เพราะไผ่คือทรัพยากรทางธรรมชาติที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมากมาย ทำให้ในช่วงหลายสิบปีมานี้ มีการคาดคะเนว่าวัสดุดังกล่าวจะเป็นวัสดุที่จะมาแทนที่ ‘ไม้’ ได้ในที่สุด ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ในประเทศไทย ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับไผ่มาอย่างยาวนานและในหลากมิติ ยังมองไม่เห็นโอกาสดังกล่าว แต่นั่นไม่ใช่สำหรับมุมมองของ ธนพัฒน์ บุญสนาน
ธนพัฒน์ก่อตั้ง บริษัท ธ. ไก่ชน จำกัด ของเขาเมื่อ 7 ปีก่อน จากความหลงใหลในวัสดุธรรมชาติอย่างไผ่ และต่อยอดผ่านหลายๆ โครงการ จนกระทั่งตอนนี้ หากจะพูดถึงไม้ไผ่หรืองานที่เกี่ยวข้องกับไผ่แล้วละก็ ชื่อของเขาก็มักจะอยู่ในลำดับต้นๆ ที่ใครต่างก็นึกถึง วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับเขาถึงเรื่องราวของวัสดุประเภทนี้ในทุกแง่มุม ทั้งคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ การใช้งาน รวมทั้งประเด็นของไผ่กับการเป็นวัสดุที่ช่วยส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สร้างชุมชน รวมทั้งการนำไปปรับใช้กับงานสถาปัตยกรรมด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถสร้างงานที่เต็มไปด้วยคุณค่า ความหมาย และส่งเสียงสะท้อนทางวัฒนธรรมให้กับสาธารณชน
Q: ขอย้อนกลับไปในวันที่คุณได้ทำงานกับไผ่ครั้งแรก ช่วยเล่าถึงช่วงเวลานั้นให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
A: หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปากร ผมก็เริ่มเบื่อที่จะเป็นสถาปนิก ตอนนั้นเป็นช่วงสับสนอะไรหลายอย่างนะ ก็คิดว่าเลิกเป็นสถาปนิกดีไหม ลองทำอย่างอื่นดีไหม ไปปลูกต้นไม้ขายดีรึเปล่า จำได้ว่าไปบอกรุ่นพี่ว่าจะไปปลูกต้นไผ่ขาย หรือไปทำอะไรเกี่ยวกับวัสดุธรรมชาติ ซึ่งหลักๆ ผมสนใจธรรมชาติค่อนข้างเยอะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ประจวบเหมาะกับที่ผมมีโอกาสได้ไปทดลองเข้าเวิร์คช็อปเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยกูรูไม้ไผ่และสถาปนิกจากเนอเธอแลนด์ชื่อ Olaf Bruin จาก 24H Architecture หลังจากเข้าเวิร์คช็อปครั้งนั้น ก็ยาวเลย (หัวเราะ) ประมาณว่าชอบมาก ประทับใจมาก ตอนนั้นเหมือนกับเปิดโลกให้กับตัวเองเลยนะ เพราะผมไม่เคยเห็นมาก่อน เลยตัดสินใจที่จะศึกษาเรื่องไม้ไผ่อย่างจริงจัง หลังจากนั้น ก็ได้ไปดูงานกับ Chiangmai Life Construction อยู่ 3 เดือน จนกระทั่งได้รู้จักกับสถาบันอาศรมศิลป์ที่สนับสนุนให้ผมเริ่มโครงการ Cooldows Resort ในเชียงใหม่ แล้วก็ยาวมายังไม่ได้หยุดเลยครับ
Q: ธ. ไก่ชน เริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหนและเพราะอะไรถึงใช้ชื่อนี้?
A: นับจากวันที่ผมศึกษาเรื่องไม้ไผ่ ธ. ไก่ชน ก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ถึงปีนะ เร็วมาก เร็วแบบที่ว่าไม่ทันคิดเลย ซึ่งเวลาใครจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ก็น่าจะต้องคิดสักพักหนึ่งแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีโมเดลอยู่บ้าง แต่สำหรับผมนี่ลืมไปได้เลย ยิ่งถ้าจะมาถามถึง 3P (Product, Process, People) เรียกว่าไม่รู้สักอย่างเลยดีกว่า ว่าจะไปขายใคร จะทำอย่างไร แต่ผมทำขึ้นมาเลย
ส่วน ธ. ไก่ชน มาจากการที่ชื่อผมต้องการใช้ชื่อไทยๆ ‘ธ’ คือ ‘ธนพัฒน์’ แล้วเอามาบวกกับคำว่า ‘ไก่ชน’ แค่นั้นเอง ผมอยากแสดงสัญชาติของออฟฟิศด้วย ซึ่งจนถึงวันนี้ พอคนได้ยินชื่อ ธ. ไก่ชน แล้ว เขาก็จำได้ไม่ลืมเลยนะ แล้วก็ยังจำได้ว่าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับไผ่ จุดประสงค์ตอนนั้นก็คือเปิดเพื่อให้ได้งานเกิดได้ แต่ไม่ได้เกิดเพื่อที่จะเป็นเราแบบทุกวันนี้ ไม่คิดด้วยซ้ำว่าไผ่จะหาเงินให้ผมได้ เพราะผมไม่เคยคิดจะหาเงินกับไม้ไผ่อยู่แล้ว ผมแค่รู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่เราชอบให้เกิดมาได้เฉยๆ แต่มารู้ตัวอีกทีก็ตอนสร้างบ่อทรีทเมนต์ สร้างโรงเก็บไม้หลังแรก แล้วอ้าว ต้องจ่ายหนี้ มีดอกเบี้ยแล้ว ก็เลยต้องหางานทำต่อมา (หัวเราะ)
Q: อะไรคือเสน่ห์ไม้ไผ่ที่คุณตกหลุมรัก?
A: ความสวยครับ ผมคิดว่าก็เหมือนกับเวลาที่เราพิจารณาเลือกอะไรหรือใครสักคนในชีวิต ก็มักจะมองเรื่องความสวยเป็นอันดับแรก ผมเองก็ประทับใจในไม้ไผ่เพราะความสวย แต่พอมีโอกาสเข้ามาศึกษา ได้ทำงานกับไม้ไผ่มากขึ้น ก็พบว่านอกจากความสวยแล้ว คุณสมบัติและศักยภาพด้านอื่นก็มีดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งความแข็งแรง เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่โตเร็ว มีปริมาณมาก แล้วข้อดีอีกอย่างที่ผมพบจากการเข้าไปทำเวิร์คช็อปในครั้งนั้น คือตอนที่ผมได้ไปที่โรงเรียนปัญญาเด่นซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่ จำได้เลยว่าตอนนั้นอากาศร้อนมาก แต่พอก้าวเข้าไปในตัวอาคารกลับได้ความเย็นสบาย ร่มรื่น ซึ่งผมไม่เคยเจอสถาปัตยกรรมที่สวยและให้ความรู้สึกสบายได้ขนาดนี้ ตอนนั้นคิดอย่างเดียวเลยว่า เฮ้ย! ต้องทำแล้วล่ะ พูดง่ายๆ คืออินครับ อินมาก
Q: คนส่วนใหญ่มักจะรับรู้ว่าเป็นวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างชั่วคราว มีปัญหาเรื่องแมลง มีจุดแข็งของไผ่ที่คนทั่วไปยังไม่รู้อีกไหม?
A: เรื่องจุดเด่นจุดด้อยของไผ่ หรือการจะมองว่าอันไหนเป็นข้อดีข้อเสีย ผมว่าขึ้นอยู่กับความชอบไม่ชอบเลยนะ คนที่ชอบก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา อย่างไม้ไผ่เอง ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าจริงๆ ไผ่มีความแข็งแรง เรื่องการมีมอดหรือแมลงมากิน ทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีวิธีการที่ทำให้ไผ่ไม่เป็นมอดได้ ต่อให้มอดกิน แต่ถ้าคนชอบจริงๆ เขาจะไม่สนใจ คนบางคนอาจจะไม่แคร์ด้วยซ้ำกับการนั่งอยู่ในรีสอร์ทคืนละเป็นแสน แล้วดันมีมอดร่วงลงมา ไม่เกิดการคอมเพลนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่ชอบ แค่เห็นก็อาจจะรู้สึกว่าน่าจะมีเชื้อรา จะทำให้หายใจเข้าไปแล้วติดเชื้อในสมองอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) นึกออกไหม อะไรที่เป็นปัญหาหรือว่าไม่เป็นปัญหา ผมคิดว่าอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่หัวใจเราที่จะมองมากกว่า
แต่ที่แน่ๆ เลยอย่างหนึ่งคือในยุคนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก ทั้งเทคโนโลยีการทรีตเม้นท์ไผ่เพื่อให้สามารถเป็นโครงสร้างที่อยู่ได้นานขึ้น เทคนิคการก่อสร้างที่พัฒนาไปมาก ซึ่งก็ทำให้เราสามารถใช้ไผ่เป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาได้แทบจะทุกประเภท ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อน เพราะหากมีมอดกินไปแล้ว โครงสร้างก็สามารถถล่มลงมาได้เลย ทำให้คนโบราณไม่นิยมนำไผ่มาใช้สร้างอาคารแบบจริงๆ จังๆ เหมือนสมัยนี้ แล้วก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นเหมือนกันว่าไม้ไผ่มีคุณสมบัติในการรับแรงทางโครงสร้างวิศวกรรมที่เทียบได้กับการใช้ไม้เนื้ออ่อน แต่ไม้ไผ่ก็มีอ่อน มีแก่ มีหลายชนิด หลายพันธุ์ คนที่นำไปใช้งานก็ต้องเลือกให้เหมาะกับรูปแบบโครงการ ลักษณะการใช้งาน ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงนี้ด้วย
Q: ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คุณหาประสบการณ์และความรู้ระหว่างทางจากไหนบ้าง?
A: ผมเข้าเวิร์คช็อปแค่ครั้งเดียว แต่ในการทำงานทุกครั้ง ผมก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมจากตรงนั้นตรงนี้ ได้ทดลองเทคนิคต่างๆ ในแต่ละโครงการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้ผมพัฒนา ถ้าลองไล่ดูงานที่ผ่านมา ตั้งแต่งานแรกมาถึงงานล่าสุด หน้าตาของแต่ละงานจะไม่เหมือนกันเลย ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นคนคนเดียวทำ ปกติแล้วดีไซเนอร์ก็จะมีลายเซ็นต์ในงานของตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ธ. ไก่ชน
Q: ในการทรีตเม้นท์ไม้ไผ่ของ ธ. ไก่ชน ทำด้วยวิธีใด?
A: ผมเลือกใช้วิธีเคมีเพราะให้ผลลัพธ์ที่นิ่งและชัวร์กับลูกค้า แต่เคมีตัวนี้คือโบรอนซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เคมีแบบเป็นพิษ หัวใจของธาตุชนิดนี้ คือการทำให้แป้งกับน้ำตาลในไม้ไผ่เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อาหารอีกต่อไป ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ไม้ไผ่ไม่อร่อยสำหรับมอด ว่ากันง่ายๆ มอดจะอยู่ก็อยู่ไป แต่มอดจะไม่กินเนื้อไผ่ หัวใจคือแค่นั้นจริงๆ ส่วนวิธีการก็มีหลายอย่าง เช่น คุณจะแช่น้ำ จะนึ่ง หรือทำอย่างไรก็ได้ ขอให้คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้แป้งไม่ใช่แป้งอีกต่อไป ก็จะทรีตเม้นท์ไผ่ได้แล้วครับ
Q: ปกติเขาใช้วิธีแบบนี้ไหม?
A: ส่วนใหญ่จะแก้กันที่ปลายเหตุนะที่เอาเคมีไปพ่นแมลงพ่นมอด ผมเคยเห็นแช่น้ำมันเครื่อง หรือแช่น้ำผสมกำมะถัน ซึ่งจริงๆ มอดหรือแมลงอยู่ข้างในเนื้ออยู่แล้ว ซึ่งถ้ากินเนื้อไผ่แล้วก็จบนะ แก้ยากมาก เพราะมอดทั้งเข้าไปแทะไปกินข้างใน ไข่ไว้อีก หลายคนเข้าใจว่ามอดบินมาแล้วกินเนื้อไผ่ แต่มอดเป็นไข่อยู่ตั้งแต่เป็นกอมาแล้ว จากนั้นถึงจะเจาะแล้วทะลุออกมาเป็นตัว บางคนอาจจะงงว่าทำไมตัดไม้ไผ่มาแล้ว อยู่ในห้องปิดประตูเลยนะ ทำไมยังมีมอด
Q: ถ้าจะถามถึงความสัมพันธ์ของไผ่กับคนไทย ทั้งๆ เรามีความผูกพันกับไผ่ แต่เพราะอะไรวัสดุชนิดนี้ซึ่งมีมากในบ้านเราไม่ได้รับความนิยมหรือเห็นคุณค่า?
A: จริงๆ เราทุกคนอยู่กับไม้ไผ่มานานมาก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งคนต่างจังหวัดหรือคนที่อยู่ในพื้นที่สูง เช่น คนเผ่าต่างๆ เขาเกิดและตายไปกับไม้ไผ่ เช่น เป็นเรื่องปกติสำหรับคนกะเหรี่ยงเวลาที่เขาจะแต่งงาน ทุกคนต้องปลูกบ้านไม้ไผ่หลังหนึ่งเพื่อแสดงให้ผู้หญิงเห็นว่าเขาพร้อมแล้ว ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้คนห่างกับธรรมชาติไปมากและมองข้ามวัสดุชนิดนี้
Q: เราได้ฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับไผ่อยู่สองประเด็น ฟากหนึ่งบอกว่า การใช้ไผ่ ตัดไผ่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายป่า ขณะที่อีกด้านหนึ่งบอกว่าจริงๆ แล้ว การใช้ไผ่ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ แต่เป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม คุณคิดอย่างไร?
A: สำหรับผม ไผ่เป็นพืชที่ปลูกใหม่ได้ ไม่มีวันหมด ซึ่งมักจะมีคนสวนขึ้นมาเสมอแหละว่า คุณกำลังตัดป่า ตัดต้นไม้ กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เวลาเราตัดมาใช้ เราจะตัดจากแปลงปลูกทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นไปในป่า เจ้าอื่นผมไม่รู้นะ แต่ไม้ไผ่ของผมมาจากสวนทั้งหมดเลย เป็นสวนที่เขาปลูกหน่อขายอยู่แล้ว ช่วงที่หน่อไม่ออก เขาก็ตัดลำแบ่งขายผม ซึ่งเขาก็ไม่ได้โค่นไปทั้งกอ จะตัดเฉพาะลำที่แก่ เพื่อให้มันก็เติบโตได้ต่อไป ถ้าเทียบกับไม้ยืนต้น เราใช้เวลา 40-50 ปี ที่เขาจะเติบโตเต็มที่ แต่ไผ่ เราปลูกแค่ 3 ปี ถ้าคิดอัตราส่วนก็เรียกว่าคนละเรื่อง
Q: แล้วไม้ไผ่กับงานสถาปัตยกรรมเขียวในความคิดของคุณ ไปด้วยกันได้อย่างไรบ้าง?
A: สำหรับผมไม้ไผ่กับสถาปัตยกรรมเขียวเป็นเรื่องเดียวกันนะ แค่ไผ่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นซับเซตของ Green Architecture ตั้งแต่การส่งเสริมทั้งในเรื่องวิช่วล ความรู้สึกในการเห็นไม้ไผ่กับเห็นคอนกรีตมันละเรื่องเลย เพราะฉะนั้น ไม้ไผ่อย่างแรกก็ให้ความรู้สึกสบาย เป็นธรรมชาติ เรื่องการส่งผ่านความร้อนที่ดีกว่าวัสดุสังเคราะห์ ส่วนในการก่อสร้าง การใช้ไผ่สามารถลดอัตราการเกิดคาร์บอนฟุตปริ้นต์เมื่อเปรียบอาคารที่สร้างด้วยวัสดุอื่นๆ ซึ่งก็ต่างกันมากโขแล้ว
Q: ที่ ธ. ไก่ชน มีนโยบายในการส่งผ่านความรู้เรื่องไผ่ให้แก่ผู้สนใจบ้างไหม?
A: ผมพร้อมนะ ใครก็ได้ที่สนใจ ผมสนับสนุนทุกอย่าง คือถ้ามีเด็กรุ่นใหม่หรือใครที่จะพัฒนาอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับไผ่ ทั้งโปรดักท์ เครื่องดนตรี การทำน้ำยาทรีตเม้นท์ ถ้าอยากรู้มาถาม อยากได้ไผ่ไปสร้างโปรโตไทป์บอก ตราบใดที่ไม่ได้มาปล้นจนแบบผมไม่มีเหลือ หรือแบบอยู่ดีๆ ก็เปิดประตูเข้ามาขอแบบเยอะๆ ผมก็ยินดีเลย นี่ดีนะที่โรงงานอยู่ลึก (หัวเราะ) แต่ขออย่างหนึ่งคือถ้าทำแล้ว ส่งคลิป ส่งงานที่ทำมาให้ดูด้วยแล้วกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมชื่นใจนะ
Q: จากวันแรกที่ ธ. ไก่ชน ก่อตั้ง จนถึงตอนนี้ คุณเห็นการเติบโตที่เกิดขึ้นในบริษัทตัวเอง รวมถึงมุมมองและวิธีการทำงานต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
A: ผมแบ่งเป็น 2 อย่าง ในแง่ธุรกิจกับเรื่องดีไซน์ สำหรับธุรกิจก่อน เมื่อก่อนผมจะคิดน้อยเรื่องรายได้ พอเริ่มโต เริ่มมีอายุ เงินก็สำคัญมากขึ้น เราต้องมีครอบครัว ต้องดูแลพ่อแม่ จะอยู่แบบมั่วๆ ไปเรื่อยไม่ได้ ก็เลยเน้นเรื่องการจัดการรายได้รายจ่าย หาตลาด ก็ต้องกลับมาไล่ดูมากพอสมควร ผมจะยอมให้เลิกหรือว่าเจ๊งไม่ได้ ข้อแรกคือเดี๋ยวเสียฟอร์ม (หัวเราะ) ข้อ 2 คือเราไม่คิดจะทำอาชีพอื่นแล้ว เราจะทำงานเกี่ยวกับไม้ไผ่ไปจนตายแน่นอน แนวคิดด้านธุรกิจที่ค่อนข้างจะจริงจังมากขึ้น ซึ่งเราตั้งใจอยากให้อาชีพที่ทำเกี่ยวกับไผ่มีและสร้างประโยชน์กับคนอื่นแหละ แต่ในคำว่าประโยชน์ ก็ต้องมีรายได้มาหล่อเลี้ยงด้วย
อย่างที่ 2 ก็คือเรื่องดีไซน์ มาถึงวันนี้ก็ 5 ปีกว่าแล้วจากวันที่เริ่มก่อตั้ง เพราะฉะนั้นผมเริ่มรู้แล้วว่าเราชอบเทคนิคแบบไหน ชอบดีไซน์แบบไหน งานแบบไหนที่เป็นตัวเรา สุดท้ายแล้ว ลักษณะแบบออร์แกนิกฟอร์มที่เคยคิดว่าตัวเองไม่น่าจะชอบหรือรู้สึกว่ายากเกินไป สุดท้ายแล้วก็ยังคงอยู่ในงานของเรา เทคนิคต่างๆ ที่ตั้งแต่วันแรก ลิ่มไม้ไผ่ก็ยังอยู่ ไม้ไผ่เหลามือก็ยังชอบใช้อยู่
Q: คุณคิดว่าผลงานหรือการทำงานของ ธ. ไก่ชน ส่งผ่านคุณค่าของไผ่ไปยังคนในสังคมและวงการออกแบบไหม อย่างไร?
A: แน่นอนนะ ผมพยายามดันวัสดุธรรมชาติที่นอกเหนือไปจากไผ่ด้วย เช่น การนำใบไม้มาใช้ อย่างล่าสุดก็ตอนงานสถาปนิกปีที่แล้ว ผมใช้ใบตองทำงานเพื่อสื่อสารว่า จริงๆ แล้ววัสดุธรรมชาติเราสามารถนำมาใช้ได้หมด แต่แก่นของธรรมชาติเลยคือการผุพัง เพราะธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าเรารับการเปลี่ยนแปลงได้ เราก็อยู่กับธรรมชาติได้ ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบนี้ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง คำตอบก็คือ เราก็เปลี่ยนสิ่งที่มันพังสิ แล้วปัจจุบันนี้เราอยู่กับเทคโนโลยี เรามีระบบและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ก็คืออธิบายง่ายๆ อย่างผมเอาใบตองไปมุงหลังคา หรือการมุงหลังคาด้วยจากหรือหญ้าคาที่ผุพังได้ เราก็สามารถเลือกมุงสังกะสีหรือว่าเมทัลชีทลงไปข้างล่างเพื่อช่วยเรื่องการใช้งานได้ ผมไม่เคยปฏิเสธข้อดีของวัสดุปัจจุบันเลยนะ เพราะทุกอย่างก็มีจุดดีของตัวเอง ส่วนของใบไม้ที่มุงด้านบน ฟังก์ชั่นคือช่วยกันเสียง กันความร้อน มองดูแล้วสวยงามเป็นธรรมชาติ แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนทั้งหมดเป็นธรรมชาติ เพราะเราสามารถนำธรรมชาติมาอยู่ร่วมกับปัจจุบันได้
คอนเซ็ปต์ของออฟฟิศผมคือเรียนรู้ที่จะอยู่กับอิฐมวลเบา เรียนรู้การอยู่กับวงกบอะลูมิเนียม ขณะที่ก็ยังเต็มที่กับไผ่อยู่ ก็เหมือนกับแก๊สโซฮอล์ เราก็ยังใช้อยู่ เพียงแค่เติมส่วนที่เป็นก๊าสธรรมชาติลงไป ผมสนับสนุนทุกอย่างเลยนะที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ล่าสุดถ้าเข้ามาจะเห็นกิ่งไผ่ที่ปกติจะถูกตัดทิ้ง ไม่ได้ใช้งาน แต่ตอนนี้ผมเก็บไว้ ก็คือยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่เตรียมเอาไว้เพราะผมคิดว่าน่าจะได้ใช้ประโยชน์แน่ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งถ้าคุณพอนึกออก จะมีสถานที่ท่องเที่ยวในเกียวโต ซึ่งเป็นทางเดินไม้ไผ่ยาวๆ ที่มีไม้ฟูๆ ข้างๆ ผมไม่เคยดูออกเลยว่าคือต้นอะไร ซึ่งท้ายที่สุดก็มาค้นพบว่าคือกิ่งไผ่ที่ถูกนำมาใช้เป็นรั้วทางเดิน แล้วก็กลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนไปก็ต้องไปถ่ายรูป ผมก็รู้สึกว่าทุกส่วนของไผ่ใช้ได้หมดเลย แล้วถามว่ากิ่งไผ่จะพังไหม แน่นอนครับพัง แต่ทำไมญี่ปุ่นเขาใช้ ทำไมไม่ใช้ราวสเตนเลสเหมือนบ้านเราที่อยู่เป็นร้อยปี แต่นั่นก็คือสิ่งที่คนไม่สนใจ คุณค่าของมันแค่นั้นนะ สำหรับผม ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้ใช้เอาท์ดอร์ เพราะมันผุพังง่าย แต่ญี่ปุ่นใช้ตลอดเวลา นี่ผมขอชื่นชมเขาเลย เขาใช้อย่างไม่เคลือบแคลงใจ ถ้าพังก็ซ่อมครับ เพราะพี่ใช้วัสดุธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผมสนับสนุนมากครับ
Q: อนาคตของ ธ. ไก่ชน หลังจากวันนี้จะเป็นอย่างไร?
A: ไกลมากไม่ค่อยมองนะ แต่เอาใกล้ๆ ก่อน ก็คือทำโรงงานให้สามารถผลิตได้คุณภาพเต็มที่ ผมทำงานเก็บเงินเพื่อต่อสร้างๆ ออกมา จากอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ค่อยๆ ทำกันไป ทำที่นี่ให้ดีก่อน แล้วก็ระยะสั้นคือเพิ่มจำนวนการผลิตเพื่อรองรับโครงการต่างๆ ที่เข้ามา บางโครงการที่ดีแต่ผมไม่สามารถรองรับเขาได้
Q: หากมีการขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อชุมชนหรือเกษตรกรที่ปลูกไผ่บ้างไหม?
A: แน่นอนครับ เพราะว่าคำถามของชาวบ้านทุกวันนี้มักจะบอกว่าไผ่ของเขาไม่มีราคา เพราะเขาไม่รู้ว่าถ้าปลูกแล้วจะไปส่งที่ไหน ถ้าธุรกิจผมขยาย มีออเดอร์ ชาวบ้านก็รู้แล้วว่าพวกเขาส่งไผ่ได้ที่นี่ ตอนนี้ผมทำงานร่วมกับรุ่นพี่ โดยจะทำโรงงานเพิ่มที่จังหวัดแพร่ เพราะเขาเห็นไม้ไผ่ถูกตัดทิ้งแล้วชาวบ้านที่ปลูกกัน ก็เพื่อส่งทำตะเกียบอย่างเดียว ซึ่งเราสองคนอยากสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกไผ่เพิ่มเพราะตอนนี้มีตลาดรองรับแล้ว และเมื่อเขาปลูกไผ่มากขึ้น ผมคิดว่าจะเป็นสิ่งยั่งยืนกับชีวิตพวกเขาด้วยนะ เพราะเขากำลังผลิตวัสดุก่อสร้างบ้านเขาอยู่ ซึ่งวิธีการทรีตเม้นท์ของผม ผมก็ไม่หวง มาเรียนรู้ได้เลย แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งที่เขาไม่ต้องไปซื้อปูน ได้กลับมาใช้ไม้ไผ่ของตัวเอง ก็จะเห็นชัดเจนมาก เพราะว่าบางทีชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินกับไผ่อย่างไร หรือไปขายใคร
ไม้ไผ่ที่เอามาทำงานสถาปัตยกรรมจะไม่เหมือนกับสเปคที่ใช้ทำตะเกียบหรือว่าเข้าโรงงาน ที่ ธ. ไก่ชน จะใช้ไม้ไผ่ได้ทุกพันธุ์ แต่เราก็ต้องคัดมาเพื่อทำสิ่งที่เหมาะสมกับงานเรา ในประเทศเรามี 70 กว่าสายพันธุ์ ผมใช้ได้หมด อันไหนที่ไม่แข็งแรงก็ไม่ต้องเอามาทำโครงสร้าง ก็ใช้สำหรับตกแต่ง ผมคิดว่าการปลูกไผ่เป็นการทำเกษตรอีกแบบหนึ่งแหละ ซึ่งอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าต้องส่งใคร เมื่อเขาเห็นว่าเจ้านี้ทำไผ่แล้วอยู่ได้ เขาก็อาจจะอยากทำธุรกิจอยู่กับบ้าน แทนที่จะต้องไปทำมาหากินอยู่ไกลๆ หรือทำงานโรงงาน อาจจะได้มาอยู่ใกล้บ้านมากขึ้นก็ได้
ภาพ: Maneenoot Boonrueng, Courtesy of Thorkaichon
อ้างอิง: Facebook: Thorkaichon, Thor. Kaichon Bamboo