ทวิตเตอร์, กูเกิ้ล, อินสตาแกรม, เฟสบุ๊ก, ติ๊กต่อก, ไฟร์ฟ็อกซ์ ฯลฯ ไม่ต้องสงสัยว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างสรรค์ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารให้กับสังคมโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทว่าทุกสิ่งล้วนมีสองด้านเสมอ สารคดีเรื่องนี้กำลังแฉให้เห็นอีกด้านหนึ่งที่บางคนอาจรู้แต่ไม่ใส่ใจ หรืออีกหลายคนมองไม่เห็นเลยก็เป็นได้ – ‘Social Dilemma’
การเสพติดโลกไซเบอร์ที่มาพร้อมกับความหลากหลายของข้อมูลที่เราไม่อาจควบคุมได้ ในตอนเริ่มต้นเทคโนโลยีนี้ทำให้เราได้พบปะเพื่อนฝูง พาเราไปสู่โลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก แต่แล้วก็เริ่มจำกัดเราเข้ากับคนเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นในทางเดียวกัน จากนั้นเราก็เริ่มเห็นข้อมูลที่เสี่ยงต่อความเสื่อมทางจริยธรรม, ข่าวปลอม, ภาพอนาจาร, การโจมตีทำลายชื่อเสียงคนดังในสังคม และการแทรกแซงทางการเมือง ตามมาด้วยการส่งผลทางจิตวิทยา เช่น การพยายามเลียนแบบดาราที่ตนชื่นชอบ ตั้งแต่การแต่งตัวไปจนถึงศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ในบางกรณีทำให้เป็นโรคซึมเศร้า, เก็บตัว, จมอยู่กับโลกส่วนตัว ห่างไกลจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก นี่คืออีกมุมหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรม, สังคม, การเมือง และเป็นเครื่องมือที่ใช้กัดกร่อนโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมทั้งกลืนกินวิถีชีวิตเดิมให้กลายพันธุ์
ทริสแทน แฮร์ริส อดีตนักจริยธรรมการออกแบบที่กูเกิ้ล และอีกหลายคนในหนังซึ่งล้วนเป็นผู้เกี่ยวข้อในระดับสูงกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตชั้นนำกำลังบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พวกเขาได้ไปสัมผัสกับกลไก และมีส่วนในการขับเคลื่อนระบบที่ผูกผู้คนไว้กับโลกไซเบอร์เพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจ เพราะในทุกค่ายเหล่านั้นต่างพยายามอย่างมากที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ใช้เพื่อปั่นรายได้จากการโฆษณา พร้อมที่จะทำทุกทางให้เราเป็นผู้ช่วยเขาหารายได้ให้บริษัท ด้วยการแทรกซึมเข้ามาในความคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราในทุกวันในช่วงเวลาที่เสียไปกับโลกออนไลน์ ขอแค่เพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกหันมาสนใจในสินค้าของบริษัทใดสักบริษัทหนึ่ง นั่นคือโอกาสทางการขายที่มากมายมหาศาล
‘ทุนนิยมสอดแนม’ คือ การเก็บสะสมข้อมูลจากผู้ใช้ให้ได้มากและเจาะลึกที่สุด ใช้สมองกลอันชาญฉลาด AI เพื่อคำนวณความเป็นไปได้ที่จะทำให้เขาสนใจในสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง, ข่าวประเภทใด, การเมืองแนวไหน เป็นส่วนหนึ่งของการตลาดสมัยใหม่เพื่อรองรับโลกในอนาคต ที่พร้อมจะทำให้เจ้าของบริษัท, ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ตทั้งหลายกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีได้รวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นเรื่องเล่าที่เดินบนทฤษฎีสมคบคิดคล้ายดังข้อกล่าวหาและอาจมีการโต้แย้งได้ก็ตาม สิ่งที่เตือนใจและไม่ควรมองข้ามก็คือ มีความเป็นไปได้อยู่พอสมควรที่เรากำลังถูกล้วงข้อมูล, ติดตาม, แกะลอยพฤติกรรมในทุกย่างก้าวอย่างไม่รู้ตัวผ่านการใช้มือถือหรืออินเทอร์เน็ตของเราเอง ทุกการคลิกไลค์ ถูกจัดเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ขององค์กรหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งอยู่ โดยหวังจะผลักเราไปสู่ทิศทางที่เขาต้องการ
เทคโนโลยีที่ถูกสร้างเพื่อให้คนสื่อสารกันอย่างเสรีกลายเป็นเครื่องมือที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คนบนโลก เป็นตลกร้ายที่ผู้บริโภคขำไม่ออก สิ่งที่พอจะพาตัวเองหลุดจากปัญหานี้ได้ก็คือ ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างระมัดระวังและอย่าเสพติดจนเกินจำเป็นถ้ายังไม่อยากตกเป็นสินค้าหรือเครื่องมือของใครหรือระบบใด
อ้างอิง: www.thesocialdilemma.com, www.netflix.com