สิริประภา วีระไชยสิงห์ มดงานที่พา TikTok ขึ้นสู่สมรภูมิแห่งไอเดียและการช่วยโลก

ตั้งแต่เริ่มต้นให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา TikTok ได้สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จำนวนผู้ใช้รายวันทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สูงกว่า 1,500 ล้านครั้ง ไปจนถึงจำนวนวิดีโอที่ถูกเปิดดูกว่า 1,000 ล้านครั้งต่อวัน สิ่งที่ช่วยให้แอปฯ น้องใหม่วิ่งแซงแพลตฟอร์มรุ่นพี่ชนิดที่แทบไม่เห็นฝุ่นก็คือ ความง่ายและเรียลในการใช้แอปฯ สร้างและแชร์วิดีโอขนาดสั้น ที่มีทั้งฟังก์ชั่นและเอฟเฟกต์มากมายซึ่งช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถใส่ความสนุกและฮาได้แบบสุดกำลัง ไปจนถึงการออกชาเลนจ์แบบถี่ยิบจนเกิดไวรัลไปทุกหัวระแหง แถม TikTok ยังฉีกกฎการให้บริการพื้นที่โฆษณาแบบเดิมๆ มาสู่รูปแบบ Hashtag Challenge ซึ่งสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับแบรนด์ได้อย่างมหาศาล พร้อมๆ ไปกับการนำเสนอรูปแบบโฆษณาอย่าง Branded Effect จนส่งผลให้เกิดการจดจำและเชื่อมโยงไปกับแบรนด์ในมิติที่ลึกขึ้นไปได้อีก

หลายคนอาจมองเห็นสัดส่วนของผู้ใช้ที่เข้ามาในแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อรับชมความบันเทิงมากกว่าเนื้อหาสาระ ทว่า TikTok เหล่าครีเอเตอร์ ตลอดจนยูเซอร์ และภาคีของพวกเขาเดินทางมาไกลกว่านั้นมาก เพราะแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ได้กวาดความนิยมเพียงแค่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังสร้างแรงกระเพื่อมในงานภาคสังคมอยู่ในหลายๆ แกน บทสนทนาต่อจากนี้ กานจิ สิริประภา วีระไชยสิงห์ Campaign and Content Operation Lead จะพาเราไปสำรวจ TikTok ในอีกแง่มุมที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการจุดประกายความสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด

Use TikTok to do good

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า TikTok ในวันนี้ได้ผ่านบทพิสูจน์ในเรื่องการเป็นผู้นำของแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นที่ให้ความบันเทิงกันไปแล้ว และในทางคู่ขนาน พื้นที่ของพวกเขายังมีคอนเทนต์และเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและความสุขให้กับผู้คนอีกมากมายเช่นเดียวกัน

“การเริ่มต้นของงานในภาคสังคม คงต้องย้อนไปที่รากของ TikTok อย่าง Inspires creativity and brings joy to everyone ที่ความตั้งใจของพวกเราคือการสร้างแรงบันดาลใจและนำความสุขมาให้ทุกคน เราต้องยอมรับว่าภาพที่คนมองเข้ามายัง TikTok จะเห็นในแง่มุมของความสนุกและบันเทิง ขณะที่จุดหนึ่ง เราเองก็มองว่าแพลตฟอร์มของเรายังสามารถเป็นเครื่องมือที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนบางอย่างในสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้เหมือนกัน เราจึงคิดโปรแกรมที่ชื่อว่า TikTok for good’ ขึ้น ซึ่งเป็นโปรแกรม global initiative ที่ปล่อยพร้อมกันทั่วโลก โดยแต่ละประเทศจะมีแคมเปญต่างๆ ที่ซัพพอร์ตเรื่องสังคมแตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย เราเริ่มทำ TikTok for good จริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบันก็มีเกินกว่า 10 แคมเปญแล้ว”

 

https://www.tiktok.com/@cindysirinya/video/6954547414405532930

TikTok for good โฟกัสไปที่ 5 แกนใหญ่ๆ ได้แก่ การศึกษา (Education), เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy), ความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง (Diversity and Inclusion), ความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัล (Digital Wellbeing) และเรื่องของสิ่งแวดล้อม (Environment)

“การพุ่งไปที่เป้าหมายได้อย่างตรงประเด็น ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถเชิญชวนให้เกิดการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม น่าจะเป็นจุดเด่นที่ TikTok ทำได้ในส่วนของงานภาคสังคม ซึ่งแต่ละแคมเปญอาจจะขับเคลื่อนด้วยคนกลุ่มเล็กๆ เป็น niche community แต่ก็สามารถสร้างอิมแพ็คให้กับคนที่เมื่อเห็นแล้วอยากจะทำตาม หรือจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในอนาคตได้ อีกทั้ง TikTok ยังเป็นเครื่องมือที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้โดยมีช่วงอายุในการเข้าถึงที่ค่อนข้างเปิดกว้างกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ของเราก็มีความหลากหลายในเรื่องของ demographic และความสนใจ ฉะนั้น เมื่อเรามีกลุ่มคนที่ต้องเผชิญปัญหา ชุมชนที่พร้อมสนับสนุน และแรงกระตุ้นที่จะมาสะกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำอะไรบางอย่างที่ส่งผลต่อสังคมได้ ไม่ว่าแคมเปญใดที่เรานำเสนอ ก็เลยจะไปแตะอยู่ในทุกๆ แกนของผู้ใช้ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เรียนรู้คู่ความสนุกกับ TikTok Uni

เมื่อการเรียนรู้ได้พัฒนาจากรูปแบบออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์มากขึ้น แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึง TikTok เองจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของการเป็นพื้นที่ในการให้ความรู้เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือแคมเปญ TikTok Uni ที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอคอนเทนต์สาระความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คน

“TikTok Uni มาพร้อมเป้าหมายที่อยากจะผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนต์ทางการศึกษา ซึ่งสามารถนำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีสีสันและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น โดยแตกแขนงความรู้ไปหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องภาษา ความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ไอที ถ่ายรูป วาดรูป รวมถึงสุขภาพ หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีโมเมนตัมหลายๆ อย่างเกิดขึ้น ผู้คนไม่ได้มองเราในแง่มุมของความบันเทิงและความสนุกสนานอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นพื้นที่ที่ส่งผลต่อประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างด้วย”

https://www.tiktok.com/@tiktokuni_th/video/6988521521807510811

หลังจากการเปิดตัวมากว่า 1 ปี แคมเปญดังกล่าวเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งการแจ้งเกิดครีเอเตอร์สายการศึกษาดาวรุ่งกว่า 3,000 คน ตัวเลขของคลิปวิดีโอในเชิงการศึกษาที่ถูกผลิตออกมามากกว่า 250,000 คลิป ตลอดจนแฮชแท็กยอดนิยมด้านการศึกษา จนส่งผลให้ยอดวิวรวม TikTok Uni สูงถึง 13.1 พันล้านครั้ง

“คนที่เข้ามาเขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคุณครู แต่สามารถสวมบทบาทของการเป็นคุณครูได้ เพราะมีข้อมูลและความรู้ที่อยากและสามารถจะบอกต่อได้ TikTok Uni ถือว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซโครงการหนึ่งที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงที่เราเปิดตัวจนถึงวันนี้ และยังได้หล่อหลอมนิเวศของ TikTok ในแง่ของการทำงานในภาคสังคมเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือแคมเปญดังกล่าวได้ทลายกำแพงอันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เพราะตอนนี้ ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงความรู้แบบทุกที่ทุกเวลาได้แล้ว”

จุดประกายความคิด ก่อให้เกิดการลงมือทำ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

TikTok ได้วางเป้าหมายใหญ่กับงานด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขาไว้ 3 ประการ คือ 1. การสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากลุกขึ้นมาสนใจและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 2. การสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการให้ข้อมูลหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์กช็อป ไปจนถึงการให้ข้อมูลผ่านเพจและเว็บไซต์ และสุดท้ายคือส่งเสริมให้คนลุกขึ้นมาทำกิจกรรม รวมทั้งหันมาใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

“หลังจากที่เราปล่อยแคมเปญไปแล้ว ก็พบว่ามีตัวเลขของผู้เข้ามามีส่วนร่วมและลงมือทำจริงค่อนข้างเยอะกว่าแคมเปญอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องของการพกกล่องข้าว ลดการใช้พลาสติกกับแคมเปญที่ชื่อว่า ‘กล่องข้าวน้อยจ้าแม่’ หรือ ‘ขวดเดียวแก้วเดิม’ ซึ่งเป็นแคมเปญที่เราและ Greenery อยากรณรงค์เรื่องการพกขวดส่วนตัวไปดื่มน้ำเพื่อลดการใช้แก้วพลาสติก หรือล่าสุดกับแคมเปญที่ชวนคนมาประดิษฐ์สิ่งของจากการแยกขยะ เป็นต้น

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจเพราะโจทย์และประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกๆ คนสามารถลงมือทำได้ไม่ยาก เลยกลายเป็นว่าแคมเปญที่ต่างๆ ที่ออกมาสามารถส่งเสริมให้เกิดการลงมือทำได้จริง ดึงดูดคนจากหลากหลายกลุ่มที่บางทีพวกเขาอาจไม่เคยมองว่าตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขประเด็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้พวกเขาได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง รวมทั้งยังรับรู้และเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำส่งผลดีอย่างไรและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตว่า ฉันสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ โดยการที่ฉันร่วมทำสิ่งนี้แล้วบอกต่อแก่ชุมชนใน TikTok

TikTok For Business เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs

นอกเหนือไปจากเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแล้ว ในปีที่ผ่านมา TikTok ยังเปิดตัว TikTok For Business แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจรที่ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการเพิ่มโอกาสในการพิจารณาเลือกซื้อ สู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

“มิชชั่นที่เราจะบอกกับพาร์ทเนอร์เสมอก็คือ Don’t make ads. Make TikToks เราจะเห็นได้ว่าการทำโฆษณาแบบเพียวๆ เหมือนเมื่อในอดีตกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยนี้แล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าไม่ได้รู้สึกอินกับการโฆษณาแบบฮาร์ดเซลล์อีกต่อไป เราจึงเสนอแนวทางใหม่ด้วยการมาทำ TikTok แทน ด้วยเครื่องมือ รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ทั้งชุมชนและคอนเทนต์แบบที่คนดูจะสนใจ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สินค้าและบริการของพวกเขาเข้าถึงใจคนดูได้มากขึ้น”

TikTok For Business ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คอนเทนต์ที่เกิดขึ้นสามารถตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีเครื่องมือที่จะมาช่วยมอนิเตอร์เรื่องผลลัพธ์ รวมทั้งครีเอทีฟสตูดิโอซึ่งมีไกด์ไลน์ให้การสร้างสรรค์คอนเทนท์สนุกสนานกว่าเดิม

“นอกจากนี้ เรายังมีโปรแกรมการเรียน การเทรนนิ่ง ตลอดจนคอร์สต่างๆ ที่ทางแบรนด์สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ พร้อมๆ กับ TikTok Marketplace และการฝากร้านของดารานักร้องที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ จริงๆ ใน TikTok เรามีชุมชน top creator celebrity ค่อนข้างเข้มแข็ง เราจึงใช้จุดแข็งนี้เข้ามาช่วยโปรโมทร้านค้าเพื่อให้เขาสามารถขายสินค้าและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะที่ในมุมของผู้ประกอบการหรือฝั่ง SME เราก็มีตัวแคมเปญที่ชื่อว่า #สู้โควิดกับTikTok ที่ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการ SME แต่คือทุกๆ คนที่ประสบปัญหาในช่วงเวลายากลำบากนี้ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่เพิ่งจบใหม่และต้องการหางาน รวมถึงกลุ่มคนทั่วไปประสบปัญหาเรื่องการเงิน ซึ่งเราจะมีผู้รู้ในแต่ละแกนมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำคอนเทนต์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้แต่ละคนสามารถนำไปใช้ช่วยเหลือตัวเองได้”

เสริมภูมิคุ้มกันด้วยปัญหา

“สำหรับการทำงาน แต่ละวันก็จะมีปัญหาต่างๆ เข้ามาให้เราแก้ไขเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เราได้รับโจทย์มาแล้วเราจะต้องแก้ไขอะไรบางอย่าง ปัญหาด้านสังคม ปัญหาจากแคมเปญที่เราทำ ยังรวมไปถึงการแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานของ TikTok เองด้วย แต่ในทุกๆ ปัญหา กลายเป็นว่ามันได้ทำให้เนื้องานนั้นๆ มีเสน่ห์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ทีมงานเองก็ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งทำให้เราโตขึ้นและนำไปสู่ทางออกใหม่ๆ หรือกลายเป็นว่าวิธีแก้เดิมๆ ที่เรากำลังทำอยู่ เราสามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ อีกทั้งเราเองก็ได้กลับมาเช็กตัวเองด้วยว่า ในแพลตฟอร์มของเรา เรารับผิดชอบกับสิ่งที่เราพูด ที่เราทำ ที่เรา represent ในสังคมได้มากและทำได้ดีขนาดไหน สิ่งที่เราพัฒนาเพื่อผู้ใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา เราทำได้ดีเพียงพอแล้วหรือยัง อุปสรรคที่เกิดขึ้นจึงทำให้เราเติบโตไปด้วยกันทั้งหมด”

อิ่มใจเมื่อสิ่งที่ทำสร้างอิมแพ็คให้แก่เราและผู้คน

“ที่ TikTok เรียกได้ว่าเป็นองค์กรแบบ flat organization มากๆ การทำงานภายในองค์กรจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทุกคนในองค์กรจึงมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียม ความสนุกในการทำงานของเราเรียกว่าไม่มีอะไรขวางกั้นเลยว่า นี่แผนกฉัน นี่แผนกเธอ แต่ทุกๆ คนสามารถมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือเมื่อกำลังมีแคมเปญใดเกิดขึ้นก็ตาม เราจะชวนกันเสมอว่า สนใจมาร่วมทำไหม ทุกคนจะปรี่เข้ามาและพยายามหาแง่มุมต่างๆ ที่ตัวเองมองเห็นมาแลกเปลี่ยนด้วยเสมอ จนเกิดเป็นสังคมที่เกื้อกูลกันในการทำงาน สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นความน่ารักของทีมงานที่กานรู้สึกว่าตั้งแต่ที่เคยทำงานมา TikTok ไม่มีกำแพงในเรื่องทีมภายในประเทศ รวมถึง TikTok ของแต่ละประเทศด้วย ถ้าเรามีมุขสนุกๆ เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตลอด และยังสามารถไปขอ lesson learn จากประเทศนั้นๆ ได้ก่อนที่เราจะมาปรับใช้กับแคมเปญในประเทศไทยด้วย

ความสุขของพวกเรานอกจากได้ทำงานในบรรยากาศแบบนี้แล้ว การมีโอกาสได้ทำงานในภาคสังคมให้กับประเทศของตัวเองยังทำให้พวกเรารู้สึกอิ่มใจในแง่ที่ว่า เรามีเครื่องมือที่สามารถช่วยสร้างอิมแพ็คได้ไม่มากก็น้อยในสังคมไทย แล้วเราก็น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จับปัญหาสังคมด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของการศึกษา ซึ่งถ้าถามว่าเป็นความสำเร็จเลยไหม กานมองว่านี่ถือว่าเป็นไมล์สโตนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคนที่บอกว่าไม่ได้มอง TikTok เป็นเพียงแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงล้วนมาจากแคมเปญเรื่องการศึกษาทั้งนั้น นั่นแสดงให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับคนและทำให้เกิดการลงมือทำจากสิ่งที่เราเริ่มต้นไว้”

เพราะมีคุณ ถึงมีเรา

“สิ่งที่ TikTok ให้ความสำคัญอยู่เสมอจะมีอยู่ด้วยกัน 4 แกนหลักๆ แกนที่หนึ่งคือผู้ใช้งาน แกนที่สองคือชุมชนของเหล่าครีเอเตอร์ แกนที่สามคือผู้ลงโฆษณา ผู้เป็นรายได้หลักของ TikTok และแกนที่สี่จะเป็นส่วนของสังคม ซึ่งถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป TikTok จะไม่สามารถสมบูรณ์ได้เลย เพราะทั้ง 4 แกนนี้ได้สร้างนิเวศแห่งการเกื้อกูลกันและทำให้ทุกๆ องค์ประกอบของ TikTok เติบโตขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงพัฒนาทุกๆ อย่างของเราเพื่อสนับสนุนพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้ใช้ที่เรามุ่งที่จะทำให้คอนเทนต์สามารถส่งต่อประสบการณ์ดีๆ และนำความสุขไปให้กับทุกคนที่เข้าไปอยู่ในหน้าฟีดให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับกลุ่มครีเอเตอร์ เราได้มีแคมเปญต่างๆ ที่จะช่วยซัพพอร์ตพวกเขา เพื่อช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ รวมถึงสร้างพื้นที่ให้พวกเขาสามารถนำเสนอผลงาน และให้การมองเห็นคอนเทนต์ของพวกเขาไปสู่ผู้ใช้ได้ดีขึ้น ในส่วนของแบรนด์ต่างๆ ที่มาลงโฆษณา เราได้เชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้เพื่อให้แบรนด์สามารถได้เข้าถึงกลุ่มนี้ได้มากขึ้น สุดท้ายในภาคสังคมอย่าง TikTok For Good เราก็ได้วางแผนให้เกิดการต่อยอดอีกมากมาย ทั้งแคมเปญต่างๆ ที่เราจะสร้างการมองเห็นได้มากขึ้นกว่าเดิมและทุกๆ คนสามารถมีส่วนร่วมกับประเด็นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสังคมได้

พวกเราอยากขอบคุณทุกๆ คนที่ได้สร้างนิเวศแบบนี้ให้เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีผู้ใช้ที่เปิดรับอะไรใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ แคมเปญต่างๆ ที่เราปล่อยออกไปก็อาจจะไม่สำเร็จหรือมาไกลได้ขนาดนี้ ขอบคุณครีเอเตอร์ของเราที่ผลิตคลิปที่มีความครีเอทีฟมากๆ รวมถึงคนที่เป็นแกนนำในกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ ซึ่งเราจะไม่มีวันนี้ได้หากไม่มีทุกพาร์ทเนอร์และภาคีที่มาทำงานร่วมกัน ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป มันอาจจะเป็นแค่แคมเปญที่ทีมงาน TikTok ปล่อยออกไป แล้วปักหมุดให้เห็นชัดๆ แค่นั้น แต่เมื่อมีทุกปาร์ตี้มาร่วมมือร่วมใจกัน ก็ทำให้ทุกๆ อย่างไปได้ไกล กลม และสมบูรณ์ขึ้นมากจริงๆ”


ภาพ: สิริประภา วีระไชยสิงห์, www.tiktok.com, www.greenery.org
อ้างอิง: www.tiktok.com  

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles