัง ซึ่งสุดท้ายแม้เขาทำเป็นลู่วิ่งแต่ก็มีการดำรงพื้นที่เขียวและความสมบูรณ์ของธรรมชาติเอาไว้ด้วย ถือว่าเกิดการทำงานร่วมกันของภาครัฐและฝั่งประชาชนแบบแข็งขัน เช่น ตรงไหนเริ่มส่งผลต่อพื้นที่และเราสื่อสารไปยังกระทรวงฯ ก็จะได้รับฟีตแบคกลับมาให้เห็นเลย เช่น การเชิญกรมป่าไม้มาช่วยดู มาช่วยซ่อมรากต้นไม้ที่เสียหาย โดยตอนนี้ที่นี่เปิดเป็นพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปเดินสำรวจและพักผ่อนหย่อนใจได้แล้ว”

ปรับการมอง เปลี่ยนมุมคิด 

“จริงๆ อุปสรรคใหญ่ที่สุด คือตัวเรา ทั้งความรู้สึก ความคาดหวัง และความไม่รู้ ถ้าขยายความให้เห็นภาพคือพอทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่และเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นมาก่อน เราจะตกใจและยังทำอะไรไม่ถูกกับงานหลายอย่างที่ต้องทำ ขณะเดียวกัน พอเราเริ่มทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยความตั้งใจดี เราเองก็มีอีโก้นะว่า ‘เราตั้งใจดีนะ อยากให้คนอื่นตั้งใจดีด้วยเหมือนกัน’ ยิ่งเวลามาเจอว่ามีข้อจำกัดทำให้งานนี้ยังไปต่อไม่ได้อย่างที่เราคาดหวังไว้ เราก็จะรู้สึกเศร้าว่าทำไมทำแบบนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เรียนรู้ ปรับตัว และปรับวิธีคิดใหม่ ยิ่งต้องการทำงานกับพื้นที่ กับคน กับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ บางเรื่องที่เรามองว่าไม่เห็นยากเลย แต่เราเองก็ต้องเข้าใจคนอื่นด้วยเหมือนกันว่าในบทบาทหน้าที่ของเขา เขาทำอะไรได้บ้าง มีข้อจำกัดอะไร ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่ดีดนิ้วแล้วได้เลยแบบนั้น พอมีความเข้าใจมากขึ้น ความทุกข์ความเศร้าใจที่เคยมีก็เริ่มคลายลง

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไปต่อ คือกำลังใจ เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เวลาเพื่อนๆ มาแชร์ไอเดียและความรู้สึกระหว่างคนทำงาน ทุกคนจะเจอความยากหมด เราจะให้กำลังใจและปลอบใจกันว่าโอเคเราเหนื่อยแหละ แต่เราทำกันต่อนะ เพราะเรายังมีความหวังว่าสิ่งที่เราทำเป็นไปได้ สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นในย่าน ในเมือง ในประเทศเราได้ เวลานี้เราจึงทำงานด้วยความพอดี ทำไปในจังหวะที่มันเหมาะกับทุกคนที่อยู่ในนิเวศนี้

“เมื่อก่อนเรารู้จักแต่เพื่อนที่เรียนด้วยกันมา พอได้มาทำ AriAround ทำให้เราได้พบความงอกเงยแบบไม่หยุดเลย ได้เจอความสัมพันธ์ที่ดีมาก เริ่มจากทีมที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ก็มาสนิทกัน รักกัน เป็นกัลยาณมิตรที่อยากจะทำอะไรดีๆ ด้วยกัน AriAround ยังทำให้เราได้เห็นความหวัง ทำให้เติบโตขึ้นในมุมของความเข้าใจคนที่หลากหลายในสังคม พอเรามีความเข้าใจ มันจะไม่ใช่ฟีลชี้นิ้วว่าคนอื่นว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นล่ะ ทำไมเรื่องนี้ไม่ทำอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าติดปัญหาอยู่อะไรถึงทำไม่ได้ ได้เห็นสิ่งสำคัญของมนุษย์จริงๆ ว่าไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปมากกว่าการกินดี นอนดี สุขภาพดี และได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี พอมุมมองเปลี่ยน ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไปหมด ตอนนี้เราไม่ได้อยากหนีไปไหนไกลๆ เหมือนแต่ก่อน เพราะเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เราเกิดความเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้ระแวกย่านดีขึ้น มันเลยเป็นจิตใจที่แอ็คทีฟ แต่รู้สึกสงบ และรู้สึกว่าเราอยู่กรุงเทพฯ ได้แล้วนะ

“สิ่งที่เราอยากเห็นก็เป็นความตั้งใจเริ่มต้นที่อยากทำ คือการทำสวนชุมชน อยากให้คนมีโอกาสแบ่งเวลามาทำอะไรที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ได้จับดิน เหยียบดิน จริงๆ ก็คือได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นแหละ เราอยากเห็นพื้นที่ที่คนจะได้ออกมาทำอะไรด้วยกัน ได้แสดงความคิดเห็น ได้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของคนอื่นแล้วต้องรอคนมาทำ และทำเพราะอยากให้ตัวเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับพาร์ทของ AriAround เราอยากเห็นแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นในอารีย์สามารถไปเกิดกับทุกพื้นที่ในประเทศได้ ซึ่งบางพื้นที่เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น นางเลิ้งที่เขามีการพัฒนาในลักษณะคล้ายๆ กัน ทำมาก่อนเราและทำได้ดีด้วย เราอยากให้เกิดอะไรแบบนั้น อยากนำแพลตฟอร์มและองค์ความรู้ที่เราเก็บเกี่ยวมาตลอดทางไปกระจายสู่พื้นที่อื่น ซึ่งเราคงต้องมาดูว่าข้อจำกัดอย่างการที่ประชาชนอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการเชื่อมกับผู้มีอำนาจและงบประมาณจะถูกจัดการด้วยการมองไปในแนวทางไหนและจะทำให้เป็นแนวทางเดียวกันได้อย่างไร เราอยากเห็นการเคารพพื้นที่ รู้จักอัตลักษณ์ของพื้นที่ ได้เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ และได้แลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์แบบเอื้ออาทรและส่งต่อความอารีและใจดีต่อกันไปอย่างช้าๆ แต่ยังยืนค่ะ”

ภาพ: เกตน์สิรี วงศ์วาร
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม: www.ariaround.com, www.facebook.com/AriAroundTH

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles