Artstory By AutisticThai ธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อเสริมพัฒนาการ สร้างรายได้และอาชีพให้เด็กออติสติก

‘Autism’ เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกอย่าง ‘Auto’ ที่หมายถึง ‘Self’ หรือ การแยกตัวอยู่ตามลำพังในโลกของตัวเอง คำดังกล่าวเปรียบได้กับภาพสะท้อนของเด็กๆ ออติสติก ที่มีกำแพงใสๆ กั้นพวกเขาออกจากสังคมแวดล้อม

Artstory By AutisticThai คือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ บริษัท ออทิสติกไทยเพื่อสังคม จำกัด มีเป้าหมายในการนำเอาศิลปะมาใช้เพื่อการบำบัดเยียวยา กับปลายทางคือการช่วยขยับช่องว่างระหว่างสังคมและเด็กๆ ให้ใกล้กันมากขึ้น การสร้างความยั่งยืนในการใช้ชีวิต ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กออทิสติกในฐานะปุถุชนคนหนึ่งของโลกใบนี้

การได้พูดคุยกับวรัท จันทยานนท์ (พี) ผู้จัดการที่ทำหน้าที่ในการบริหารและกำกับดูแล, ภัคจิรา จันทยานนท์ (แพน) ผู้ช่วยผู้จัดการกับบทบาทการจัดการกลุ่มงานต่างๆ ไปจนถึง นฤมล ตันติสัจจธรรม (ครูต้อย) และ เพียงกาญจน์ สุวรรณปัต (ครูพิ้ง) สองนักศักยภาพด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้ความรู้ความสามารถมาพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะของบุคคลออทิสติก รวมทั้งน้องๆ หลายต่อหลายคน ก็ทำให้เราคลายความสงสัยในหลายประเด็นเกี่ยวกับเด็กออทิสติก และตระหนักได้แล้วว่า แท้ที่จริง ภายในกำแพงใสๆ นั้น พวกเขาไม่ได้ต่างไปจากเราๆ ท่านๆ เลยแม้แต่น้อย

Artstory By AutisticThai ธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้เด็กออติสติก

“Artstory By AutisticThai เกิดขึ้นประมาณ 3 ปี ที่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีแกลเลอรี่และโซนขายสินค้าแบบในปัจจุบันนี้ แรกเริ่มที่มูลนิธิออทิสติกไทยจะมีการฝึกน้องๆ ด้วยการบำบัดรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การฝึกศิลปะบำบัดที่จะช่วยให้น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เป็นการวาดรูปเล่นปกติแบบที่ไม่มีครูแนะนำหรือครูยังไม่เห็นผลงาน แต่เมื่อเรามีคุณครูสอนศิลปะที่เห็นผลงานแล้ว เราจึงมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถดึงศักยภาพและสร้างความยั่งยืนให้กับตัวเด็กๆ เราเลยเริ่มจากการคัดเลือกเด็กก่อนว่าคนไหนที่ดูมีแวว มีสมาธิมากพอที่น่าจะทำได้ เพื่อส่งให้คุณครูเริ่มฝึกเพื่อดึงพัฒนาการของน้องๆ ออกมา

เราเริ่มต้นจากการทำกระเป๋า แก้ว สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้น้องได้เรียนรู้วิธีการทำอะไรสักอย่างให้เป็นกิจวัตรและจดจำพัฒนาการของตัวเอง เช่น การสกรีนแก้วที่ต้องมีขั้นตอน เราจะฝึกฝนจนเขาทำได้ พอคนหนึ่งได้ เราก็จะคัดน้องๆ คนอื่นที่ไฮฟังก์ชั่น มีสมาธิ และเรียนรู้เร็วมาฝึกต่อ คุณครูก็จะเขยิบไปดูแลน้องๆ โลฟังก์ชั่นด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น การฝึกด้วยการพับกระดาษ โดยเราจะเลือกงานให้เหมาะกับน้องคนนั้นด้วย จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การทำงานศิลปะ เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราจึงก่อตั้ง ‘Artstory by Autistic Thai’ จากศิลปะบำบัดที่ไม่ได้เน้นการรายได้ มาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับเด็กๆ ซึ่งตอนนี้มีน้องๆ ประมาณ 20 คน เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในธุรกิจเพื่อสังคมนี้ด้วย

เป้าหมายแรกของเราคือพัฒนาเขาในเรื่องศักยภาพและความสามารถ สอง เมื่อมีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกัน เราจะส่งน้องไปเข้าร่วม สามก็คือ การกระจายงานเพื่อให้คนอื่นได้เห็นแล้วให้เกิดการซื้อขายและเป็นรายได้ให้กับน้องๆ รวมถึงตัวของออฟฟิศทั้งหมด ตอนนี้น้องๆ ศิลปินจาก 6 คน ก็เพิ่มมาเป็น 20 กว่าคนแล้ว”

เพียงกาญจน์ สุวรรณปัต (ครูพิ้ง) นักศักยภาพด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์

‘ศิลปะ’ เครื่องมือในการเยียวยาบำบัด 

ครูพิ้ง: “ครูเชื่อว่าศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป ระบายสี ทุกรูปแบบของศิลปะช่วยทุกคนนะ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ศิลปะสามารถช่วยเยียวยาบำบัดและสร้างความเพลิดเพลิน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ไปเน้นว่าจะต้องเหมือน ต้องสวย ต้องเป๊ะ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะทำให้เกิดความเครียด แต่เดิมเราใช้ศิลปะในการบำบัด ซึ่งในกระบวนการ เราไม่ได้ไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเหมือน แต่เราจะสร้างบรรยากาศให้เขาเชื่อใจ มีความสุข มีความกล้าที่จะตัดสินใจ ได้ระบายจากข้างใน การวิเคราะห์ ติเตียน ว่านู่นนั่นนี่ จะทำให้เครียด พอเครียด ก็ไม่ได้บำบัดแล้ว อย่างเช่น เด็กบางคน แรกๆ คือวาดไม่ได้เลย แต่ก็ค้นพบว่า เขาจุดอย่างเดียว เราเห็นว่าทำออกมาสวยมาก การที่จุดแล้วเราไม่ได้ไปวิจารณ์ว่าไม่สวย ไม่ดี เขาก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น เริ่มวาดเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ซึ่งมหัศจรรย์มาก เขาจะมีความภูมิใจกับตัวเขาเอง ตรงนี้ครูว่าสำคัญสุด แล้วครูจะบอกให้แข่งขันกับตัวเอง ไม่ได้ไปแข่งขันกับคนอื่น ให้พึ่งตัวเอง

ในขณะที่เราใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง เราก็จะมีกฎระเบียบผสมผสานอยู่เพื่อฝึกเรื่องการอยู่ร่วมกับคนอื่น การสื่อสารระหว่างกันด้วย ครูค่อนข้างที่จะบังคับให้ดูแลตัวเอง ไม่ปรนนิบัติพัดวีอะไรจนเกินไป แต่เวลาพูดบางทีจำเป็นต้องเสียงดัง ก็ต้องทำ เช่นเวลาไปไหน ก็ต้องบอกกล่าว ให้รู้กฎระเบียบว่าจะไปไหน ต้องให้เกียรติกัน ถ้าไม่ขอ บางทีก็ไปยาวเลยทั้งวัน แต่ตอนนี้ ถ้าจะไปห้องน้ำก็จะมาบอกครู เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเองแล้วค่ะ โดยที่ไม่ต้องวิ่งตาม แล้วก็นิ่งขึ้น”

ศิลปะสร้าง ‘ความสุข สงบ สบาย’ กุญแจที่ไขเข้าสู่จิตใจเพื่อฟื้นฟูในระดับลึก

ครูพิ้ง: “เมื่อเด็กๆ เข้าใจ สบายใจ มีสมาธิ เขาจะนิ่ง จะสื่อสารได้ จะมีสติ และสามารถพูดจาได้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ส่วนมากเด็กที่เริ่มฝึกใหม่ๆ จะมีบ่น มีพูดทวนคำถาม แต่ถ้าเขาเริ่มนิ่งก็จะมีสติ พูดคุยกันได้รู้เรื่อง ถ้าสมมติคนไหนเริ่มหลุดลอย ดูเส้นที่วาด สีที่ใช้กัน จะรู้เลยว่าไม่ได้ออกนอกกรอบนะ แต่เริ่มหลุดลอยเข้าไปอยู่ในโลกของตัวเองแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ครูจะเอาออกหมดเลยนะสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขา ซึ่งเขาก็จะรู้แล้วว่าต้องเริ่มจัดการกับตัวเองให้กลับมา ทีนี้ถ้าฝึกแบบนี้บ่อยๆ สติก็จะเยอะขึ้น ครูจะเน้นการฝึกจากข้างในออกมา พอตรงนั้นได้แล้วระดับหนึ่ง เราจะเริ่มสำรวจแล้วว่าแต่ละคนมีทักษะเรื่องอะไร แล้วดูว่าทำอะไรได้บ้าง จากนั้นจะส่งไปให้ครูต้อยเพื่อดูในเรื่องของเทคนิคต่อ”

นฤมล ตันติสัจจธรรม (ครูต้อย) นักศักยภาพด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์

พี: “ผมเห็นว่าน้องๆ ทุกคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหมด ยกตัวอย่างน้องคนหนึ่ง ตอนที่มาฝึกแรกๆ จะยังวาดได้แบบไม่ปะติดปะต่อ เส้นไม่ตรงกัน แต่เมื่อได้รับการฝึกฝน วันหนึ่งเขาก็สามารถวาดเส้นที่ต่อเนื่องกัน หลังจากวันที่วาดเส้นแล้วต่อกันได้แล้ว จากที่น้องเคยพูดติดๆ ขัดๆ ผมก็ไม่รู้นะว่าเป็นความมหัศจรรย์ของศิลปะรึเปล่า น้องเขาพูดคล่องและต่อเนื่องขึ้น แล้วพูดเก่งด้วย นี่คือหนึ่งในพัฒนาการที่ผมเห็นได้ชัดเลย สองจะเป็นเรื่องอารมณ์ จากที่เป็นคนอารมณ์ร้อน กรี๊ด วิ่งไปมาอยู่ข้างล่าง อารมณ์ก็ดีขึ้น เรื่องที่สามคือเรื่องการเข้าสังคม น้องๆ มีเพื่อนมากขึ้น สามารถเข้าสังคมได้ดีขึ้นทั้งในเรื่องการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กับสังคม หรือว่าพัฒนาการทางด้านภาษาและอารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีการนำศิลปะเข้ามาบำบัด เราก็เริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งดี

แพน: “โดยทั่วไป ทุกคนจะรับรู้ว่าพวกเขาคือเด็กออทิสติก แต่จะไม่รู้ว่าจริงๆ ของเขาอายุเท่าไหร่ พี่ชายของพวกเราก็ประมาณ 36-37 แล้ว สำหรับที่มูลนิธิฯ และ Artstory ก็มีตั้งแต่ 7-8 ขวบ จนถึง 50 เราไม่ได้ปิดกั้นเรื่องอายุใดๆ ซึ่งการเริ่มต้นฝึก ยิ่งรู้เร็ว รู้ทันว่าน้องเป็น ว่ามีอาการ ก็ควรจะรีบฝึก เพราะการฝึกตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้พัฒนาการเขาดีมากกว่ามาฝึกตอนที่อายุมากแล้ว แต่ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะมาเจอตอนโต เพราะตอนเด็กเขาก็ไม่รู้ ไม่มีข้อมูลว่าไปฝึกที่ไหน แล้วเขาก็สอนตามที่เขารู้ เลยทำให้เด็กยังไม่ได้รับการพัฒนา หรือมีอีกเคสหนึ่งคือผู้ปกครองบางส่วนไม่ยอมรับว่าลูกเป็น ก็จะไม่พาลูกไปหาหมอ ไม่พาไปตรวจไปเช็ค พอโตขึ้นมาก็จะแย่ หลายคนอยากพาลูกมา เพราะเห็นว่าคนอื่นทำได้ ก็อยากรู้ว่าลูกเขาจะทำได้ไหม แต่ปรากฏว่าพอเราถามไปถามมา ลูกเขายังไม่ได้รับการฝึกสอนที่จะทำให้พัฒนาได้เลย ก็ต้องมาเริ่มกันใหม่”

เมื่อคนใกล้ตัวเป็นออทิสติก

พี: “พี่ชายผมเป็นออทิสติก แรกๆ ตอนเด็กๆ ผมก็อายนะ แต่เมื่อผมเข้ามาทำงานตรงนี้แบบจริงจัง ผมว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าอายด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจมากกว่า แต่แน่นอน ก็จะมีคนที่รู้และไม่รู้ว่าคนนี้เป็นเด็กออทิสติก อย่างเวลาที่ผมไปดูหนัง พี่ชายของผมเขาก็จะพูดไปเรื่อยๆ ผมก็พยายามสะกิดเขาว่าให้เงียบก่อน แต่พี่คนข้างๆ เขาไม่รู้ ผมก็เห็น แล้วเขาก็ถามว่า “บ้าเหรอ” ผมก็บอกว่า “เขาไม่ได้บ้าครับ เขาเป็นออทิสติก” สักพักหนึ่งเขาก็ขอโทษ แล้วก็หันหน้ากลับไป แต่เราเข้าใจนะว่าคงไปขัดอารมณ์ในการดูหนังเขา นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เด็กออทิสติก หรือคนพิการอื่นๆ จะต้องเจอ”

แพน: “ตั้งแต่เด็กๆ เราจะรับรู้ว่ามีพี่ชายเป็นออทิสติก เราก็ไม่เคยคิดอะไรเลย แต่พอเริ่มโตขึ้น บางทีก็จะรู้สึกบ้างว่าคนอื่นคิดอะไรรึเปล่า แพนจะอยู่กับพี่ชายบ่อยที่สุด เวลาไปไหนก็จะพาไปด้วยกัน เราจะชินที่มีเขาอยู่ข้างกาย เราไม่ได้อายใครว่าเขาเป็นอะไร แค่คิดว่าเราเข้าใจเขาก็พอ และเขาก็เป็นคนหนึ่งในสังคมเหมือนกัน”

วรัท จันทยานนท์ (พี)

เพราะเด็กออทิสติกก็คือมนุษย์คนหนึ่ง

พี: “ผมอยู่ที่มูลนิธิฯ มานาน เพราะฉะนั้น ก็จะมีโอกาสได้เจอน้องหลายรูปแบบ ยอมรับว่าแรกๆ เราอาจจะมองเขาแปลกๆ นิดหน่อย แต่ตอนนี้ ผมรู้สึกว่าทุกคนเป็นเพื่อน พี่ น้องกัน เจอหน้าก็ทักทายปกติ เด็กออทิสติกทุกคนเขาจะมีความซื่อสัตย์ซื่อตรง จะเป็นแบบนั้น และมีความเป็นเด็กในตัวมากๆ มากที่สุดแล้ว (ยิ้ม) เห็นว่าเขาตัวใหญ่ๆ แบบนี้ ตอนแรกที่เห็น ก็คิดว่าน่ากลัวมากเลย ไม่กล้าเข้าไปเพราะว่าเขาตัวใหญ่กว่าเยอะ สรุปพอมาคุยกันเขาก็น่ารักมาก เป็นความรู้สึกเหมือนเด็กเพิ่งเกิดเลย ในความรู้สึกที่มอง เขาน่ารักน่ากอดหรืออะไรอย่างนี้ พอเวลาไปข้างนอกแล้วเจอคนที่เป็นน้องออทิสติก หรือว่าพิการอื่นๆ เหมือนกัน ผมก็จะไม่มีความรู้สึกอะไรแล้ว มองว่าเขาก็คนเหมือนกัน มีสิทธิ์ มีเสียงเหมือนกัน เท่าเทียมกับเรา บางคนเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ เรายังทำแบบเขาไม่ได้เลย”

ภัคจิรา จันทยานนท์ (แพน)

แพน: “แพนอยู่กับพี่ชายมาตั้งแต่เด็ก โตมากับเขาเลย เห็นเป็นครอบครัว แต่พอเราออกไปเจอสังคมข้างนอก เจอน้องๆ ตอนแรกก็มีความรู้สึกนะคะว่า เด็กๆ จะรู้สึกว่าตัวเราแปลกไหม ด้วยความที่เราก็เป็นคนที่คิดเยอะ แต่พอเข้ามาปุ๊บ ทุกคนก็สวัสดี ทักทายเหมือนว่าเราเป็นครอบครัว เขาก็ยิ้มรับด้วยความแจ่มใส เวลาเราไปเห็นคนข้างนอกที่เขาเป็นคนพิการ เราจะมีความเห็นอกเห็นใจเขา เข้าใจเขา จะไม่รังเกียจหรือเหยียดอะไรเลย แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่คิดตลอดว่า ถ้าคนภายนอกไม่ชอบเขาหรือว่ารังเกียจเขามันก็เรื่องหนึ่ง แต่คงไม่เท่าถ้าคนในครอบครัวไม่ยอมรับ เพราะถ้าเราเป็นเขา เราจะต้องรู้สึกแย่มากๆ แน่นอน เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องให้ความรักเขามากๆ”

ครูพิ้ง: “สำหรับครู ปัจจัยที่ครูคิดว่าสำคัญสำหรับเด็กๆ คือครอบครัว ในเรื่องของการสนับสนุน แล้วก็เรื่องกิจกรรม เช่น นิทรรศการต่างๆ ที่ทำให้เด็กนอกจากจะภูมิใจแล้ว เขาจะมีชีวิต ครูใช้คำนี้นะ เป็นมนุษย์มนากับเขาขึ้น เพราะครูอยากให้คนอื่นเห็นเด็กออทิสติกว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้ดูน่าสงสาร ให้เขารู้ว่าเขาก็เป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งนี้สำคัญในชีวิตนะ แล้วมันจะต่อยอดไปได้ เราต้องให้โอกาสและให้กำลังใจเขาหน่อย การสอนที่นี่ ครูจะบวกเยอะ แต่ไม่ใช่ว่าบวกจนล้า จนไม่มีความเป็นจริง บวกแต่ต้องอยู่ในความเป็นจริงด้วย แล้วพอเด็กๆ เห็นผลงานตัวเองไม่ว่าจะจากนิทรรศการ จากกระเป๋า จากเสื้อที่คนใช้คนใส่กัน เขาจะดีใจ เป็นปลื้ม นอกจากตัวเองแล้ว ความรู้สึกดีๆ แบบนี้ยังไปถึงครอบครัวด้วย”

ทฤษฎีสัมพันธภาพ

“การที่น้องๆ มีโอกาสได้ออกไปเจอสังคมในกิจกรรมต่างๆ แล้วคนข้างนอกได้เห็นถึงข้างในตัวเขา เป็นสิ่งที่ดีมากเลยนะ เพราะทำให้คนเข้าใจน้องๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปมากขึ้น มีน้องคนหนึ่งทำงานที่ร้านกาแฟ แรกๆ ที่ฝึก น้องจะเครียดมาก แต่เมื่อเขาได้ทำทุกวัน เจอคนบ่อยๆ ฝึกทักษะแบบเป็นกิจวัตร พอผ่านไป 1 ปี เขาทำได้ดีขึ้นมาก พูดคุยกับคนอื่นรู้เรื่องมากขึ้น ตอนนี้น้องเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว และยังทำงานที่ร้านกาแฟอยู่”

จัดการปัญหาอย่างเข้าใจ

“โดยรวม เรารู้สึกว่ามีแต่คนดีๆ เข้ามาหาเรา แต่ถ้าถามว่ามีปัญหาไหม เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหานะ เพียงแค่ต้องหาวิธีการจัดการในแต่ละเรื่องให้เหมาะสม เช่น การหาวิธีในการสร้างพัฒนาการให้เด็กๆ อย่างน้องบางคนมีอาการขึ้นๆ ลงๆ เราจะทำอย่างไร หรือเรื่องการผลิตแต่ละครั้ง เพราะเด็กไม่ใช่เครื่องจักร แน่นอนการทำงานก็จะต้องมีเสียบ้าง เราก็จะต้องสอน อธิบาย และใช้ความใจเย็นจากโค้ชและครู เราจะใจร้อนไปเร่งเขาไม่ได้ ส่วนสำคัญคือเราต้องเข้าใจเขาด้วย เวลาทำงาน เราทำงานร่วมกับเขา ไม่ต้องไปกดดันอะไร ทำได้เท่าไหนเท่านั้น ถึงเวลาพัก เราก็ให้พัก เขาไม่ไหวก็บอกเราได้ แล้วน้องเขาก็จะดีเอง แต่ถ้าปัญหาใหญ่ผมมองว่าเรายังไม่ได้เจออะไรที่มันหนักหนานะ”

มุมมองต่อเด็กอออทิสติกในวันนี้

“ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อน คนอาจจะยังไม่เปิดรับ ไม่รู้ข้อมูลว่ามีโรคนี้ อาการแบบนี้อยู่ บางคนก็จะเหมารวมว่าเป็นคนที่บกพร่องทางสติปัญญา ไม่ปกติ เขาจะคิดกันไปทางแนวนั้น แต่เมื่อมีข้อมูลทางวิชาการขึ้นมา หลักฐานตรงนี้พิสูจน์ได้ เขาก็เข้าใจมากขึ้น เริ่มเปิดรับหมดแล้ว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เขาอยากจะสนับสนุนและพยายามจะเข้าใจ อยากได้ความรู้ แต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน หรือบางคนพอได้ฟัง ก็อินไปเลยนะ เขาก็อยากสนับสนุน มีแฟนคลับของน้องๆ กลุ่มหนึ่ง ที่เวลาเราไปออกบูธที่ไหนเขาก็จะตามไปซื้อของที่นั่น

ถึงตอนนี้โซเชียลมีเดียจะเป็นสื่อสำคัญในการเป็นแหล่งที่จะคอยกระจายข่าว แต่ว่าก็เป็นแค่พักๆ เราคิดว่าทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งในเรื่องความตระหนักต่อสังคมขึ้นอยู่กับตัวบุคคล การจะให้เกิดการยอมรับ ต้องอาศัยการร่วมมือทั้งจากองค์กรเอกชนและรัฐบาล กลุ่มคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางด้านอื่นๆ ถ้าสิ่งเหล่านี้ดีขึ้น การใช้ชีวิตหรือว่าการออกพบปะคนข้างนอกจะทำให้ชีวิตของเขามั่นคงขึ้นและดีขึ้นตาม เหมือนที่ต่างประเทศเขาก็ทำกัน เพราะที่ต่างประเทศเขาไปไกลแล้ว ส่วนประเทศไทยเราก็ไม่ได้แย่นะ หลายๆ ประเทศก็มีมาดูงานของเรา ทั้งจากฝั่งยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วเราก็เริ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในแต่ละประเทศก็จะมีกฎหมายที่ไม่เหมือนกัน อย่างประเทศออสเตรเลียก็จะให้อิสระและสิทธิกับคนพิการ เขาจะมีกฎหมายรองรับมากกว่าบ้านเรา ในเชิงกฎหมายที่ไทยจะจัดเด็กออทิสติกอยู่ในกฎหมายของคนพิการ มีกฎหมายของคนพิการคุ้มครองอยู่ เช่น เรื่องการใช้สิทธิ แต่ก็จะมีแค่ระดับหนึ่ง ในเรื่องการให้การศึกษากับคนพิการที่จะต้องได้รับการศึกษาขั้นต่ำถึงอายุเท่าไหร่ การจ้างงาน ซึ่งถ้าในอนาคต เมืองไทยสามารถทำแบบต่างประเทศได้ก็จะดีมาก”

“ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ การที่น้องๆ มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งสะท้อนผ่านผลงานและวิธีการแสดงออก ก็ทำให้ผู้ปกครองได้ปลดล็อกตัวเองเหมือนกันนะ แรกๆ เขาไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น เมื่อเราส่งผลงานไปให้เขาดูว่าวันนี้น้องทำอะไรไป ปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ก็จะไปดูลูกตลอด แล้วน้องก็รู้สึกดีที่มีพ่อแม่ไปดู เพราะแต่ก่อนฉายเดี่ยว ออกงานคนเดียว ไปกับเพื่อนๆ ผมคิดว่าผู้ปกครองน่าจะรู้สึกภูมิใจในตัวลูกๆ มากขึ้น เมื่อพวกเขารับได้ เห็นว่าลูกๆ มีความสามารถไม่ต่างจากคนอื่น เขาก็ไม่ติดขัดเลยในเรื่องที่จะเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้”

การส่งเสริมและพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนิยาม Artstory By AutisticThai

“ความยั่งยืนในความหมายของ Artstory คือยั่งยืนทั้งตัวเขาและครอบครัว เช่น การทำงานหาเลี้ยงชีพ เขาคนเดียวหาเงินได้ ก็อาจจะเลี้ยงตัวเองได้แน่ๆ แล้วหนึ่งคน แต่เลี้ยงครอบครัวได้ไหมก็ต้องดูจากสถานะครอบครัวด้วย หรือถ้าครอบครัวมีญาติพี่น้อง ต่างคนต่างทำงานก็เหมือนเขาเป็นคนที่ทำงานแล้ว อย่างน้องคนหนึ่งทำงานที่นี่ชื่อน้องเกม เขาก็ทำงานเก็บเงินส่งให้น้องที่เป็นคนปกติ เอาเงินที่ได้มาส่งให้เรียน ผมคิดว่ามันก็เป็นตัวอย่างของความยั่งยืนอันหนึ่งที่อยากให้ทุกคนเป็นแบบนั้นได้ ถ้ามีหนึ่งคน อย่างน้อยก็จะต้องมีตามกันมาได้อีกแน่ๆ เราจึงอยากจะทำให้มันเกิดขึ้น หาเรามาช่วยกันทุกคน ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น”

สร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาศักยภาพ 

“เราอยากสร้างเครือข่ายขยายให้คนต่างจังหวัดเพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือเขามากขึ้น ตอนนี้ที่มูลนิธิฯ มีเครือข่ายทั้ง 76 จังหวัด แต่ถ้าพูดทางด้านศิลปะของ Artstory ตอนนี้ที่ต่างจังหวัดยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจะช่วยได้ในแง่ของการส่งต่อผลงานแล้วเราจะเป็นสื่อกลางในการขายให้ ในอนาคต เราวางแผนว่าจะมีการไปเทรนและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เป็นออทิสติกสามารถหาข้อมูล เป็นคล้ายๆ แบบสอบถามเพื่อให้ทบทวนตัวเองว่าลูกเราเป็นอย่างไร ลูกเราทำอะไรได้บ้าง คุณมองว่าลูกของคุณมีทักษะและศักยภาพด้านใด ค้นหาความสนใจและความสามารถของน้องเขา”

ความฝันสูงสุดคือการเห็นน้องๆ เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง

“เราอยากให้ Artstory พัฒนาอย่างนี้ต่อไปในแง่ของการดำเนินการต่างๆ ส่วนในมุมธุรกิจเพื่อสังคมก็อยากจะให้ที่นี่ขยายมุมกว้างมากขึ้น สร้างอิมแพคที่ไม่ใช่กับแค่กลุ่มและจำนวนนี้ที่มีอยู่ตอนนี้ แต่อยากจะให้มากขึ้นไปทั่วประเทศ จริงๆ คุณพ่อคุณแม่ของเด็กทุกครอบครัวเลยที่มาก็จะคาดหวังอย่างแรกเลยคืออยากให้ลูกโตไปแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ บางคนมีลูกคนเดียวแล้วเป็นออทิสติก ก็จะรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะถ้าเขาไม่อยู่แล้ว น้องจะอยู่ที่ไหน บางคนก็บอกว่าอยากให้น้องไปก่อนตัวเอง ความคิดพ่อแม่คือเป็นห่วง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยเราก็จะต้องทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ นี่ก็คือสิ่งที่เราอยากทำ ตราบใดที่ยังมีองค์กรอยู่ มันก็จะยังคอยซับพอร์ตเด็กๆ ไปเรื่อยๆ แบบนี้ ฝึกทักษะที่เขายังขาดอยู่ ทางวิชาการเราไม่ได้เน้นหนัก เราจะเน้นให้เขาช่วยเหลือตัวเอง ทักษะการเข้าสังคม ฝึกอาชีพให้กับเขา เวลาออกไปข้างนอกตอนเย็นๆ จะเห็นเลยว่าน้องกลับบ้านกันเองหมดเลย เดินทางกันเองเก่งมาก ถ้าบ้านไกล ก็จะเดินทางด้วย BTS เขารู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นคนพิการ ถ้านั่ง BTS จะฟรีนะ แล้วก็ให้คนนอกมีความเข้าใจต่อบุคคลกลุ่มนี้มากขึ้น”

“สิ่งที่น้องทำได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งมากๆ แล้วนะ เพราะถ้าเราลองเปรียบเทียบกับคนพิการกลุ่มอื่นๆ เขายังสมองปกติ แต่น้องๆ พิการทางสมอง สื่อสารก็ลำบากกว่าคนอื่น เขาอาจจะโชคดีที่มีร่างกายปกติ แต่ว่าข้างใน การเรียนรู้อะไรก็ช้ากว่า เพราะฉะนั้น Artstory ก็เป็นเหมือนช่องทางหนึ่งในการที่จะให้สังคมเข้าใจ แล้วก็ยอมรับมากขึ้น เราคิดว่าหากทุกคนเปิดโอกาสให้กับน้องๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Artstory หรือน้องๆ ที่มาทำงานอยู่ที่นี่ หรือว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้นได้”

ความสุขเกิดขึ้นเมื่อเราได้อยู่ด้วยกัน

พี: “ความสุขของผม เวลามีใครมาผมชอบเล่าว่าทำอะไร ผมชอบชวน เพราะอยากให้ไปดูว่าเราทำอะไรกันอยู่ การได้เจอเด็กๆ ที่น่ารักแล้วเขาไม่ได้คิดอะไร อย่างเพื่อนๆ ไปทำงานข้างนอก เขาอาจจะเจอความซับซ้อนของคน แต่พอมาอยู่ในห้องทำงาน ไปดูภาพที่น้องๆ วาด เราก็สบายใจขึ้น”

แพน: “รู้สึกเหมือนกันนะคะ ถ้าเราไปข้างนอก เราจะเจอคนเยอะ หลากหลาย มันเหมือนมีการปรุงแต่งในความคิดเยอะ แต่พอเรากลับมาอยู่กับเด็กๆ คุณครูที่เข้าใจเด็ก เหมือนได้กลับมาอยู่กับครอบครัว เขาเข้าใจเรา บางทีเราแค่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ เด็กคุยอะไรมา เราก็ตอบรับไป เรารู้สึกว่า ในวันนี้ที่เราอาจจะรู้สึกแย่ แต่เขายังคุยกับเรา เขาเป็นแบบนี้ เขายังมีความสุข ยังยิ้มได้เลย เราก็ต้องเดินหน้าสิ ไม่ใช่การเปรียบเทียบนะ แต่เป็นกระจกสะท้อนว่าตัวเราเองต้องทำให้ได้เหมือนกัน มีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น พี่ชายแพนเป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร เราจะต้องไปให้ไกลกว่านี้นะ ต้องดูแลเขาให้ได้”

ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: Artstory by Autisticthai

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles