The Impact Receipt ใบเสร็จระบุราคาต้นทุนผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมโดยแบรนด์เสื้อผ้าสวีเดน

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ Fast Fashion ทำให้อายุการใช้งานของเสื้อผ้าสั้นลงมาก จนเรียกได้ว่า สินค้าแฟชั่นก็คือผลผลิตของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีกประเภทหนึ่ง แม้ในปัจจุบัน แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์จะออกนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกให้กับผู้สวมใส่ที่มีจิตสำนึก แต่คำถามคือ…เสื้อผ้าที่อ้างเหล่านี้โปร่งใสจริงแล้วแน่หรือ? พวกเขาได้แจ้งต้นทุนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมให้ผู้บริโภครับรู้แล้วหรือเปล่า?

ความจริงก็คือเสื้อผ้าทุกชิ้นมีผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผลิตได้อย่างเป็นมิตรแค่ไหน! Asket แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายจากสวีเดน ประกาศตัวขอเป็นกบฎกับวงการแฟชั่น ด้วยการไม่ผลิตเสื้อผ้าตามกระแสและความต้องการของผู้บริโภค แต่ขอให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าให้น้อยแต่สวมใส่ให้มากครั้งขึ้น  และขอเป็นแบรนด์ที่โปร่งใสบอกความจริงกับผู้บริโภคทั้งหมดโดยไม่หมกเม็ด ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นของพวกเขามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีผลกระทบอะไรกับโลกบ้าง ด้วย The Impact Receipt ใบเสร็จที่ไม่ใช่แค่บอกราคาของเสื้อ แต่ยังบอกราคาการผลิตว่าเสื้อยืดหนึ่งตัว มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนเท่าไหร่ ทั้งผลกระทบที่เกิดจากการวัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิตทั้งการตัดเย็บและกระบวนทางเคมี รวมถึงการขนส่ง ซึ่งทั้งหมดมีต้นทุนสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซ CO2 ในกระบวนการผลิต ซึ่งข้อมูลได้รับการคำนวณด้วยความช่วยเหลือของ RISE ((สถาบันวิจัยแห่งสวีเดน) และที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้น ในใบเสร็จทุกใบยังระบุว่า ผู้สวมใส่ควรจะใส่เสื้อตัวนั้นกี่ครั้งจึงจะคุ้มทุนกับราคาค่าเสียหายของสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวเลขที่น่าตกใจ คือ 180 ครั้งขึ้นไปเลยทีเดียว!

Asket เชื่อว่า โลกไม่ต้องการแบรนด์แฟชั่นอีกแล้ว และไม่ต้องการจำนวนเสื้อผ้าเพิ่มมากไปกว่านี้แล้ว การที่แบรนด์แฟชั่นแห่โหมกันผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ผลกระทบต่อโลกลดลงไปได้มากซักเท่าไหร่ ตราบใดที่ผู้คนยังถูกปลุกเร้าจากอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลา  แต่สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน คือ การให้ข้อมูลและความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่  ว่าราคาที่แท้จริงคือเท่าไหร่ สูญเสียอะไรไปเท่าไหร่ เพื่อให้ได้แค่เสื้อผ้าหนึ่งตัวนั้นมาครอบครองและสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง

 

อ้างอิง: Asket, Sourcing Journal,  Ads of The World 

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles