ปูเมืองด้วยพรมสวย..เชื่อมโลกเก่าเข้ากับโลกใหม่ผ่านศิลปะลายเส้นของวัฒนธรรม

ศิลปินที่หลงใหลในงานสตรีทอาร์ตมักคิดคล้ายกันว่าผลงานทั้งหลายที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่นั้นเป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นคนดูที่ทำให้รู้สึกว่าศิลปะเป็นของสูงยากแก่การสัมผัส ซึ่งวิธีลดช่องว่างนั้นก็คือนำงานศิลปะเข้าหาผู้คนและสังคม ให้เขารู้สึกใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คงจะมีส่วนจริงไม่น้อย แต่เมื่อหวังจะให้เป็นศิลปะเพื่อสาธารณะที่อยู่ท่ามกลางสายตาผู้คนแล้ว ก็จำเป็นต้องมีเรื่องเล่าที่สะท้อนภาพสังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน และบางผลงานก็มีรากทางความคิดมาจากศิลปะในท้องถิ่นที่สานต่อมาแต่โบราณ เช่นงานชิ้นนี้ของ Arthur Louis Ignore

ด้วยลวดลายฉลุของผืนพรมที่วิจิตรสวยงามประดิดประดอยไว้สำหรับสถานที่สำคัญหรือการตกแต่งภายในอาคารหรู ขณะที่เมื่อมองลงภายในโครงสร้างของลวดลายเหล่านั้นก็สะท้อนให้เห็นรูปแบบสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาเอาไว้ อย่างรูปทรงทางเรขาคณิตทรงกลม, ทรงกระบอก, สามเหลี่ยม, สี่เหลี่ยม ฯลฯ ทั้งยังช่วยทำให้เห็นวิธีคิดหรือรสนิยมของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแทรกตัวอยู่และคงดำเนินควบคู่ไปกับวิวัฒนาการทางสังคม

Arthur-Louis Ignoré หรืออีกชื่อว่า A-L-I ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้พำนักอยู่ในเมือง Rennes ประเทศฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่มองเห็นความสวยงามของลวดลายทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น เขานำมาขยายต่อด้วยการคัดสรร ลดทอนเอาแค่รูปทรงโครงสร้างภายนอกของการถักทอเอามาวางบนพื้นถนน ฟุตบาท หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ด้วยการออกแบบให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ อย่างเหมาะสมลงตัว สร้างความแปลกให้ให้กับเมืองและบรรยากาศของเมืองที่ถูกปูพรมด้วยลายเส้น แถมยังเป็นความต่อเนื่องเชิงวัฒนธรรมที่เอามาล้อเข้ากับความทันสมัย กลายเป็นการผสมผสานความเก่าบนโลกใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งกลายเป็นงานเฉพาะตัวที่เขาสร้างสรรค์ไปตามที่ต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งหากจะว่าไปแล้วการวาดเส้นที่เรียบง่ายคลาสสิคเหล่านี้ สบายตากว่างานกราฟฟิตี้อันยุ่งเหยิง แล้วผู้คนที่สัญจรไปมาก็รู้สึกดีหลายคนคงแอบนึกอยากจะให้มีอยู่ในเมืองไปอีกนาน

อ้างอิง: Facebook: Arthur-Louis Ignoréisupportstreetart.combehance.netInstagram: arthur_louis_ignore

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles