The Cleaners: นักดักจับข้อมูลขยะในโลกออนไลน์ เพื่อสมดุลของเสรีภาพและความรุนแรง

คงไม่ใช่เรื่องสนุกหากโลกออนไลน์จะกลายเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์อย่างไร้ขีดจำกัด แชร์ทุกสิ่งที่อยากแชร์ไปโดยไร้สำนึก โดยเฉพาะพื้นที่บนเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้จำนวนมหาศาลอย่าง เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์, ยูทูป อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อมลพิษทางสมองให้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะสื่อลามกหรือภาพความรุนแรงทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ทางเว็บไซต์เหล่านั้น จึงจำเป็นต้องจำกัดเนื้อหาและภาพอันตรายต่อศีลธรรมออกไปจากพื้นที่ของตน และเป็นที่มาของอาชีพหนึ่งที่เราไม่รู้จักมากก่อน หนังสารคดีเรื่อง The Cleaners นี้ก็กำลังพาเราไปรู้จักวิถีชีวิตและการทำงานของพวกเขา

ที่สำนักงานในประทศฟิลิปปินส์ พนักงานที่ไม่อาจเปิดเผยตัวตนและบริษัทผู้ว่าจ้าง ทุกคนต่างนั่งอยู่หน้าจอมอนิเตอร์เฝ้าตรวจว่า สิ่งไหนต้อง ‘ลบทิ้ง’ สิ่งไหน ‘ปล่อยไว้ได้’ ในแต่ละวันพวกเขาต้องดูภาพไม่ต่ำว่า 25,000 ภาพ ใช้เวลาตัดสินใจ 8 วินาทีต่อภาพ และหากเขาตัดสินใจพลาด ทางบริษัทก็จะให้โอกาสสำหรับความผิดพลาดนั้นไม่เกิน 3 ครั้งต่อเดือน เหล่านี้ถือเป็นงานหนักและเครียดอย่างที่สุด ทว่าประเด็นไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น หากแต่เสนอมุมมองสำคัญอีกด้านที่สะท้อนการเซ็นเซอร์เหล่านี้ด้วย

ในบางครั้งการกำหนดว่าสิ่งใดควรหรือไม่ กลับกลายเป็นการปิดกั้นความคิดเสรีและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมด้วยเช่นกัน บางภาพที่ดูเหมือนโป๊เปลือยแต่จงใจสื่อทางศิลปะหรือล้อเลียนการเมืองก็โดนกีดกันออกไปจากระบบ ภาพน่าหดหู่ของเหยื่อซึ่งโดนกระทำจากผู้ก่อการร้าย หรือรัฐบาลของบางประเทศที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยไม่ชอบธรรมก็ถูกปิดกั้นไปด้วย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวว่า เฟสบุ๊คให้เสรีภาพในการเสนอความคิดโดยไม่ปิดกั้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน อาจเป็นเพียงแค่คำพูดสวยหรู เพราะพื้นที่ตรงนี้กำลังครอบงำสังคมอย่างแยบยล อย่างไรก็ตามผู้รับสื่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างเห็นได้ชัด พนักงานหลายคนมองเห็นภาพการทำร้ายร่างกายของเพื่อนมนุษย์จนชาชิน บางคนต้องลาออกจากงานเพราะทนสภาพจิตที่ย่ำแย่ไม่ไหว หรือแม้แต่มีรายหนึ่งที่ฆ่าตัวตายในที่ทำงานเพราะความเครียด

The Cleaners เป็นผลงานของสองผู้กำกับฯ ชาวเยอรมัน Hans Block กับ Moritz Riesewieck ทั้งคู่สร้างสารคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกและประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับรางวัลจากหลายสถาบันการประกวดภาพยนตร์ และได้รับเชิญให้เปิดตัวฉายในรอบปฐมทัศน์ Official Selection ในเทศกาลหนัง Sundance 2018 ที่ผ่านมา โลกออนไลน์มีแง่มุมซ่อนเร้นที่ผู้ใช้อย่างเราคิดไม่ถึงอยู่เบื้องหลัง นี่เป็นการยิงคำถามให้คิดต่อว่า สมดุลของเสรีภาพกับความรุนแรง หรือข้อมูลขยะบนโลกออนไลน์อยู่ตรงไหนกันแน่

อ้างอิง: www.theverge.com, tedxcern.web.cern.ch, ff.hrw.org

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles