‘Thai Fit’ (ไทยฟิต) คือ การออกกำลังกายด้วยท่วงท่าและจริตของรำไทย คือ ‘ศิลปิน’ ผู้นำศิลปะแห่งการฟ้อนรำที่มีอัตลักษณ์อันงดงามตามขนบโบราณมาถ่ายทอดสู่วิถีชีวิตร่วมสมัย และยังเป็นผู้ที่มีความตั้งใจอันแน่วแน่กับเป้าหมายที่ต้องการสร้างเสริมสุขภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ พร้อมๆ ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ เชื่อมโยง และต่อยอดศิลปะที่พวกเธอรักให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและงดงาม
บนอาคารเรียนขนาด 3 ชั้นของโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นทั้งจุดนัดพบและต้นกำเนิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์แห่งนี้ที่เรามีโอกาสได้คุยกับผู้อยู่เบื้องหลัง Thai Fit อย่าง ครูเฟี้ยว-มาดาพร น้อยนิตย์ และ ครูดิว-ขจิตธรรม พาทยกุล ที่ทั้งคู่จะมาเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นและเส้นทางของ Thai Fit ตลอดระยะเวลาที่ผ่านกับการทำงานเต็มไปด้วยความรัก ความฝัน ความหลงใหล และแรงบันดาลใจ
จากความอ่อนช้อยสู่ท่วงท่าที่แข็งแกร่ง
ด้วยพื้นฐานของทั้งดิวและเฟี้ยวที่เกิดมาในครอบครัวศิลปิน ทั้งคู่จึงผูกผันกับทั้งดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยแบบที่เรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือด กระทั่งโตขึ้น ทั้งคู่เลือกเรียนในสาขาที่ตัวเองชอบและถนัด ดิวเรียนในสายดุริยางคศิลป์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงไปต่อปริญญาโทในสาขา Managing in Creative Economy ที่มหาวิทยาลัย Kingston ในลอนดอน และกลับมาดูแลกิจการของครอบครัวอย่างโรงเรียนพาทยกุลอยู่หนึ่งปีเต็มก่อนจะไปรับราชการอยู่ในกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนเฟี้ยวเลือกเรียนสาขานาฏศิลป์ไทย ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลังจากเรียนจบ เธอทำงานเป็นผู้นำสอนนาฏศิลป์ให้กับโรงเรียนพาทยกุล ก่อนจะเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านบริหารการจัดการวัฒนธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดิว: “ครอบครัวของดิวเป็นครอบครัวศิลปิน ทั้งทางฝั่งคุณปู่ (ครูเตือน พาทยกุล) และฝั่งคุณยายที่เป็นครูสอนรำ เมื่อคุณปู่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ จึงมีคนมาขอเรียนดนตรีไทยกันเยอะขึ้น แต่พื้นที่บ้านคุณปู่ไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงก่อตั้งโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ โรงเรียนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเราได้พบปะกับกลุ่มคนที่ชอบศิลปะการฟ้อนรำและดนตรีไทย และเราสองคนก็เติบโตมาพร้อมๆ กับที่นี่ด้วย”
เฟี้ยว: “อย่างที่ดิวบอก เราทั้งคู่รู้จักกันมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะครอบครัวเรารู้จักและทำงานที่เดียวกันนั่นคือวิทยาลัยนาฏศิลป แล้วก็อยู่กับโรงเรียนพาทยกุลมาจนโต คนในครอบครัวก็เป็นครูบาอาจารย์สอนทางด้านดนตรีไทยและรำไทย ทำให้พวกเราผูกพันกับดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยมาก”
