‘ณฎา ตันสวัสดิ์’ กับโปรเจ็คต์ YoungHappy เครือข่ายคนสูงวัยที่เต็มไปด้วยความสุขและพลัง

จากประกายความคิดที่อยากจะทำโครงการที่สามารถช่วยดูแลคุณพ่อคุณแม่ในวันเกษียณอายุ รวมถึงความสนใจในธุรกิจเพื่อสังคม ณฎา ตันสวัสดิ์ และ ธนากร พรหมยศ จึงริเริ่มโปรเจ็คต์ ‘YoungHappy’ ขึ้น และได้ จุติพร อู่ไพบูลย์ ตลอดจน ธีระศักดิ์ มูลตุ้ย เข้ามาเสริมทัพ เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายกลุ่มคนวัยเกษียณ โดยใช้เทคโนโลยี กิจกรรม และการบริการมาเชื่อมโยงคนกลุ่มดังกล่าวให้เกิดชุมชนเล็กๆ ที่อบอุ่น การได้พบกับ ณฎา ตันสวัสดิ์ ในวันนี้ นอกจากเราจะได้เห็นสถานการณ์ของกลุ่มคนวัยชราในประเทศไทยผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่แล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงเรื่องราวของ ‘ความสุขและพลัง’ ที่ ‘วัย’ ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคอีกต่อไป

เพราะชีวิต ‘ยังแฮปปี้’ จึงเกิดเป็น ‘YoungHappy’

จุดเริ่มต้นของ YoungHappy เกิดขึ้นจากความสนใจในธุรกิจเพื่อสังคมของทั้งณฎาและธนากร จากปัญหาทั้งคู่ ในฟากของธนากรที่เป็นลูกชายคนเดียวและเป็นวิศวกร เขาจึงมีความคิดที่อยากจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการช่วยดูแลคุณพ่อและคุณแม่ในขณะที่เขาไม่อยู่บ้านได้ “ส่วนณฎาเริ่มต้นจากปัญหาที่เล็กมาก นั่นคือการสอนคุณพ่อคุณแม่เล่นโซเชียลมีเดีย เพราะสอนกันทีไรจะต้องแบบไฟ้ต์กันทุกที (หัวเราะ) พอเราถามคนรอบข้างก็จะเป็นแบบเดียวกัน ตอนแรกณฎาลองไปหาหนังสือที่สอนเกี่ยวกับใช้ไลน์หรือเฟซบุ๊ค ซึ่งไม่มีขาย ถ้ามีก็จะเป็นโปรแกรมที่ยากไปเลย ณฎามองว่าถ้าพ่อแม่เล่นโซเชียลมีเดีย เขาน่าจะไม่ค่อยเหงา มีสังคม เราจึงเอาปัญหาทั้ง 2 ส่วนมาแมชกัน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและดำเนินการด้วยรูปแบบธุรกิจ SE”

ทว่า เส้นทางของ YoungHappy ไม่ได้เกิดแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ณฎาเริ่มต้นจากการเข้าไปเป็นจิตอาสาสอนผู้สูงอายุใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในหลากหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์อัลไซเมอร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สมาคมบ้านปันรัก รวมทั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการและฝึกทักษะการสื่อสารกับผู้สูงอายุ “การใช้สื่อสำหรับคนวัยหนุ่มสาวเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้นไม่ง่ายเลย แต่เมื่อเขาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าเปลี่ยนชีวิตเขามากเลยนะคะ มีคุณลุงเดินเอามือถือมาให้เราดู แล้วบอกว่า “รู้ไหม ลุงรู้สึกว่าเป็นทาสมาตลอดเลย มีวันนี้แหละที่เพิ่งรู้สึกว่าเป็นเจ้านายมันเนี่ย”


คนชรา ถ้าไม่ติดบ้าน ก็ติดเตียง จริงหรือ?

หลังจากการทำงานเป็นจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่ณฎารับรู้ไม่ใช่แบบที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจ เพราะผู้สูงวัยนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ หนึ่ง) กลุ่มติดบ้าน หรือผู้สูงวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องการความช่วยเหลือบางส่วน มีโรคเรื้อรังหลายโรคหรือมีภาวะแทรกซ้อน มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตในสังคม และไม่ชอบออกสังคม สอง) กลุ่มติดเตียง หรือผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น มีการเจ็บป่วยเรื้อรังมายาวนาน และสาม) คือ กลุ่มติดสังคม หรือผู้สูงวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือมีโรคเรื้อรัง 1–2 โรค แต่ควบคุมได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยอิสระ มักชอบเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม และมีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่น

“พอพูดว่าผู้สูงอายุ ภาพในหัวเราจะนึกถึง คนแก่นั่งรถเข็นมาแล้ว ไม้เท้ามาแล้ว คือเราจะรู้สึกว่าเขาต้องป่วย ต้องเป็นภาระ แต่สิ่งที่ณฎาได้จากการคลุกคลี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ แข็งแรง สมองก็ยังดีทุกอย่าง แต่เขามีเวลาว่างมากเพราะเป็นวัยเกษียณแล้ว พอว่างก็ทำให้เขาเหงา ซึ่งความเหงานี่แหละที่ทำให้เขาแก่ เราเลยคิดกันว่า จะทำอย่างไรได้บ้างที่เราจะสามารถให้เขาเป็น active senior ให้ได้นานที่สุด ให้เขาไม่หงอยเหงาอยู่ในบ้าน เพราะว่าถ้าเหงาอยู่บ้านนานๆ เขาจะป่วย นี่ก็เลยเป็นที่มาของโซลูชั่น YoungHappy ที่เราอยากให้พวกเขา Young ก็คือ แข็งแรง Happy ก็คือมีความสุข อยากให้เขาบอกตัวเองว่า เฮ้ย ฉันยังแฮปปี้ ยังไหว ยังโอเคนะ”

เข้าใจผู้สูงอายุก่อนออกแบบนวัตกรรม

“ด้วยความที่เราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีจ๋ากับผู้สูงอายุได้ เพราะฉะนั้น โปรดักท์แรกที่เรามีจึงเกิดจากปัญหาที่เราไปเจอตอนที่สอนคุณลุงคุณป้าเล่นโซเชียลมีเดีย ตอนที่สอน พวกเขาก็รู้สึกดี สนุก และทำได้นะคะ แต่พอกลับบ้านไป เขาจะลืมหมดแล้ว ซึ่งประโยคที่เขามาบอกเราคือป้าลืมหมดแล้ว ทำเอกสารให้ป้าที ประโยคนี้แหละค่ะที่ทำให้คิดว่า โอเคถ้าจะทำเอกสารทั้งที ก็ขอทำให้ดีๆ ไปเลย”

YoungHappy จึงเริ่มทำจัดหนังสือเพื่อกระจายองค์ความรู้ไปให้ได้มากที่สุด โดยหนังสือเล่มแรกของพวกเขามีชื่อว่า ‘สูงวัย Like Social’ หนังสือคู่ใจวัยเก๋า 4.0 ที่ทำขึ้นเพื่อสอนผู้สูงอายุเล่นโชเชียลโดยเฉพาะ “อย่างแรกตัวหนังสือจะใหญ่มาก มีขั้นตอนชัดเจน สอนด้วยตัวการ์ตูน เพื่อให้รู้สึกสนุก สดใส และเข้าใจง่าย โดยเรายังทำโครงการ Buy 1 Give 1 คือทุกครั้งที่มีการซื้อหนังสือ 1 เล่ม เราจะนำอีก 1 เล่ม ไปบริจาค ตอนนี้ก็มีบริจาคไปยังห้องสมุดประชาชนกันแล้ว”

เมื่อความเข้าใจสุกงอม จึงแตกออกเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสุขแบบรอบด้าน

นอกเหนือไปจากหนังสือคู่มือสอนการใช้โซเชียลมีเดีย อันประกอบไปด้วย LINE, Facebook, Youtube และ Google อย่าง ‘สูงวัย Like Social’ แล้ว YoungHappy ยังพัฒนารูปแบบการให้บริการอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ทั้ง ‘Modern Senior Community’ หรือชุมชนออนไลน์ของผู้สูงอายุให้ความรู้ข่าวสารต่างๆ และข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงวัยโดยตรง ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน และเทคโนโลยี ‘SUkH ONLINE คอร์สสอนเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้ว่า เทคโนโลยี ไม่ได้ยากและไกลตัวพวกเขาอย่างที่คิด การรับอบรมให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีแก่ผู้สูงวัยแก่หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจ

“การบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมักจะมาจากการได้พูดคุยและคลุกคลีกับคุณลุงคุณป้า เราก็จะทราบถึงความต้องการของพวกเขา อย่างเช่น ผู้สูงอายุจะไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกับคนรุ่นอื่น เพราะความเกรงใจที่เขาจะช้ากว่าวัยอื่นๆ เขาอยากได้เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่า หรือการเข้าร่วมกิจกรรมก็จะมาก่อนเวลาและกลับตรงเวลา ไปจนถึงอาชีพและกิจกรรมที่สนใจและอยากทำ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งทำให้การบริการต่างๆ ของ YoungHappy แตกออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ Happy Trip, Happy Job, Happy Health, Happy Value, Happy Time และ Happy Tech ซึ่งเราก็จะมีกิจกรรมที่จัดทุกเดือน เดือนละ 2-3 ครั้ง โดยทุกๆ อีเว้นท์จะเป็น Elderly Friendly ที่รับผู้เข้าร่วมอายุ 50 ปี ขึ้นไป แน่นอนว่าโจทย์หลักก็คือจะทำอย่างไรให้เขา Young Happy และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา”

ด้วยความเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ทำให้ YoungHappy พัฒนารูปแบบการให้บริการอื่นๆ เพื่อรองรับรูปแบบชีวิตของพวกเขาแบบรอบด้าน นั่นรวมไปถึง ‘SUkH Assist’ บริการคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง ที่ผู้สูงอายุสามารถโทรมาของความช่วยเหลือพื้นฐานและพูดคุยสารทุกข์สุกดิบได้ที่นี่ “เพราะเรารู้สึกว่าผู้ใหญ่ สุดท้ายเขายังอยากคุย อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เราจึงตั้งคอลเซ็นเตอร์ขึ้นเพื่อช่วยตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงโทรไปสอบถามความเป็นอยู่ในแต่ละวัน พูดง่ายๆ ว่าความตั้งใจของเราคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้เขายังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้อยู่”

จากกิจกรรมสู่อาชีพในวัยเกษียณ

กิจกรรมต่างๆ ของที่นี่ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดพื้นที่ เปิดโลกให้ผู้สูงวัยมาทำกิจกรรมที่ชอบ พบปะ และได้ความรู้ในเชิงอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ‘บาริสต้าวัยเก๋า’ ‘วัยเก๋าอินเทรนด์ขายของ Online’ ‘เวิร์คช็อปถ่ายภาพเท่ๆ สไตล์วัยเก๋า’ หรือ ‘ปลูกผักออร์แกนิก’ เท่านั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นยังนำไปสู่การต่อยอดเป็นงานอดิเรกที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คุณลุงคุณป้าด้วยเช่นกัน

“จริงๆ แล้ว ผู้สูงอายุส่วนหนึ่ง เขาไม่ได้อยากทำงานจริงจังนะ แต่อยากมีงานอดิเรกหรือขายของเล็กๆ น้อยๆ ให้พอมีรายได้ เราเคยทำโพลสำรวจว่างานประเภทไหนที่ผู้สูงอายุสนใจ ผลที่ออกมาคือว่า 60% อยากทำงานจิตอาสา คือพวกเขาแค่อยากทำงาน อยากมีคุณค่าในสังคม เรื่องรายได้อาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก มีเคสนึงที่ณฎาประทับใจมาก คือมีพี่คนหนึ่งชื่อพี่อรรณพ อายุ 60 ปี เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทเอกชนแต่ด้วยปัญหาสุขภาพเลยเกษียณออกมาเพื่อดูแลตัวเอง ซึ่งแกเข้ามาเรียนทำเดคูพาจ การขายของออนไลน์ และตัดต่อวิดีโอ หลังจากเรียนไปแล้วพักหนึ่ง พี่อรรณพก็เปิดเพจในเฟซบุ๊คชื่อ ‘บรรณภูมิ’ ขายผลิตภัณฑ์ที่แกประดิษฐ์ขึ้นเอง เป็นงานไม้ซึ่งใช้สำหรับตั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งใช้งานได้ดีมากๆ มีช่องเสียบครบเซต ล่าสุดแกโทรมาเล่าให้ณฎาฟังว่า “ผมได้รับคัดเลือกให้ไปขายของในงานเทศกาลดนตรีและงานคราฟต์ Noise Market เป็นคนแก่คนเดียวที่ได้ไปงานนี้” สิ่งที่ณฎาประทับใจคือแกกล้า ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วแกก็รัก YoungHappy มาก มาร่วมกิจกรรมตลอด จนล่าสุด แกให้แฟนแกมาเป็นจิตอาสาช่วยรับโทรศัพท์ หรือเวลามีงานอีเว้นท์ แกก็จะมาช่วยตลอดค่ะ (ยิ้ม)”

ความท้าทายที่ไม่ใช่ปัญหา แต่คือการเรียนรู้ที่จะลดอัตตาเพื่อเข้าใจผู้อื่น

นอกจากเรื่องการเงินที่เป็นตัวแปรในทุกๆ ธุรกิจ รวมทั้ง YoungHappy แล้ว ความท้าทายของพวกเขาคือการเรียนรู้และทำความเข้าใจกลุ่มคนต่างด้วย “เอาเข้าจริง การทำงานกับผู้สูงอายุไม่ง่ายนะคะ แต่ก็ไม่ยาก คงเหมือนทุกๆ สังคม ในกลุ่มผุ้สูงอายุก็มีความหลากหลาย ความต้องการของแต่ละคนก็แตกต่างกัน พื้นฐานชีวิต อุปนิสัยไม่เหมือนกัน แน่นอน ทุกๆ วันที่ณฎาเจอคุณลุงคุณป้า คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เรามีโอกาสได้ฝึกฝนตัวเองด้วย เรารู้สึกได้เลยว่าอีโก้ของตัวเองลดลงไปเยอะ แล้วก็ใจเย็นมากขึ้นด้วย ซึ่งถามว่า อุปสรรเหล่านี้เป็นปัญหาไหม ณฎาคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่โต แต่คือสิ่งที่เราจัดการได้”

เตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ

จากการประเมินสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ พบว่าปี 2561 นี้ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก โดยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้แล้ว การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของบ้านเราในมุมมองของ YoungHappy เป็นอย่างไร?

“เราเคยทำแบบสอบถามว่า พวกเขาต้องการอะไรมากที่สุดจากลูกหลาน? คำตอบที่ได้ก็คือ การใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งนี่ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นปัญหาว่าคนกลุ่มนี้ก็คือ Baby Bloomer ซึ่งมีลูกเป็น Gen X และ Gen Y ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองและทำงานหนักๆ จนบางทีแทบจะไม่มีแม้เวลาจะมาคุยกัน อย่างเวลาณฎาไปสอนเล่น Face Time หรือเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ เขาก็จะบอกว่า ดี จะได้ใช้คุยกับลูกๆ หลานๆ ได้ โทรไปไม่ค่อยรับ ติดประชุม หรืออย่างเรามีบริการ Caring Call ซึ่งสมัครเพื่อให้คนโทรหา พูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ตอนแรกก็คุยกันว่าบริการนี้จะมีคนใช้ไหม ปรากฏว่ามีและมีเยอะกว่าที่คิดไว้ด้วย สำหรับคนแก่ แค่โทรศัพท์ดัง เขาก็รู้สึกแล้วว่ามีคนคิดถึงเขา คนแก่ในเมืองเหงานะคะ ต่อให้มีลูกหลานก็เถอะ แล้วยิ่งถ้าเขาไม่รู้การใช้เทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กิจกรรม หรือบางทีได้ข้อมูลผิดๆ เขาจะเชื่อทุกอย่างที่เพื่อนหรือใครส่งมาให้ทาง LINE อ่านทุกอย่าง ดูทุกคลิป เชื่อทุกสิ่ง ซึ่งนั่นทำให้เกิดความเครียด”

“การเตรียมความพร้อมหรือการปฏิบัติตัวในมุมของลูกหลาน จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ที่รู้กันอยู่แล้ว นั่นคือการให้เวลาและใส่ใจเขามากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ ณฎาก็เคยถามนะคะว่าทำไมจะต้องส่งข้อความด้วย เขาก็บอกว่าที่ส่งไปเพราะเราคิดถึงเขาอยู่ แล้วก็อยากบอกว่าอย่าลืมเรานะ จริงๆ แค่นี้เอง ลองส่งกลับสักนิดหนึ่ง ในมุมลูกหลาน คนแก่ไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความใส่ใจ การสื่อสารระหว่างกัน ณฎาเห็นหลายคนเลยนะที่มาเรียน ยิ่งคนอายุเยอะๆ ก็มักจะบอกว่าหนีลูกมาเรียน เพราะลูกไม่ให้ออกจากบ้าน ซึ่งเราเข้าใจได้นะคะว่าลูกๆ ก็เป็นห่วง ไม่อยากให้ไปไหนมาไหน แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เขายังอยากออก ยังอยากทำกิจกรรม ตรงนี้ณฎาคิดว่าตรงไปตรงมาได้เลย ถามเลยว่าเขาอยากทำอะไร อยากให้เราดูแลเขาอย่างไร สื่อสารกันในครอบครัวเป็นสิ่งที่จะได้คำตอบนะคะ เช่น อยากใช้เงินไหม อยากทำงานอะไร อยากทำกิจกรรมแบบไหน แล้วคนไทยก็จะมี perception ว่าพ่อแม่แก่แล้วให้พ่อแม่ทำงาน ดูอกัตญญู พาพ่อแม่ไปบ้านคนชราเดี๋ยวจะดูไม่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอยากไปหรือเปล่า เขาอาจจะอยากคุยอยากอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันก็ได้”


ณฎาเสริมว่า แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว แต่รายได้ก็ยังคงมีความสำคัญแก่คนกลุ่มนี้ไม่ต่างจากวัยอื่นๆ “คนในวัยนี้ต่อให้มีก็ประหยัดค่ะ แล้วบ้านเรา จำนวนผู้สูงอายุอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียเลยนะ ถ้าดูที่ญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ คนที่นั่นเขาจะรวยก่อนแก่ แต่บ้านเราจะตรงข้ามคือแก่ก่อนรวย เพราะฉะนั้น การใช้เงินแต่ละบาทก็จะต้องคิดเยอะ ไม่อยากขอเงินลูกหลาน ไม่อยากเป็นภาระใคร อยากทำงาน ซึ่งปัญหาตรงนี้ณฎาคิดว่าจะต้องช่วยๆ กันทุกๆ ฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจ้างงาน มีเคสหนึ่งน่าสนใจมาก คือณฎามีรุ่นพี่ที่ภูเก็ตซึ่งเปิดร้านกาแฟ แล้วบาริสต้าเทิร์นโอเวอร์บ่อยมาก มีปัญหาเรื่องการจ้างงานตลอด พี่เขาเลยเทรนแม่บ้านมาเป็นบาริสต้า ปรากฏว่าดีเลย แก้ปัญหาของร้านกาแฟ ทั้งเรื่องความตรงเวลา ชอบคุยกับลูกค้า ใจดี เป็นมิตร แต่อาจจะสั่งคาปูชิโนแล้วได้อย่างอื่นแทนบ้าง (หัวเราะ) ซึ่งพี่คนนี้แหละที่เป็นคนจุดประกายให้เราอยากทำโครงการบาริสต้าขึ้นมา เพราะอย่างที่อินโดนีเซีย คนแก่ทำงานในร้านกาแฟเยอะมากนะคะ เพราะเหมาะกับไลฟ์สไตล์เขา ไม่ใช่งานหนัก พูดคุย ดูแลลูกค้า ซึ่งประเด็นนี้ก็อยากให้ผู้ประกอบการลองพลิกมุมนิดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าการจ้างงานผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วก็มีข้อดีหลายด้าน”

ความสุขในวันนี้

“พอเราโฟกัสไปที่กลุ่มคนสูงวัย แล้วกลุ่มที่มาเข้าร่วมกิจกรรมที่เราจัดค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ก็คิดว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว แต่ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ สำหรับ YoungHappy เพราะก็ยังมีรูปแบบกิจกรรมและการบริการอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ ซึ่งเราก็พร้อมปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ ครั้งที่มีฟีดแบคจากคุณลุงคุณป้าว่าเขาสนุก แฮ้ปปี้ ก็ทำให้เรามี passion มีกำลังใจที่อยากจะพัฒนาสิ่งที่เราทำให้ดียิ่งขึ้น”

ก้าวต่อไปของ YoungHappy

“ถ้าระยะสั้นนี้เราก็กำลังอยากทำเซอร์วิสให้เต็มรูปแบบมากขึ้น โดยเฉพาะ Call Center และ Caring Call ซึ่งถ้าเราทำได้ก็น่าจะมีอิมแพคกับสังคมโดยกว้างได้มากกว่า เราพยายามจะให้สมบูรณ์ภายในปีนี้ แล้วถ้าดูจากสถิติของผู้สูงอายุในเมืองใหญ่ ประมาณ 4 ล้านคน ไม่มีลูกหลานหรือว่าอยู่กันเป็นคู่แต่ไม่มีลูก เราอยากไปเจอกลุ่มนี้มากเลยเพราะเรารู้ว่าเขาต้องการที่พึ่ง ซึ่งโฟกัสของเราจะอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลักก่อน เพราะผู้สูงอายุในเมืองมีปัญหามากกว่าชนบท ชนบทจะไม่ค่อยพบเรื่องซึมเศร้า เรื่องเหงา เพราะว่าเขาอยู่กันเป็นครอบครัว ไปไหนมาไหนก็ง่าย ในเมืองใหญ่มีปัญหามากกว่า ส่วนอนาคตที่ไกลขึ้น เราอยากที่จะสเกลไปในระดับภูมิภาคด้วย ทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งด้วยพื้นฐานของคนไทยณฎาว่าไม่มีใครใจดีเท่าคนไทยแล้วค่ะ”




ภาพ: Khomkrit Bhirasilpa, YoungHappy
อ้างอิง: www.younghappy.org

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles