Bambutec เมื่อไม้ไผ่ถูกประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี สถาปัตยกรรมเท่ๆ ก็เกิดขึ้น

วัสดุก่อสร้างที่มาจากธรรมชาติล้วนต้องใช้เวลาจากธรมชาติในการผลิต คอนกรีตก็ต้องใช้หินปูนที่ทับถมมากว่า 200 ล้านปี วัสดุที่น่าสนใจสำหรับการใช้เวลาที่ธรรมชาติสร้างไม่นาน ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกอย่างคือ ‘ไผ่’ ที่ขึ้นได้หลายพื้นที่ในโลก ยิ่งภูมิอากาศของพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรที่มีลักษณะร้อนชื้น เอื้อให้ไผ่เจริญเติบโตได้เร็ว สามารถเก็บเกี่ยวมาสร้างบ้านเรือนได้ง่ายกว่าพืชชนิดอื่น

ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างบราซิล มีไผ่ขึ้นอยู่ทั่วไปให้เลือกใช้สร้างบ้านเรือน เช่นกับที่มหาวิทยาลัย Pontifical Catholic ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ได้มีการใช้ไผ่อย่างน่าสนใจ ด้วยประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีให้สามารถรีดประสิทธิภาพของวัสดุชนิดนี้มาในสถาปัตยกรรมรูปลักษณ์เท่ แถมยังใช้งานได้ดีอีกด้วย งานนี้เป็นหอประชุมกลางแจ้งขนาด 200 ตารางเมตร ออกแบบโดยสตูดิโอสถาปนิกของบราซิล Bambutec Design เพื่อสร้างคลุมที่นั่งชม ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก Carlos Pingarrilho ไว้ก่อนหน้านั้น

ในขั้นตอนการออกแบบ สถาปนิก วิศวกร ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณโครงสร้าง เพื่อหาจุดที่ต้องเสริมลดเกิดจุดวิกฤติของโครงสร้าง ไผ่จำนวนมากถูกทักทอเป็นโครง 3 มิติ ให้มีน้ำหนักเบา ถอดประกอบได้ ติดตั้งง่าย โครงหลังคาถูกออกแบบให้เป็น 3 ชิ้น คุลมด้วยชุดผ้าใบ 4 ผืน แยกออกจากกัน ให้มีช่องเหลื่อมระหว่างกัน 50 เซนติเมตร สามารถขยับตัวได้ พร้อมกับระบายอากาศใต้หลังคาให้ลอยขึ้นสูงได้ง่าย ช่วยลดอุณหภูมิภายในอีกทาง

วัสดุมุงที่ใช้คือแผ่นผ้าใบ ทำให้น้ำหนักเบา จากกระบวนการออกแบบนี้ สามารถได้หลังคาที่คลุมพื้นที่กว้างกว่า 12  เมตร ยาว 16.70 เมตร  มีจุดรับน้ำหนักที่แตะลงยังพื้นโลกเพียง 6 จุดเท่านั้น แม้ว่าน้ำหนักโดยรวมจะหนัก 1,400 กิโลกรัม แต่ในขั้นตอนการก่อสร้างไม่ต้องใช้เครนขนาดใหญ่มาช่วยยก เป็นการใช้แรงงานคนอย่างง่ายที่รวบรวมกำลังกันให้เกิดหอประชุมนี้สำเร็จลงได้ ช่วยให้สามารถสร้างได้ในเวลา 25 วัน

ปัจจุบันหอประชุมนี้ถูกใช้งานรองรับกิจกรรมหลากหลายของมหาวิทยาลัย ทั้งการบรรยาย การแสดงต่างๆ โดยที่ใช้กำลังคนไม่มาก วัสดุก็หาได้ทั่วไปในบราซิล เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีประยุกต์เข้ากับตัวตน ก็สามารถเกิดพื้นที่ดีๆ กับชุมชนในสถานศึกษาได้

อ้างอิง: bambutec.com.br

Tags

Tags: , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles