โรคพาร์กินสันเป็นโรคสมองในผู้สูงอายุ อาการหลักของโรคนี้คือ ความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หลายคนอาจคิดว่าโรคพาร์กินสันจะมีแค่อาการสั่นหรือมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติไป เช่น แขนขาสั่น และมีการทรงตัวที่ไม่ดี
แต่แท้จริงแล้วอาการที่พบได้ 89%ในผู้ป่วยโรคนี้คือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้าตึงตัว ทำให้การแสดงอารมณ์ทางใบหน้าลดลง กระพริบตาได้น้อย ขยับใบหน้าได้น้อยจนดูเหมือนคนที่ใส่หน้ากาก ผลกระทบคือทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการสื่อสารมากๆ ซึ่งการทำกายภาพโดยการบริหารใบหน้าจะสามารถช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้อตึงตัวของใบหน้าได้ แต่ผู้ป่วยไม่ค่อยชอบทำ เพราะต้องใช้วินัยและใช้เวลานานกว่าจะได้ผล ที่สำคัญคือ ขาดแรงจูงใจ
ยูโรฟาร์ม่า (Eurofarma) บริษัทยาจากบราซิล ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันในด้านนี้ ร่วมกับบริษัทโฆษณาสร้างสรรค์ระดับโลก Dentsu Creative เปิดตัวแอปพลิเคชัน Scrolling Therapy ที่ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในการบริหารใบหน้า โดยใช้การขยับใบหน้าเพื่อควบคุมการเข้าโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟน เพราะผู้ป่วยพาร์กินสันยังสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้
แอปพลิเคชัน Scrolling Therapy ใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์มาเชื่อมต่อกับ Facebook และ Instagram ทำให้ผู้ป่วยใช้โซเชียลมีเดียด้วยการขยับใบหน้าแทนการสั่งงานด้วยมือ หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ ลงในโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตแล้ว แอปฯ จะมีบทช่วยสอนสั้นๆ ในการใช้ใบหน้าสั่งงาน 5 แบบ คือ ยิ้มเพื่อกดไลก์ ทำหน้าโกรธเพื่อปัดซ้าย (Swipe) ทำหน้าตกใจเพื่อเลื่อนหน้าจอลง (Scroll Down) และหน้าแสยะเพื่อเลื่อนหน้าขึ้น (Scroll Up) หลังจากเรียนรู้แล้วก็สามารถใช้งานได้ทันที
การใช้ Scrolling Therapy เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ไม่สามารถทำการบริหารใบหน้าได้ สามารถกระตุ้นและออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าได้ผ่านกิจกรรมที่ชื่นชอบและทำเป็นประจำ เป็นการบรรเทาอาการพาร์กินสันด้วยแรงจูงใจ อยากฟื้นฟูร่างกายด้วยวิธีการที่ไม่น่าเบื่อ ซึ่งถ้าผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าทุกวัน วันละ 45 นาทีใน 12 สัปดาห์ จะช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้อใบหน้าตึงตัวได้เป็นอย่างดี
Scrolling Therapy เปิดใช้ใน 10 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับการแนะนำจากแพทย์ให้สามารถใช้ได้อย่างเห็นผลในผู้ป่วยพาร์กินสัน นับเป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้อย่างสร้างสรรค์ โดยเป้าหมายคือการให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตที่อยู่กับโรคได้ดีขึ้น ในขณะที่ยังมีประสบการณ์สังคมที่ดีขึ้น มีโอกาสที่จะติดต่อและสังคมกับคนอื่นในโลกดิจิทัลได้อย่างคนปกติ
อ้างอิง: DentsuCreative, LBBonline
ภาพประกอบจาก DentsuCreative, LBBonline