หลายคนอาจรู้จัก ท็อป – พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ในฐานะนักแสดงและพิธีกร แต่ในช่วงหลายปีมานี้ เขาได้ขยายบทบาทของตัวเองสู่การเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญซึ่งทำให้คำว่า ‘Eco’ มีตัวตนในแผนที่ประเทศไทย ความเชื่อของเขาและทีมงานที่ว่า ‘เราสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่มากขึ้นด้วยการออกแบบ’ ได้ถูกลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่อย่าง ‘ECOSHOP’ เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท คิดคิด (Kidkid) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบผลงานซึ่งคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม การสร้างแบรนด์ Brand O (โอ) กับงานดีไซน์รักษ์โลก ไปจนถึงการก่อตั้งกลุ่ม ‘ECO DESIGN THAI’ และล่าสุดกับการออกแบบแอพพลิเคชั่น ‘ECOLIFE’ เพื่อช่วยลดการใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ตลอดหนึ่งชั่วโมงเต็ม นอกจากการเล่าให้เราฟังถึงต้นทางความคิดของเขากับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่ ท็อป พิพัฒน์ หยิบเอามาแบ่งปันในการพูดคุยครั้งนี้ ยังทำให้เราเห็นว่า เส้นทางสายนี้ของเขาไม่ได้ราบเรียบนัก แต่ความขรุขระในแต่ละย่างก้าวที่เขาเดินไป ได้หล่อหลอมทั้งความคิด ทัศนคติ รวมทั้งการมองโลกของเขาในฐานะนักออกแบบ นักคิด และนักพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้น่าสนใจมากทีเดียว
ต้นขั้วทางความคิดของเส้นทาง ‘รักษ์โลก’
“หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมมาเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA ช่วงปี 2007-2008 ซึ่งเอาจริงๆ ณ เวลานั้น ผมคิดแค่ว่าอยากจะดีไซน์ของให้ขายได้ แทนที่จะดีไซน์เสร็จแล้วมานั่งชื่นชมเอง ประจวบเหมาะกับที่ผมได้ไปดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth และเกิดความสงสัยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกของเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า จึงหยิบประเด็นนี้มาทำเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ความรู้ความ เข้าใจ และแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคต่อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ พอทำวิทยานิพนธ์เสร็จเรียบร้อย ก็มีโอกาสได้เจอคน เจอของ เจอแบรนด์ที่ทำในเมืองไทย และเริ่มสนใจงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนมีโอกาสได้เปิดร้านชื่อ ECOSHOP เพื่อรวบรวมสินค้าเหล่านี้เอาไว้ โดยผลงานที่อยู่ใน ECOSHOP จะเป็นงานของดีไซเนอร์ไทยทั้งหมด เพราะเราตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า เราอยากจะให้ได้ 3 อย่าง หนึ่งคือต้องให้ความรู้ ดังนั้นเราเลยมีป้ายที่ติดรายละเอียดไว้ สองคือต้องให้โอกาสดีไซเนอร์ไทยในการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่เขาจะเอาสินค้าเขาไปวางในห้างหรือไปขายที่อื่นๆ ต่อไป ที่นี่จะเป็นบันไดขั้นแรกในการขาย และสุดท้ายคือต้องพยายามเข็น รวมถึงช่วยกันเพื่อให้งานของเขาขายให้ได้ เพราะถ้าเขาขายได้ นั่นหมายถึง เขาจะสามารถนำผลงานไปพัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้าอื่นๆ ได้อีก ซึ่งท้ายที่สุด ผลก็ตกมาที่สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป”
คิดคิด (Kidkid) และ Brand O (โอ) กับความเชื่อที่ว่า ‘เราสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่มากขึ้นด้วยการออกแบบ’
“หลังจากทำ ECOSHOP มาพักหนึ่ง ก็เริ่มมีคนมาถามเรามากขึ้นว่า ถ้าเขาอยากจะออกแบบ อยากจะได้สินค้า และอยากจะทำแคมเปญหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถทำอย่างไรบ้างหรือมีวิธีการอย่างไรบ้าง เราเลยเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่สามารถทำเป็นเซอร์วิสได้ คิดคิด (Kidkid) จึงถูกก่อตั้งขึ้นมา ณ เวลานั้น เพื่อรองรับเซอร์วิสตรงนี้”
คิดคิด (Kidkid) คือบริษัทที่ปรึกษาซึ่งดำเนินการโดยให้ความสำคัญไปกับการสร้างคุณค่า การหาข้อมูล ไปจนถึงการร่วมมือกัน โดยใช้แนวคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนงานออกแบบมาเป็นเครื่องมือหลัก ด้วยปลายทางคือการสร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“หลังจากที่ Kidkid ตั้งได้สักพัก ผมก็สร้างแบรนด์ออกแบบโปรดักท์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อ Brand O (โอ) โดยสิ่งที่เราโฟกัสไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่เราดูตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ทั้งการเลือกและใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การจัดการ จนกระทั่งการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเมื่อฟีตแบคดีขึ้น เราจึงขยายเครือข่ายและก่อตั้งกลุ่ม ‘ECO DESIGN THAI’ ที่เน้นกลุ่มสินค้าออกแบบไทยๆ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น”
จากเสียงเล็กๆ สู่การสร้างพลังให้คำว่า ‘ECO’ แข็งแรงขึ้นในสังคม
“ถ้าเทียบกับแต่ก่อน เราต้องให้ข้อมูลว่า ‘Eco’ คืออะไร แปลว่าอะไร ทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจแล้ว เพราะคนในสังคมเข้าใจและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจนเขาพูดกันติดปาก ทั้งคำว่า Eco ลดโลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทางภาครัฐและบริษัทต่างๆ เองก็มีความตระหนักและตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว ซึ่งยิ่งเป็นผลดีที่ทำให้ง่ายต่อการสื่อสาร เพราะเวลาที่เขาสื่อสารออกมานั่นคือการตะโกน ทำให้คนได้ยินเยอะ เหมือนกับว่าเราไม่จำเป็นต้องพูดอยู่ด้วยเสียงของเราฝ่ายเดียวแล้ว นั่นเลยช่วยทำให้คนเข้าใจและรับรู้มากยิ่งขึ้น”
แม้ Eco จะเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคนไทยในช่วงเวลานี้แล้วก็ตาม แต่พวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น “เรื่องที่เราอยากจะโฟกัสต่อมาคือเราพยายามที่จะสร้างความเข้าใจกับนักออกแบบว่า สินค้า Eco สามารถทำให้ราคาต่ำลงได้ด้วยวิธีการออกแบบ และการทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้า Eco ไม่ได้ราคาแพงเสมอไป เพราะส่วนใหญ่ สิ่งที่คนพูดเสมอคือ “รักษ์โลกทำไมต้องจ่ายแพงกว่าชาวบ้านเขาด้วย” ซึ่งจริงๆ ก็มีวิธีการ แต่ว่าเรายังสื่อสารไปได้ไม่มากพอ เลยทำให้สินค้าบางอย่างยังราคาสูงอยู่”
ห่วงโซ่อุปสงค์เปลี่ยนแปลง สู่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ถามว่าความต้องการของคนกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเปลี่ยนไหมจากที่ผมทำในช่วงแรก ต้องบอกแบบนี้ ถ้าเขาเห็นว่าสิ่งนั้นดีกับตัวเอง ของสิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ อย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 แน่นอนว่าดีกับสิ่งแวดล้อมเพราะว่าประหยัดพลังงาน แต่ว่าคนใช้เองก็รู้สึกว่าถ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 จะทำให้เขาประหยัดเงินด้วย ดังนั้น แปลว่าถ้าใครจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ก็จะอยากได้เบอร์ 5 หรือว่าคนปั่นจักรยานแล้วช่วยลดการใช้รถยนต์ แน่นอนปลายทาง สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแน่ แต่ก่อนที่จะถึงปลายทางนั้น ต้นทางคือสุขภาพของคนปั่นที่ดีก่อน แล้วเขารู้สึกว่า คนปั่นจักรยานก็เท่ มีกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ก็เลยเป็นผลพวงที่ทำให้สินค้าหรืออะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความต้องการมากขึ้น”
“ขณะที่ตอนนี้ สิ่งที่เราพบคือถ้าเราพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ดี มีคุณภาพ และสามารถสื่อสารแล้วน่าสนใจ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดแฟชั่น เช่น กระเป๋า แอคเซสซอรี่ ผมก็เชื่อว่าคนไทยเราก็คงอยากจะซื้อมากขึ้น อย่างแบรนด์ Freitag ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผมใช้มาตั้งนานแล้ว แล้วก็รู้ว่าผลิตภัณฑ์เขาทำมาจากผ้าใบ จาก safety belt จากยางในใช้แล้ว แต่พอเขาทำให้เท่และมีการสื่อสารที่เท่ คนไทยเราหลายคน ณ ปัจจุบันก็ยอมจ่ายในราคาสูงขนาดนั้น แล้วถ้าเกิดแบรนด์ไทยทำได้ เกิดการยอมรับ ผมว่าก็อาจจะไปได้ถึงขั้นนั้นได้ ซึ่งเท่าที่ผมเห็นก็มีอย่าง Rubber Killer ผมว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สุดท้ายแล้วก็สามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ ได้ว่า คุณต้องทำให้สินค้าดีพอที่คนอยากจะจ่าย เพราะเมื่อเขาใช้งาน โปรดักท์ก็จะแสดงให้เห็นความเป็นตัวเขาด้วย ที่ยกตัวอย่างทั้งแบรนด์นอกและไทย เพราะจะบอกว่านี่ไงคนไทยเราก็ทำได้เหมือนกัน”
‘พลาสติก’ ในวันที่ศักดิ์ศรีถูกลดทอน
“ถ้าถามถึงพฤติกรรมอะไรที่น่าเป็นห่วงตอนนี้เหรอ ที่เห็นกันมากๆ คงเป็นเรื่องพลาสติกนี่แหละ แต่ผมไม่เคยกล่าวโทษพลาสติกเลยนะ แล้วจริงๆ ตอนแรกที่ถุงผ้าเขียนว่า I’m not a plastic bag. ในตอนนั้นก็ไม่เห็นด้วย เพราะพลาสติกไม่ได้ผิดอะไรที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เขาถูกผลิตมาเพื่อใช้งาน มีความแข็งแรง และทนทาน กว่าจะย่อยสลายได้ก็ 400-600 ปี เข้าไปแล้ว แต่การบริโภคจนเคยชิน แล้วใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง หรือบางคนใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผมว่าเยอะเกินไปหน่อย เช่น ได้ถุงพลาสติกมาจากในร้าน แค่เดินออกนอกร้านก็ทิ้งแล้ว แต่รับมาก่อนเพราะว่าพนักงานให้และได้มาฟรี หรือหลอดที่ได้มาบางครั้งก็ไม่ได้ใช้ มาดูอีกทีคือเป็นกำเลยอยู่ในห้อง หรือเวลาเราไปซื้อเครื่องดื่ม เช่น ชานม คนขายก็จะมีแก้ว ฝาปิด หลอด ที่พันแก้วกระดาษ ใส่ถุงกระดาษ และถุงพลาสติกหิ้ว แบบนี้ผมว่าเยอะเกินไป แล้วเราดื่มแป๊บเดียว ก็ทิ้งทั้งหมดลงถังขยะ ซึ่งบ้านเรา พูดตรงๆ การจัดการขยะยังไม่ดี สุดท้ายแล้ว ขยะนี้ก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ การบริโภคแบบนี้ เมื่อก่อนก็ไม่มีนะ เราไม่ได้ต้องใช้อะไรเยอะขนาดนั้น ซึ่งผมว่าน่าจะลดลงได้ หรือปฏิเสธบางอย่างได้ แล้วใช้พลาสติกให้สมศักดิ์ศรีเขาหน่อย”
‘ECOLIFE’ แอพพลิเคชั่นเพื่อลดการใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
“อย่างที่บอกไปว่า ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นและน่าเป็นห่วงก็คือเรื่องขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนี่แหละ ผมและทีมงานเริ่มคิดเรื่องนี้แบบจริงๆ จังๆ ประมาณสัก 2 ปีก่อน โดยเราอยากทำอะไรที่ใช้ไม่ยาก มีความสนุก แล้วก็วัดผลได้ ก็มาจบที่ ‘ECOLIFE’ แอพพลิเคชั่นที่ออกแบบเพื่อสื่อสารให้สังคมเห็นว่า เอาเข้าจริง เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเราทำเป็นแคมเปญที่ชื่อ ‘ลด ล้าน ชิ้น’ กับความตั้งใจที่อยากจะลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้มากที่สุด โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก่อน แล้วค่อยขัยบไปโฟกัสในระดับอื่นๆ ต่อไป ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยปลายทางที่อยากจะไปให้ถึงคือคนทั้งประเทศไทย”
ECOLIFE 2018 คือแอพพลิเคชั่นในมือถือที่มาในรูปแบบเกมการสะสมพื้นที่และตัวการ์ตูนให้เพิ่มมากขึ้น จากการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ถุง หลอด แก้ว ช้อน และส้อม) ด้วยวิธีการคือเมื่อผู้ใช้งานได้ใช้บริการตามร้านอาหาร ร้านน้ำ ร้านค้า และร้านสะดวกซื้อ พร้อมกับการปฏิเสธไม่รับพลาสติกแบบใช้เดียวทิ้ง ผู้ใช้งานสามารถสแกน QR Code ที่ติดอยู่ตามร้านต่างๆ จากนั้น ECOLIFE app จะทำการบันทึกข้อมูล ทั้งประเภทของพลาสติกและจำนวนครั้งที่ทำการปฏิเสธ พร้อมตอบแทนด้วยการเติบโตของพื้นที่และจำนวนการ์ตูนที่เพิ่มขึ้นใน ECOLIFE app นอกจากนี้ยังสามารถสะสมคะแนนเพื่อรับของขวัญ (สิทธิประโยชน์) จากผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งหลายอีกด้วย
ทางออกบนสิ่งที่ทำได้จริง
“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการใช้พลาสติกหรือพฤติกรรมที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับผม ผมคิดว่าถ้าอะไรที่ทำแล้วดีกับตัวคนทำเอง นั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในระยะยาว ตัวผมเอง ผมเริ่มปรับจากการใช้ชีวิต เช่น ผมพกขวดน้ำที่เติมน้ำมาจากที่บ้าน นั่นแปลว่าวันหนึ่งผมจะรู้ว่าผมควรจะดื่มน้ำอย่างน้อยๆ ให้หมดขวด และพยายามจะทำให้ได้ เพราะร่างกายเราต้องการน้ำ แถมเป็นน้ำที่เรากรองเองด้วย ประหยัดเงินกว่าการไปซื้อน้ำเปล่าข้างนอก แล้วก็ไม่ต้องเพิ่มขยะจากขวดพลาสติกที่ไม่จำเป็น หรือผมพกผ้าเช็ดหน้า เพราะจะได้ไม่ต้องเอามือตัวเองที่เลอะๆ มาปาดหน้าเวลาเหงื่อออก สิวก็ไม่ขึ้น และสุดท้ายแล้ว เรายังช่วยลดการใช้กระดาษทิชชู่ ซึ่งทิชชู่ได้มาจากการตัดต้นไม้”
“แต่ถ้าบางอย่างทำไม่ได้ผมก็ไม่ทำนะ ซึ่งเคยลองแล้ว เช่น กินน้ำปั่นแล้วไม่เอาหลอด คือไม่ได้ หรือชานมไข่มุก ถ้าไม่มีหลอด เราก็ดูดไข่มุกไม่ขึ้น ก็ใช้หลอดเถอะ หรือปกติเวลาผมเข้าไปซื้อของก็จะเอาของที่ซื้อใส่กระเป๋าที่พกมา แต่ในวันที่ผมไปร้านสะดวกซื้อ แล้วซื้อข้าวหอมมะลิที่อุ่นในไมโครเวฟ มันร้อน แบบนั้นถือกลับมาไม่ได้ ก็ต้องขอถุง ผมว่ามีอีกหลายๆ เรื่องเลยที่ถ้าสมมติว่าเราได้คิดก่อน และคิดว่าทำถ้าแบบนี้น่าจะดีกับตัวเราเอง รวมถึงสามารถช่วยเรื่องการบริโภคและลดภาระอะไรหลายๆ อย่างได้ ก็ลองทำดู ใช้ชีวิตให้เป็นปกติแหละ ทำในสิ่งที่ไม่ได้ฝืนตัวเองอะไรขนาดนั้น”
‘ดีหรือไม่ ใครจะรู้’ คติเตือนใจท่ามกลางปัญหา
“ณ ตอนนี้ สิ่งที่ผมกับคุณนุ่น (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) มักจะพูดกันเสมอเวลาเจอกับปัญหา คือ ‘ดีหรือไม่ ใครจะรู้’ แน่นอนว่าเราเจอปัญหาทุกวันแหละ บางอย่างก็จัดการได้ แต่บางอย่างถ้าแก้ไม่ได้ก็แปลว่าเราต้องปล่อย ซึ่งพอปล่อยไป กลับกลายเป็นเรื่องดีเสียอย่างนั้น เราก็ใช้วิธีคิดแบบนี้ ซึ่งผมว่าเวิร์คดีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้น เราจะใช้ประโยคนี้อย่างเดียวแล้วช่างหัวมันในทุกๆ ปัญหานะ เราพยายามแก้นั่นแหละ ถ้าอะไรที่ไม่ควรจริงๆ ก็ไม่ควรที่จะช่างหัวมัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้ามีเดดไลน์ที่บอกเรามาแล้ว เราก็จำเป็นต้องส่งงานให้ลูกค้าตามเดดไลน์ที่เขาให้มา ทำให้ดีที่สุด หรือเรื่องแฟน โห…รักเขามาก แต่เขาดันแย่เสียเหลือเกิน วันหนึ่งเลิกรากันไปแล้วได้เจอคนใหม่ เราก็จะรู้ว่า ดีแล้วที่วันนั้นเลิกกันไป ทำนองนั้น”
เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก
“การทำงานที่ผ่านมา ถ้าถามว่ามุมมองอะไรเปลี่ยนไปไหม ตอนแรกเลย ผมพยายามจะบอกคนอื่นๆ ว่า คุณทำอันนี้สิ คุณบริโภคแบบนี้สิ คือเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีนะ จะดีกับทั้งภาพรวมของประเทศและของโลกด้วย แต่สุดท้ายแล้ว วิธีการแบบนั้นยิ่งทำให้คนรู้สึกไกลเกินเอื้อม ก็เลยเลือกสื่อสารว่าถ้าคุณทำแบบนี้จะดีกับตัวคุณเองก่อนนั่นแหละ ซึ่งถ้าคิดแบบนั้น เราก็จะมีกำลังใจในการทำต่อ เหมือนแทนที่จะพูดไปถึงปลายทางเลย เราพูดต้นทางก่อนแล้วกัน แล้วลองดูว่าอะไรที่จับต้องได้ง่าย และพยายามทำหลายๆ อย่างให้ง่ายมากขึ้น”
“หรืออย่างการทำธุรกิจเพื่อสังคมและการทำเซอร์วิสให้กับหลายๆ บริษัท จากแต่ก่อนที่คิดว่า สิ่งที่เราคิดและอยากทำให้เป็นสิ่งที่ดีนะ จะเป็นความคิดจากฝ่ายเราเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเองก็ต้องทำความเข้าใจคนอื่นด้วยว่าแต่ละบริษัทที่มาจ้าง เขาเองก็มีนโยบายของเขาในการทำงาน เราเริ่มหันมาดูว่าธุรกิจหลักของลูกค้าคืออะไร เขาสนใจทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทางด้านไหน หรือมีการกำหนดนโยบายมาจากผู้บริหารบ้างไหม ณ เวลานี้ เราให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นที่ตั้งและพยายามคิดถึงทุกฝ่ายที่มาทำงานร่วมกันด้วยว่าพวกเขาจะได้อะไรบ้าง ถ้าลูกค้าลงเงินมา ถ้าลูกค้ามีความคิดที่ดี เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล เขาก็ควรจะได้อะไรกลับไปด้วย เช่น เราจะสามารถไปลดต้นทุนบางอย่างให้บริษัทเขาได้ไหม ในส่วนชาวบ้านการได้ของเขาก็ไม่ใช่ได้แบบเรื่อยๆ ผมหมายถึง เขาควรที่จะได้ในครั้งนี้แล้วสามารถนำไปต่อยอดได้ในครั้งถัดไป เช่น ถ้าเราช่วยเขาในการเริ่มต้นเพื่อหัดเดิน ก็เพื่อให้ครั้งต่อไปเขาสามารถจะเดินเองได้ หรือเมื่อเขาเดินได้แล้ว แข็งแรงแล้ว ครั้งต่อไปเราก็อยากจะให้เขาวิ่งได้ ทำนองนั้น ซึ่งบริษัท Kidkid แน่นอนว่าเราก็คิดในแบบของธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน เราก็จะนึกด้วยว่าเราได้สร้างผลที่ดีให้กับทุกฝ่ายแบบ win-win อย่างไรด้วย”
พระราชา ผู้เป็นต้นแบบของความเพียร
“ผมมีในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบทั้งในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องการคิดให้ครบแบบรอบด้านและความเพียรพยายาม ซึ่งพระองค์ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ถูกคิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และพระองค์ก็ทำไปเรื่อยๆ จนสัมฤทธิ์ผลขึ้นมา ซึ่งผมมองว่า ในการที่เราจะแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ดีดนิ้วแล้วจะสำเร็จได้เลย แต่ต้องใช้เวลา ใช้ความเพียร รู้จักการรอคอยด้วยความอดทน ซึ่งไม่ใช่แค่ผมนะ แต่เชื่อว่าหลายๆ คนที่ทำอยู่ในแวดวง SE พบกับสถานการณ์แบบเดียวกัน เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทำไม่สามารถสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วอยู่แล้ว สำหรับผม การเริ่มต้นจากความสำเร็จทีละเล็กทีละน้อย นั่นเป็นสิ่งที่ดีอยู่นะ (ยิ้ม)”
ฝันระยะใกล้แล้วไปให้ถึง
“ส่วนใหญ่แล้ว ผมจะวางแผนแบบระยะใกล้ คือเราพยายามฝันให้ใกล้แล้วไปให้ถึงก่อน ก็เลยทำให้ในทุกๆ การเดินทางของบริษัทเป็นก้าวที่เห็นผลและให้กำลังใจกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแผนว่าภายในปีนี้ เราอยากที่จะทำงานร่วมกับชุมชนในการเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เขามีในแง่มุมต่างๆ ที่เหมาะสมประมาณ 5 ชุมชน ปีที่ผ่านมา เราก็ทำได้ 5 ชุมชน ซึ่งการวางแผนระยะใกล้แบบนี้ เมื่อเวลาที่สำเร็จทีละสเต็ป ก็ทำให้ทุกคนในทีมมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าพวกเราทำได้นะ”
งานออกแบบที่ดีในมุมมองของ พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร
“งานออกแบบที่ดีสำหรับผม คืองานที่ออกแบบแล้วเป็นงานที่คนใช้กันอย่างเต็มที่ ใช้กันได้ง่ายๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ดี ถ้ามีโอกาสในชีวิตนี้นะ ผมยังอยากออกแบบงานที่ทำได้เหมือนคลิปหนีบกระดาษ หนังยางที่ใช้มัดของ ไม้ม็อปถูพื้น ไม้แขวนเสื้อ หรืออะไรก็ตามที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นการแก้ปัญหาที่ดี การออกแบบลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ผมชื่นชมสุดๆ หรือการที่ Thomas Alva Edison ประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา ผมว่านี่คือเรื่องที่เจ๋งมากๆ เพราะนั่นคือการเปลี่ยนโลกเลยนะ ผมเชื่อว่างานแบบนี้คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ทุกคนใฝ่ฝัน คุณลองคิดดูสิ ใครจะคิดว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่งเราจะมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งนั่นทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย เลย เมื่อก่อนนี้ คนเราใช้ชีวิตอยู่แค่ตอนกลางวันเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีไฟฟ้าแล้ว ก็ทำให้เวลาในชีวิตเพิ่มมากขึ้นซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้จริงๆ นี่เป็นตัวอย่างนะ ไปไกลละ (หัวเราะ) แต่ก็เจ๋งจริงนะ ถ้าทำได้ใครๆ ก็คงใฝ่ฝันแหละ ผมเองก็เหมือนกัน”
เส้นทางในวันข้างหน้า
“ในด้าน บริษัท Kidkid จำกัด ตอนนี้ เราได้เป็นหนึ่งใน 15 ธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พวกเราเริ่มต้นจากความไม่รู้ ทำด้วยความไม่รู้ แต่เมื่อถึงวันนี้ เราพัฒนาจนได้รับการรับรองจากรัฐบาลมา ก็รู้สึกว่าอยากที่จะทำให้ทุกๆ อย่างแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปรับการทำงานจากรูปแบบเล็กๆ สนุกๆ เอาแต่ใจตัวเอง ไปสู่การทำงานที่มีการวางแผนที่ดีและเหมาะสมมากขึ้นเพื่อให้การเซอร์วิสของลูกค้ามีมาตรฐาน มองเป้าหมายร่วมกันกับลูกค้าเพื่อทำให้สำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้ บางครั้ง ตัวผมเองก็ชอบแถม แถมกระจายไปเสียทุกอย่าง (หัวเราะ) ดังนั้น การทำให้มีมาตรฐานนั่นแปลว่าเราต้องแคร์คนในบริษัทของเราด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้า impact ที่ได้เหมือนกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ บางอย่างที่เราคิดว่าอยากจะทำ อาจจะต้องลด ลดความคิดของตัวเองลงบ้างเพื่อให้ทุกคนสามารถจบงานได้ ทุกฝ่ายแฮปปี้ นี่คือสิ่งที่ผมต้องบอกตัวผมเองในการวางแผนต่อ”
“สำหรับการทำแผนธุรกิจ ก็จะมีการปรับเช่นเดียวกัน จากที่เรามีฝันใกล้ๆ แล้วไปให้ถึง ต่อไปอาจจะต้องฝันให้ไกลมากขึ้น เรารู้ว่าเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ต่อไปคงจะทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีการคุยและกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทำมาจนถึงขั้นนี้ เรารู้แล้วล่ะว่าอะไรดี อะไรไม่ดี สุดท้ายคือการทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนในแง่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ดี เพื่อว่าจะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีในอนาคตได้ด้วย”
ภาพ: Saran Sangnampetch, www.kidkid.co.th
อ้างอิง: www.kidkid.co.th, Facebook: ECOLIFE app