จนกระทั่งปี 2559 หลังจากเข้ามารับช่วงต่อดูแลโรงเรียนพาทยกุล ดิวมีบทบาทแทบทุกอย่างตั้งแต่การเป็นนักเรียน นักแสดง ครูผู้ช่วย ธุรการ แบ็คสเตจ จนได้มาบริหารโรงเรียน เห็นทุกมุมแบบทะลุปรุโปร่ง ทำให้เธอมองเห็นภาพวงการที่มีการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างมาก ประจวบเหมาะกับตัวเธอได้มาเจอกับความชอบ และมีความสนใจที่อยากจะออกจากกรอบของโรงเรียนแบบที่เคยเป็นมา จึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรให้นาฏศิลปและดนตรีไทยสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปได้มากกว่าคนที่อยากจะส่งลูกมาเป็นศิลปินหรือเป็นนักแสดง? จะขยายไปทางไลฟ์สไตล์ได้มากกว่านี้ไหม แบบที่ใครๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมแบบนี้ได้ และเมื่อรับรู้ถึงระยะห่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับศิลปะแขนงนี้ที่นับวันจะยิ่งไกลกันมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงชวนเฟี้ยวมาคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
เฟี้ยว: “พอได้คุยกัน เราพบว่าการรำไทยที่เรารำอยู่ทุกวันๆ สิ่งที่เราได้โดยตรงคือเรื่องของร่างกายตัวเอง มารำเพราะความสนุก อยากมาเจอเพื่อนๆ เรารู้สึกว่าการรำเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ พอเริ่มมีไอเดียเรื่องสุขภาพขึ้นมา เวลานั้นเทรนด์สุขภาพก็มาพอดี เราสองคนเลยค่อยๆ พัฒนาจากสิ่งที่ถนัดและอยากทำ เราทำอย่างนั้นอยู่เป็นปี ลองผิดลองถูกทุกอย่างด้วยตัวเอง มานั่งตกผลึกว่าเวลาเรารำ เราฝึกตั้งแต่นาฏยศัพท์ คือดัดมือ ดัดแขน ประเท้า ยกเท้า เราเริ่มไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งคุณหมอในเรื่องท่า องศาการยกแขน ระยะเวลาในการทำว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาพดีหรือเสียอย่างไร มีท่าไหนที่ดีและดีกับส่วนไหนบ้าง ท่าไหนจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไปเรียนกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อปรับท่าท่างการรำให้ได้มุมและองศาที่เป็นการออกกำลังกาย เพราะเรามองว่าตัวเองไม่ได้มีพื้นฐานการออกกำลังกายเท่าไหร่นัก จึงจะต้องเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อให้มีความรู้เรื่องการออกกำลังกายที่ถูกต้องเสียก่อน ยิ่งจะมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนซึ่งมีความละเอียดอ่อนด้วยแล้ว เรายิ่งต้องรอบคอบและระมัดระวัง”
หลังจากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมพร้อมในเรื่องการใช้ร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า การหยิบเอาท่ารำทุกท่ามาปรับองศา ต่อท่า ตามชุดการแสดงที่มีอยู่ จนเริ่มแบ่งประเภทการรำเป็นประเภทของคลาสออกกำลังกายแบบ Thai Fit ที่สามารถเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนออกกำลังกายในยุคปัจจุบัน ทดลองกำหนดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการรำ ไปจนถึงการเทรนนิ่งร่างกายของตัวเองเพื่อให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำการออกกำลังกาย Thai Fit จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2560 และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วอร์มอัพ-เทรนนิ่ง-คูลดาวน์
ดิว: “ตอนเริ่มต้น เรายังไม่พร้อมที่จะเปิดเป็นสตูดิโอของตัวเอง เพราะยังไม่ได้มีทุนเยอะขนาดนั้น ฉะนั้น สิ่งที่เรานำเสนอในช่วงแรกๆ คือการทำโมบายคลาสที่เราจะออกแบบคลาสร่วมกับสตูดิโอ ครีเอทีฟสเปซ รวมถึงการไปทำกิจกรรมเฉพาะกิจในอีเว้นท์ต่างๆ ตอนนั้นได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควรเลย จากแต่เดิมที่เราวางกลุ่มเป้าหมายคือวัยทำงานและคนทั่วไปที่สนใจการออกกำลังกายบ้าง ไปๆ มาๆ เราเริ่มมีลูกค้ากลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ทางบริษัทมาติดต่อให้เราเข้าไปทำโครงการพัฒนาบุคคลากร หรือกลุ่มนักวิ่งให้เราไปยืดเหยียดก่อนออกสตาร์ท รวมถึงมิวสิคเฟซติวัลต่างๆ ที่ให้เราเข้าไปทำคลาสด้วย แต่พอโควิดมาปุ๊บ เราจำเป็นต้องหยุดเพราะเป็นกิจกรรมที่คนต้องมาอยู่รวมกัน ช่วงนั้นเราเลยได้ทำคลาสออนไลน์ แต่เรารู้สึกไม่ฟิน เพราะไม่รู้ว่าผู้ฝึกได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน พอโควิดคลี่คลาย เราเลยมาคุยกันใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้น เราเปิดเป็นคลาสที่โรงเรียนพาทยกุลเลยแล้วกัน”
ที่ Thai Fit แบ่งคลาสเรียนออกเป็น 3 แบบ ประกอบด้วย ‘Thai Myth’ คลาสที่หยิบเอาการรำมาตรฐานโบราณคดี เช่น สุโขทัยและทวารวดี มาประยุกต์เป็นคลาสออกกำลังกาย ‘Thai Folk’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนาฏศิลป์พื้นบ้านของภูมิภาคต่างๆ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ส่วน ‘Thai Martial Arts’ เป็นการนำเอาท่ารำมาจากศิลปะป้องกันตัว อย่างกระบี่กระบองและการรำโขน
เฟี้ยว: “ในขณะที่แต่ละคลาสใช้ท่วงท่าและลีลาการรำที่แตกต่างกัน แต่ทุกคลาสที่นี่มีเป้าหมายเดียวกัน คือประโยชน์ที่ดีต่อกล้ามเนื้อมัดต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็ก และระบบประสาทของผู้ฝึกที่จะทำงานสัมพันธ์กันไป ด้วยพื้นฐานของทั้งสามคลาสมาจากการรำไทยที่มีการเอียงขวา-ซ้าย ก้าวเท้าขวา-ซ้าย กระดกเท้าขวา-ซ้าย ซึ่งเป็นการทำงานของร่างกายที่จะสอดประสานไปด้วยกันทั้งหมด ความต่างอาจจะมีต่างกันบ้าง เช่น Thai Martial Art จะใช้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมากหน่อยเพราะด้วยพื้นฐานท่ารำโขนหรือกระบี่กระบองจะต้องมีความแข็งแรง การทำงานของร่างกายที่เน้นคาดิโอและการเต้นของหัวใจอาจจะไม่ได้เท่ากับ Thai Folk และ Thai Myth ที่เราออกแบบให้ใช้ท่ารำฝึกการบอดี้เวทร่างกายด้วย โดย Thai Fit มีคลาสประจำทุกเดือน ตารางก็จะมีการอัพเดททุกเดือน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาทีต่อ 1 คลาส”
นอกเหนือไปจากการออกแบบคลาสออกกำลังกายที่มีความเฉพาะตัวแล้ว Thai Fit ยังมีการออกแบบเพลงขึ้นใหม่ โดยทำงานร่วมกับนักดนตรีหลายๆ ท่าน โดยมี อัศจรรย์ คอลเลคทีฟ (Assajan Collective) เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ดิว: “อย่างที่บอกว่าเราเริ่มต้นมาจากที่เราไปปรึกษานักวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้เรารู้ว่าแต่ละช่วง ทั้งวอร์อัพ เทรนนิ่ง คูลดาวน์ อัตราการเต้นของหัวใจควรจะต้องเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เสียงดนตรีต้องสัมพันธ์กันกับท่าทาง เรามองตรงนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ยิ่งเราออกแบบแต่ละคลาสมาจากการแสดงชุดต่างๆ เราจึงอยากสร้างบรรยากาศและประสบการณ์แบบนั้นให้กับผู้ฝึกด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำเพลงใหม่ทั้งหมด หากใครมีโอกาสได้มาลองเข้าคลาสจะพบว่า เพลงที่ออกมาไม่ใช่เพียงแค่ไพเราะอย่างเดียว แต่ต้องมีบีทประมาณนี้เพื่อที่จะส่งผลดีกับอัตราการเต้นของหัวใจ แล้วก็สามารถสร้างแรงกระตุ้นในการออกกำลังกายในแต่ละช่วงได้ด้วย”
เฟี้ยว: “ดังนั้น ทุกอย่างของ Thai Fit จึงเป็นเรื่องใหม่ ทำเพลงใหม่ ท่าใหม่ การสื่อสารแบบใหม่ ปัจจุบันเรายังคงพัฒนาอยู่ตลอด ยังมีท่ารำอีกหลายท่าที่เราอยากนำมาประยุกต์ใช้ และอีกหลายท่าที่ยังต้องนำมาปรับ เพราะพวกเรารำกันมาทั้งชีวิต เราคิดว่าท่านี้ง่าย แต่กลับเป็นท่าที่ท้าทายสำหรับผู้ฝึกบางคน เราจึงต้องปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์การกีฬากันสม่ำเสมอว่าเราจะลดทอนและปรับอย่างไรดี วิธีคิดจึงต่างจากการรำไทยแบบเป็นชุดการแสดงหรือการฝึกเด็กเพื่อที่จะเป็นนักแสดง เรียกว่าแทบจะคนละเรื่องกันเลยค่ะ”
พลังแห่งการสร้างสรรค์สู่การขับเคลื่อนนาฏศิลป์ไทย
ดิว: “พวกเราโชคดีมากที่ได้ทำโมบายคลาสกับหลายๆ ทีมมาตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เราเป็นที่รู้จักและได้รับการโอกาสมากมาย จนถึงเวลานี้ก็ยังได้รับโอกาสดีๆ อยู่เสมอ อย่างงานล่าสุดกับการเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ ‘Scene Erawan: Destiny’ ที่เราได้ออกแบบท่าและจัดเวิร์กช็อปให้กับผู้ที่สนใจ รำบูชาพระพรหมเอราวัณด้วยตัวเอง งานนี้ ผู้จัดมอง Thai Fit ในมุมของการเป็นครีเอเตอร์ ไม่ใช่ผู้นำออกกำลังกาย เป็นเรื่องโชคดีที่เราอยากทำเรื่องการรำขอพรด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่งานนี้ถือเป็นงานหินพอสมควรเพราะเราต้องออกแบบท่าเพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องการรำสามารถทำตามได้ และทำงานร่วมกับซาวด์ดีไซน์อย่าง Pink Sky Orcas ที่เขาดีไซน์เสียงมาในแต่ละพักตร์ของพระพรหม เราออกแบบท่วงท่าที่เหมาะกับการขอพรในแต่ละพระพักตร์และสอดคล้องไปกับบีทของดนตรี ที่ทั้ง 2 ครีเอเตอร์คุยคอนเซ็ปต์ร่วมกัน ตอนแรก พวกเราก็ลุ้นๆ เหมือนกันว่าจะมีใครกล้ารำไหม แต่ปรากฏว่างานของพวกเราเป็นจุดไฮไลท์หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานและคนที่ไปสักการะในบริเวณนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว”
เฟี้ยว: “นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับ Payaq Gallery Cafe & Bar กับการออกแบบคลาสเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเน้นการเคลื่อนไหวที่จะไปบริหารกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายของผู้ฝึกกลุ่มนี้ เราจึงไม่เน้นการออกกำลังกับกล้ามเนื้อมากจนเกินไป แต่เป็นการเคลื่อนไหวแนวยืดเหยียดที่ทำให้สนุกจิตมากกว่า และที่สำคัญคือต้องปลอดภัย แต่ยังได้เหงื่อกลับบ้าน เราเลือกการออกกำลังกายในท่าโนรา โดยเป็นเวอร์ชั่นที่จะดำเนินไปอย่างช้าๆ เราพบว่า ผู้ฝึกบางท่านมาคลาสนี้เพราะชอบความเป็นไทย ชอบดนตรีไทย หรือจิตวิญญาณของบางท่านตอนที่ยังเป็นหนุ่มสาวอาจจะอยากเป็นนางรำหรือชอบดูรำละคร แต่ตอนนั้นเขาเป็นได้แค่คนดู ขณะที่ตอนนี้เขามีโอกาสได้มายืดเส้นยืดสาย หรือร่ายรำกับสิ่งที่เขารัก ซึ่งการออกแบบคลาสให้กับผู้สูงวัยเป็นอีกหนึ่งประเภทคลาสที่สนุกมาก เพราะเราได้เห็นชีวิตที่มีความสุขกระจายอยู่ทั่วคลาส พอสิ่งที่เรานำเสนอออกไปทำให้เขาชุ่มชื่นหัวใจ นั่นทำให้เราฟินมากๆ เหมือนกัน เอาจริงๆ เราไม่ได้คิดว่า Thai Fit จะขยายกลุ่มได้มากขนาดนี้ ซึ่งเราคงคิดถูกแล้วที่เรามีคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นที่ปรึกษา ทำให้เรามีโอกาสได้พัฒนาโปรแกรมการฝึกได้อยู่ตลอดเพื่อให้เข้ากับคนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น”
ดิว: “Thai Fit ยังทำให้รู้ว่าพวกเราชอบเดินทางกันมากๆ แล้วเป็นการเดินทางที่ไปแล้วต้องได้อะไรกลับมาด้วยนะคะ อย่างโปรเจ็กต์ล่าสุดของเราคือการทำหนังสั้น งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากที่เราสนใจโนรากันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยเรียนจากต้นฉบับเพราะเราอยู่ในภาคกลาง ดิวกับเฟี้ยวเลยมีไอเดียว่าอยากจะเดินทางลงไปเรียนโนราที่ปัตตานีเพื่อที่จะนำมาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย แต่ไหนๆ เราเดินทางไปแล้ว เราจึงอยากเก็บช่วงเวลาระหว่างนั้นไว้ด้วย เลยมาตกที่การทำหนังสั้นแล้วกัน เราเริ่มขอทุนและได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราทำโปรเจ็กต์นี้อยู่หนึ่งปีเต็มซึ่งเราพบว่าใช่เรามากๆ เลยในการที่เราเดินทางไปด้วยความเป็นศูนย์ พร้อมที่จะไปเจอกับสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ ซึมซับ และนำวัฒนธรรมเหล่านั้นกลับมาพัฒนาในรูปแบบของเราผ่านการออกกำลังกาย ให้คนรุ่นใหม่ คนยุคใหม่ คนในเมืองได้ทำท่าโนรา นี่เป็นประสบการณ์ที่เราได้และทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
“แล้วพอเราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราชอบเดินทาง เราจึงมีแพลนใกล้ๆ นี้เหมือนกันที่อยากเดินทางไปอีกครั้ง ซึ่งมีทุนวัฒนธรรมอีกมากมายที่เราอยากจะเข้าไปศึกษาเพื่อที่จะพัฒนา อย่างเช่น แตรวง รำวง หรือแม้กระทั่งการลำผีฟ้าทางอีสานซึ่งเป็นวัฒนธรรมย่อยที่เราสนใจ ที่เราอยากสร้างการมีส่วนร่วมและทำอะไรที่มีบทบาทต่อสังคม วิถีชีวิต และความเป็นไทยมาช้านาน แต่ยังไม่ได้ถูกยกระดับหรือพูดถึงขึ้นมาเป็นทุนวัฒนธรรมประจำชาติของเรา น่าจะเป็นแพลนในระยะสั้นที่เรารู้สึกสนใจที่จะเอามาต่อยอดได้ค่ะ”
อุปสรรคและความงามระหว่างทาง
เฟี้ยว: “การทำ Thai Fit ทำให้เราเจอความท้าทายหลายๆ อย่าง ท้าทายในแง่ดีคือพอมันใหม่ปุ๊บ เลยกลายเป็นว่าเราเป็นที่ต้องการในกิจกรรมที่เขาอยากได้ความม่วนร่วมกัน ส่วนอุปสรรคจนถึงทุกวันนี้ก็มาจากความใหม่ที่เรายังต้องย้ำเสมอว่า Thai Fit คือใครและทำอะไรอยู่บ้าง เราจึงต้องอาศัยการสื่อสาร คำอธิบาย คำจำกัดความ ต้องมีตัวอย่างให้คนได้ดูอยู่ตลอด
ดิว: “อีกเรื่องคือเรื่องครู เราพบว่าการผลิตครูขึ้นมาหนึ่งคนยากมาก เพราะครูของ Thai Fit จะต้องรำไทยได้ เข้าใจรำไทยแบบทะลุปรุโปร่ง มีสุขภาพดี สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ เข้าใจปัญหาของผู้ฝึก พร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องของการออกกำลังกายพื้นฐานจนถึงขั้นสูง รวมถึงการดีไซน์คลาสให้แต่ละโครงการ การเทรนครูจึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ตอนแรกที่เริ่มทำ เราคิดว่าต้องฝึกจากคนที่ออกกำลังกายเก่ง แล้วมาเทรนเป็นครู ปรากฏว่าพอถึงเวลาจริง เราทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ และพบว่าคนที่ออกกำลังกายมาเก่งขนาดไหน แต่มาฝึกรำไม่ได้ การเคลื่อนไหวที่สอดประสานทุกส่วนของร่างกายเป็นความท้าทายของพวกเขา เพราะฉะนั้น เราเลยต้องมาเรียนรู้ใหม่แล้วว่าเราต้องฝึกคนที่รำเป็นมาเทรนเป็นครู ซึ่งสิ่งนี้เป็นกระบวนการที่ยากที่สุดตั้งแต่ทำ Thai Fit มา ณ ปัจจุบัน เรามีครูที่เป็นคลาสอินเตอร์ 2 คน ส่วนคลาสภาษาไทยจะมีครูเฟี้ยวเป็นหลัก”
เฟี้ยว: “แบบที่ดิวบอกเลย สิ่งที่สำคัญของการเป็นครูคือการเป็นมัลติฟังชันนอล ต้องมีสมาธิ ณ เวลาสอน หูต้องฟังดนตรี ตาต้องมองคน ความจำอยู่กับท่าของตัวเอง การนับจังหวะ ซึ่งการฝึกครูให้เก่งคือการให้พวกเขาเก็บชั่วโมงบิน เพราะยิ่งสอนมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มพัฒนาการการสอนของครูได้เท่านั้น แต่อย่างแรกอย่างที่ดิวบอก เราต้องเทรนพวกเขาให้ได้มาตรฐานอย่างที่ต้องการเสียก่อน”
ดิว: “แม้ที่ผ่านมาเราเจอความยากในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งคือเราไม่เคยโดนดราม่าเลยนะคะ ด้วยความที่เราเริ่มมาจากสายอนุรักษ์มากๆ จนมาถึงจุดที่เรากล้านำสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาต่อยอดและสร้างสรรค์ในอีกแขนงหนึ่ง นั่นคือการออกกำลังกายโดยใช้รำไทย เราคิดว่าพวกเราไม่ได้สร้าง Thai Fit มาเพื่อทดแทนสิ่งงดงามที่มีอยู่เดิมจนความคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ถูกลบเลือนไป แต่เราฉีกออกไปเลยแบบนั้นมากกว่า ซึ่งในมุมมองของพวกเรา เราคิดว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมด คงเป็นเสมือนสะพาน เป็นตัวแทนในการสื่อสารที่เชื่อมให้คนที่อาจไม่ได้สนใจรำไทยเลยมารู้จักศิลปะแขนงนี้มากขึ้น พอเรามาพร้อมความตั้งใจ ทำด้วยความเคารพรักเสมอมา เลยกลายเป็นว่าเราได้รับความเมตตา การสนับสนุน และคำแนะนำมากมายจากครูบาอาจารย์ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์เข้าไปอีกว่า ‘หนูใช้ท่านี้ ทำท่านั้นสิลูก’ นั่นเป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยค่ะ”
ภาพยนตร์สารคดีสั้น Nora Thai Fit (โนรา ไทยฟิต)
เชื่อมคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ดิว: “จากวันแรกที่ทำ Thai Fit ดิวคิดแค่ว่าอยากจะทำโปรดักท์ตัวนี้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือโอกาสที่นำพาเราไปเจอผู้คนมากมาย ได้ความสะใจ (หัวเราะ) แต่เป็นในแง่บวกนะคะ เพราะเวลาคนที่ดูกับคนที่ได้ออกกำลังกายในคลาสของเรา จะคนละเรื่องเลยค่ะ คนที่ดูอาจคิดและรู้สึกว่า รำจะเหนื่อยเหรอ แต่คนที่ทำวันรุ่งขึ้นโทรมาบอกว่าปวดร้าวไปทั้งตัว เราเลยรู้สึกว่าสะใจจริงๆ แบบที่สิ่งที่พวกเราทำได้ฝากไว้ในกายพวกเธอแล้วนะ ประโยชน์อยู่ในตัวพวกเธอแล้วนะ ไม่ใช่ได้แค่ประสบการณ์ตรงนั้นแล้วจบ ที่สำคัญคือ ได้เห็นคนไทยในปัจจุบันถูกเชื่อมไปถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเรา
“สำหรับดิว การจะทำให้ความงดงามของนาฏศิลป์ไทยถูกรักษาและคงไว้จนถึงรุ่นลูกหลายต่อไปได้ Thai Fit น่าจะเป็นคำตอบของคำถามนี้ เป็นผลผลิตของความพยายามคิดเรื่องนี้ของเรามาตลอด เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Thai Fit เลยด้วยซ้ำที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความงดงามและวัฒนธรรมโบราณนี้ยังคงอยู่กับเราต่อไปตราบนานเท่านาน ด้วยความที่เราอยู่กับโรงเรียนสอนดนตรีและนาฏศิลป์ไทย เราเห็นมาตลอดว่าทั้งดนตรีและนาฏศิลป์ไทยแม้จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่มีคนนิยมมาเรียนจากกระแสของหนังอย่างโหมโรง แต่สุดท้ายแล้วก็แผ่วไปตามกาลเวลาเพราะไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ไม่ได้อยู่ในปัจจัยสี่ที่คนจำเป็นที่จะต้องมาสนใจเรื่องนี้ ตรงนั้นเราเข้าใจมากๆ นี่จึงเป็นโจทย์ของเราในการที่จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมไม่ใช่ถูกอนุรักษ์ในเชิงอนุรักษ์แล้วจบไป แต่การอนุรักษ์จะต้องนำไปสู่การต่อยอด ต้องสามารถผสานให้ได้กับไลฟ์สไตล์ในแต่ละยุคที่ดำเนินไปได้ด้วย”
เฟี้ยว: “นั่นทำให้ความคาดหวังหรืออนาคต Thai Fit ตั้งใจที่อยากออกแบบคลาสที่สามารถดึงดูดให้ผู้คนได้ลองมาฝึกฝนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าอย่างที่บอกว่า Thai Fit ดูอย่างเดียว รู้อย่างเดียว ไม่เท่ากับการมาลอง ทุกวันนี้เราจึงเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้แข็งแรงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรูปแบบคลาสในโรงเรียนหรือโมบายคลาสในอีเว้นท์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเตรียมพร้อมครูทั้งในภาษาไทยและอังกฤษที่จะรองรับกับทุกไลฟ์สไตล์ ทุกความต้องการของทุกคนในหลากหลายรูปแบบ”
ดิว: “อีกเรื่องที่อาจจะส่วนตัวหน่อย คือบางคนจะมองว่ารำไทยและดนตรีไทยเป็นสิ่งที่อยู่บนหิ้ง แล้ว Thai Fit ยกออกมาจากหิ้งมาให้คนได้เข้าถึงได้ บางทีคนมองว่าอย่างนั้น แต่เราไม่อยากจะยกออกจากหิ้งเพื่อที่จะไปไว้อีกหิ้งหนึ่ง เราอยากให้ Thai Fit เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สามารถอยู่ได้กว้างกับคนในทุกไลฟ์สไตล์จริงๆ เราอยากให้การสร้างสรรค์สิ่งสวยงามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบที่หลากหลายและเข้าได้กับบริบทที่แตกต่างของพวกเขาเท่านั้น แต่คือการได้มาสัมผัสกับคุณค่าของวัฒนธรรมไทยด้วยความรัก ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และเคารพซึ่งกันและกันค่ะ”
–
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/thaifitstudio