‘A Plastic Ocean: ห้วงมหาสมุทรพลาสติก’ วิกฤติหนักแห่งท้องทะเลที่มนุษย์ต้องเร่งแก้ไข

“โลก” หรือ “ดวงดาวสีฟ้า” เป็นชื่อเรียกที่ชวนให้หลงใหลไปกับความงดงาม อาจเพราะมีพื้นที่มหาสมุทรกว้างใหญ่ อีกทั้งเป็นบ้านของสรรพชีวิตหลากหลาย และทุกชีวิตควรมีความสุขในบ้านหลังนี้ น่าเสียดายที่ความงามนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา และอาจไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่สำหรับชีวิตใดเลย เพียงเพราะพฤติกรรมการบริโภค การใช้พลาสติก และการทิ้งขยะของมนุษย์ เรื่องราวทั้งหมดถูกขยายไว้ในสารคดีเรื่อง A Plastic Ocean

เครก ลีสัน นักข่าวและนักทำหนัง เป็นทั้งผู้กำกับฯ เขียนบท และผู้ดำเนินเรื่องหลัก โดยมี ทันยา สตรีตเตอร์ (นักดำน้ำหญิงคนแรกผู้ทำลายสถิติกีฬาทางน้ำของเพศชาย) เป็นผู้อุทิศตนให้กับการแก้ปัญหามลพิษในระบบนิเวศและขยะพลาสติกในมหาสมุทร มาช่วยสลับการเล่าเรื่อง ในขณะเดียวกันก็แทรกความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นมาประกอบ เช่น ดร.ลินเซย์ พอร์เตอร์ เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, เบน ฟอเกิล นักผจญภัยชาวอังกฤษ, ดร.ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์ และอีกหลายคน

เริ่มต้นหนังพาเราไปสัมผัสกับความงดงามของวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รักสงบ และเป็นมิตรกับมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นบริเวณที่ปลอดจากการทำการประมงมานานกว่า 30 ปี ทว่าทีมงานกลับพบกับเศษขยะพลาสติก คราบน้ำมันปนเปื้อนที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเต็มไปหมด ทำลายบรรยากาศงดงามในตอนแรกเริ่มไปจนหมดสิ้น ไม่เพียงเท่านั้น ชิ้นส่วนของขยะพลาสติกนี้เองที่เป็นสาเหตุให้วาฬสีน้ำเงินเกยฝั่งและขาดใจตายอย่างทุกข์ทรมาน ด้วยกระเพาะอาหารพิการไม่อาจย่อยอาหารได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของอีกหลายชีวิตที่พึ่งพิงกับท้องทะเลเช่น แมวน้ำ นก และเต่าทะเล ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน

พลาสติกจำนวนนับพันล้านตันที่มนุษย์สร้างขึ้น บริโภค และทิ้งจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ขยะมหาศาลจึงถูกทิ้งลงในทะเล ข้อมูลทั้งหลายล้วนนำมากระตุ้นเตือนใจตลอดเวลา และไม่ว่าจะทิ้งขยะจากที่ไหน ทะเลใด ในที่สุดก็จะไหลวนสู่มหาสมุทร และด้วยกระแสน้ำโลก ขยะเหล่านั้นพากันกระจายไปทุกที่ ทั้งชิ้นใหญ่หรือที่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนกลายเป็นโมเลกุลขนาดจิ๋วระดับไมโครปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงบนผิวน้ำเท่านั้น แต่ที่ใต้ท้องมหาสมุทรระดับ 300 กว่าเมตร ที่ซึ่งแสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง ทีมสำรวจก็ยังพบเจอขยะพลาสติกกองรวมกันอยู่มากมาย

สารคดียังสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบอื่นของปัญหา เช่น ในชุมชนชายหาดของเมืองมะนิลาในประเทศฟิลิปปินส์ หรือที่ประเทศตูวาลู ที่กลายเป็นจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่ เป็นที่ซึ่งผู้คนมากมายต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขอนามัย และเผชิญกับโรคภัยที่คาดไม่ถึง สำหรับบางประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน แม้จะมีการพยายามหาทางออกก็ตาม ไม่มีใครตอบได้ว่าขยะพลาสติกจริง ๆ ในท้องทะเลมีจำนวนมากขนาดไหน และเทคโนโลยีนั้นจะทันต่อการแก้ปัญหาในอนาคต ที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านคนหรือไม่ เพราะหมายถึงว่าจะมีจำนวนขยะพลาสติกมากมายกว่าปัจจุบันอย่างน้อยสามเท่าตัว

ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน แก้นิสัยมักง่ายในการทิ้งขยะ ช่วยกันลดจำนวนการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง ซึ่งสารคดีเรื่องนี้ได้นำเสนอไว้ในตอนท้ายคล้ายแสงสว่างอันริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์…โดยคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อวันหนึ่งโลกใบนี้คงจะหวนกลับมาเป็นสีฟ้าที่ใสสะอาดอีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อใคร..เพื่อลูกหลานของเราเอง

อ้างอิง: www.netflix.com

Tags

Tags: , ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles