Reverse Selfie เผยให้เห็นเด็กสาวใช้แอปฯ แต่งภาพขนาดไหนกว่าจะได้ภาพเซลฟี่

ผู้หญิงทุกคนมีความงามแตกต่างตามเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ผู้หญิงโดยเฉพาะเด็กสาวมักเห็นคุณค่าความงามของตัวเองน้อยกว่าที่เป็นจริง จะเห็นได้ว่าก่อนที่จะอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม พวกเธอจะต้องแต่งรูปด้วยสารพัดแอปพลิเคชันแต่งภาพและฟิลเตอร์อีกหลายเลเยอร์ แม้ภาพที่ออกมาจะเรียกว่า “ไม่ตรงปก” หรือสวยเกินกว่าตัวจริงแค่ไหนก็ไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคืออยากจะให้คนมากดไลก์และคอมเมนต์ชื่นชม

โดฟ (Dove) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและผมจากยูนิลิเวอร์ ที่เชื่อผู้หญิงทั่วโลกสามารถสร้างความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเองในเชิงบวกและส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองได้ ล่าสุดการวิจัยของโดฟพบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของเด็กผู้หญิงเริ่มใช้แอปพลิเคชันตกแต่งภาพและฟิลเตอร์ภาพตั้งแต่อายุ 13 ปี และยังพบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของเด็กผู้หญิงพยายามปรับ เปลี่ยน หรือลบส่วนของร่างกายอย่างน้อย 1 จุดก่อนที่จะโพสต์รูปถ่ายของตัวเองบนโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งโดฟมองว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะนั่นหมายความว่า เด็กหญิงที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นเริ่มสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง ขาดความมั่นใจ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ที่แท้จริงของตัวเองเพื่อให้ตัวเองดูดีในโลกโซเชียล และยิ่งช่วงโควิด-19 นี้ วัยรุ่นหญิงที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านจึงมีเวลาที่จะหมกมุ่นอยู่บนโซเชียลมีเดียมากกว่าเดิม

โดฟอยากให้สังคมโดยเฉพาะผู้ปกครองและครูของเด็กหญิงเหล่านี้ตระหนักถึงภาวะที่น่าเป็นห่วงนี้ จึงร่วมกับเอเยนซี่โฆษณา Ogilvy ออกภาพยนตร์โฆษณาชื่อ Reverse Selfie กำกับโดย Benito Montorio ความยาว 60 วินาที สะท้อนภาพให้เห็นถึงผลกระทบของแอปฯ แต่งภาพทั้งหลายที่อาจทำให้พวกเธอไม่เชื่อมั่นในตัวเองและนับถือคุณค่าของตัวเองน้อยลง

ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์รูปถ่ายของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย ภาพของเธอเหมือนผู้หญิงวัยยี่สิบต้นๆ สวยเป๊ะปัง มีแต่คอมเมนต์ชมความสวยของเธอ จากนั้นภาพยนตร์ค่อยๆ เล่นย้อนกลับหรือ reverse เห็นผู้หญิงคนนั้นลบการปรับแต่งด้วยแอปฯ และฟิลเตอร์ทั้งหมดที่ละอย่าง ตั้งแต่เกลี่ยผิวหน้าให้เนียน ดึงคาง เหลากราม ลบรอยสิวจุดด่างดำ ปรับแสง แต่งพื้นหลัง แม้แต่เสริมเรื่องราวในภาพด้วยการเพิ่มภาพที่เธอชนะการประกวด ที่น่าตกใจคือภาพยังย้อนหลังให้เห็นว่า ก่อนที่เธอจะถ่ายเซลฟี่ ก็ได้เมคโอเวอร์ตัวเองจากหัวจรดเท้ามาแล้วด้วยซ้ำ ภาพย้อนกลับจนมาถึงภาพสุดท้ายซึ่งเป็นภาพเริ่มต้น ซึ่งก็คือภาพของเด็กสาวที่มีใบหน้าเป็นธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นกระบวนการของเด็กสาวที่แต่งหน้า ถ่ายรูป และแก้ไขภาพเซลฟี่ของเธออย่างหนักก่อนที่จะอัปโหลดลงโซเชียลมีเดีย แลกกับยอดไลก์ที่อาจจะทำให้เธอปลื้มปริ่มได้ชั่วครู่ชั่วคราว แต่ความรู้สึกไม่มั่นใจ ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง อาจยังอยู่ในใจเธอไปอีกนานจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

การหมกมุ่นกับการตกแต่งภาพลักษณ์ของตัวเองมากเกินไป จะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจ ยอมรับความจริงไม่ได้เมื่อต้องเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียล ซึ่งโดฟยังมีโครงการ Dove Self-Esteem Project ที่เป็นแหล่งความรู้ให้เด็กหญิง รวมถึง พ่อแม่ และครู เพื่อทำความเข้าใจโลกโซเชียลมีเดียและโลกของการปรับแต่งภาพที่สร้างตัวตนในอุดมคติแบบปลอมๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เยาวชนสร้างความมั่นใจและรักษาภาพลักษณ์ที่ดูดีบนโซเชียลได้ สามารถดาวน์โหลดได้ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของโดฟ

อ้างอิง : Dove, Creative Review

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles