Sky Forest Scape สวนนันทนาการบนดาดฟ้ากลางสยามสแควร์

พื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ สวนสาธารณะที่ดีควรอยู่ในรัศมีการเดินที่ไม่ควรเกิน 15 นาที ที่เป็นแบบนั้นเพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงเมืองที่มีการออกแบบที่ดี คิดถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองนั้น เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะน้อย มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนในเมืองเหล่านั้นมีความเครียด ขาดจุดนัดพบ สังสรรค์ ซึ่งดูไม่เป็นเรื่องยากอะไรนัก ก็แค่พื้นที่โล่งกว้างเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริง พื้นที่โล่งกว้างไม่ได้หาง่าย และเป็นสิ่งขาดแคลนในเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานคร มีปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะน้อยกว่ามาตรฐานอยู่แล้ว พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่มีค่ามาก การเกิดพื้นที่สาธารณะใหม่ให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในภาคสังคมไม่นานมานี้เอง หากแต่ติดปัญหาเรื่องที่กรุงเทพฯ ขาดการวางผังเมืองที่ดี สวนสาธารณะจึงเข้าถึงได้ไม่ถ้วนทั่วทุกคน

ณ วันนี้สวนสาธารณะแบบใหม่เข้าถึงง่ายได้เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ สวนนี้ไม่ได้เป็นสวนแบบที่มีผืนหญ้าสีเขียวห่มคลุมดินไปทั้งสวน แต่เป็นสวนแนวดิ่ง ตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าอาคาร Siamscape ที่สยามแสควร์ อาคารเพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นาน ผิวอาคารเป็นผิวอิฐเปลือยสูง ส่วนฐานอาคารสูงที่พื้นชั้น 10 เกิดสวนสาธารณะที่แก้ปัญหาแบบเมืองแออัดของกรุงเทพฯ ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนสถาปัตยกรรมออกแบบโดยเป็นการรวมตัวของทีมสถาปนิก Integrated Field, Creative Crews, East Architects และในส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรมออกแบบโดย Shma

ทางทีมภูมิสถาปนิกออกแบบสวนบนอาคาร Sky Scape บนพื้นที่ 1,160 ตารางเมตรในชื่อว่า ‘SKY FOREST SCAPE’ ที่บนถนนภายในสยามสแควร์ได้มีการปรับผังแม่บทใหม่ให้เอื้อต่อกิจกรรมถนนคนเดิน รองรับกิจกรรมชุมนุมคนหลากหลาย เราจะพบกับเหล่านักเรียนมัธยมมาเล่นดนตรี รายล้อมด้วยฝูงชนกำลังเพลิดเพลินไปกับเพลงบรรเลงคลอไป พร้อมกับอีกฟากถนนกำลังซ้อมเต้นคัฟเวอร์อย่างคึกคัก กิจกรรมนันทนาการเหล่านี้สามารถไหลขึ้นไปยัง SKY FOREST SCAPE ซึ่งเป็นไปได้ทั้งตลาดนัด ลานเล่นดนตรี สภาพสวนออกแบบเป็นพื้นดาดแข็งส่วนใหญ่ ลายพื้นออกแบบเป็นเส้นตรงสีขาวสลับกับพื้นสีดำ ที่มีที่มาจากการให้ล้อไปกับ façade ของอาคารที่มีเส้นตั้งชัดเจน ทางทิศใต้เป็นพื้นที่สีเขียว ถูกยกเป็นที่นั่งให้หันหน้ามายังส่วนยอดอาคาร จากนั้นปลูกต้นไม้แทรกไปกับสเต็ปที่นั่ง เนื่องจากเมืองไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งพระอาทิตย์จะโคจรอ้อมใต้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เงาของต้นไม้พาดจากฝั่งทิศใต้ของสวนมากยังพื้นที่โล่งด้านทิศเหนือ ทำให้เกิดเงาเพิ่มบรรยากาศที่ดี ยิ่งช่วงเย็นที่อุณหภูมิลดลง ทำให้บรรยากาศดีขึ้นมากเลยทีเดียว

แม้ว่าจะไม่มีวิวของต้นไม้แน่นหนาแบบสวนวสาธารณะอื่นๆ แต่สวนนี้ก็ได้วิวเป็นยอดตึกของมหานครแทน ซึ่งเป็นข้อดีจากข้อจำกัด เป็นการแก้ปัญหาเชิงเมืองที่น่าสนใจในคำตอบ




เรียบเรียงจาก: shmadesigns
ที่มา: shmadesigns, www.facebook.com/Shmadesigns, designverse, readthecloud

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles