กูเกิ้ล (Google) เป็นเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของโลก อยากรู้อะไรแค่ใส่คีย์เวิร์ดก็เจอข้อมูลได้รวดเร็ว โดยระบบจะดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราอยากรู้ขึ้นมาโชว์เป็นแถบ และปัจจุบันกูเกิ้ลยังใช้ระบบ predictive text search หรือระบบเดาคำล่วงหน้าว่าผู้ใช้ต้องการค้นหาคำว่าอะไรตั้งแต่ผู้ใช้ยังพิมพ์คีย์เวิร์ดไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ เรียกว่าเหมือนจะอ่านใจผู้ใช้ได้ ซึ่งด้วยความเข้าถึงข้อมูลง่าย สะดวกรวดเร็ว เลยทำให้เกิดพฤติกรรมที่ พอไม่รู้อะไรก็ถามกูเกิ้ลก่อนเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งอาการเจ็บป่วยก็หาข้อมูลจากกูเกิ้ล เพราะง่ายกว่าไปหาหมอเยอะ
Babylon แอพลิเคชั่นด้านสุขภาพของประเทศอังกฤษ ให้ข้อมูลและการปรึกษาด้านสุขภาพโรคภัยต่างๆ อย่างถูกต้องจากบุคลากรแพทย์ตัวจริง โดยสามารถพูดคุยและปรึกษากับแพทย์ได้ผ่านระบบวิดีโอ ต้องการให้ผู้คนตระหนักถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง จึงมอบหมายให้เอเยนซี่ดัง Ogilvy & Mather ลอนดอน ออกไอเดียเตือนประชาชนว่าอย่าเสิร์ชหาคำตอบเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเองในกูเกิ้ล เพราะกูเกิ้ลไม่ใช่หมอ ไม่สามารถวินิจฉัยอาการได้ แค่ถามอาการป่วยธรรมดา คำตอบของกูเกิ้ลอาจพาคุณนอยด์จนทำให้เข้าใจผิดว่าป่วยหนักร้ายแรง ซึ่งอาการป่วยอุปทานนี้เรียกว่า Cyberchondria โดยแคมเปญนี้ใช้สื่อกลางแจ้งเป็นหลักกระจายทั่วกรุงลอนดอน ใช้ภาพที่ผู้คนคุ้นตากันดี นั่นคือภาพหน้าเครื่องมือค้นหาของกูเกิ้ล เช่น ในช่องใส่คีย์เวิร์ดพิมพ์คำว่า ‘ปวดหัว’ แต่แถบแสดงคำคาดเดาจากกูเกิ้ลดันถามว่า คุณหมายถึง เนื้องอกในสมองหรือเปล่า / ‘ผมร่วง’ คุณหมายถึง การหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือเปล่า / ‘เจ็บคอ’ กูเกิ้ล อาจพาไปไกลถึงขั้นภรรยานอกใจ!! (ไปกันใหญ่ละอากู๋) ตบท้ายด้วยข้อความว่า Don’t ask the internet. Ask a real doctor. (อย่าถามเนท ถามแพทย์เถอะ) หากคุณจะทดสอบว่า กูเกิ้ลพาคุณนอยด์ได้จริงหรือ ก็ลองค้นหาคำง่ายๆ อย่างคำว่า ปวดท้องหรือปวดหัวดูก็ได้
กูเกิ้ล เป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่สามารถให้คำตอบและข้อมูลที่ถูกต้องได้ทุกอย่าง ถ้าหากไม่แน่ใจว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่คืออะไร ควรไปพบแพทย์โดยตรง เพื่อรับคำแนะนำและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
อ้างอิง : Oglivy ,The-Dots