Luotuowan Pergola ซุ้มสวยจากไม้เหลือใช้ ประโยชน์สูงสุด เบียดเบียนโลกน้อยสุด

วิทยาศาสตร์นำพาความก้าวหน้าแก่มวลมนุษย์ชาติ เราสามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่มีพื้นที่เท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ด้วยการใช้ทรัพยาการที่น้อยลงได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ดังที่สถาปนิกนักคิดชาวอเมริกันผู้ล่วงลับคือ ลุงบักกี้ หรือ บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ ชอบถามสถาปนิกผู้ที่เขาพบเจอในช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ว่า “คุณสถาปนิก อาคารของคุณหนักเท่าไร?”

แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดมาสู่พื้นที่ในชนบทห่างไกลของประเทศจีน ณ หมู่บ้านหลัวหยัวหวัง มณฑลเหอเป่ย เมื่อหมู่บ้านในชนบทถูกทิ้งร้างเสื่อมโทรมมากขึ้นจากการอพยพเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ของประชากร เหมือนกับหลายท้องที่ในจีน ทางรัฐบาลท้องถิ่นได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนในการปรับปรุงที่พักอาศัย โดยมีเงื่อนไขที่ต้องสร้างความกลมกลืนของหมู่บ้าน โดยให้เลือกใช้หลังคาเปลือกไม้หรือหลังคาคอนกรีตที่มีลักษณะเลียนแบบของเดิม นอกจากงบประมาณสำหรับปรับปรุงบ้านแล้ว ทางรัฐยังมีงบสำหรับปรับปรุงพื้นที่สาธารณะด้วย ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงซุ้มทางเดินด้วยเช่นกัน

LUO Studio สำนักงานออกแบบจากปักกิ่ง ได้เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ด้วยการออกแบบซุ้มไม้ในหมู่บ้าน เมื่อมองจากปัญหาคือมีวัสดุเหลือทิ้งจากการปรับปรุงบ้านเรือนคือไม้ท่อนสำหรับโครงสร้าง ทำให้สถาปนิกเลือกใช้ไม้ที่ถูกทิ้งจากการรื้อปรับปรุงบ้านที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างไม้เดิมให้รับน้ำหนักหลังคาใหม่ที่ทำจากกระเบื้องคอนกรีตได้ แล้วนำมาออกแบบซุ้มไม้ด้วยขนาดที่เป็นไปตามขนาดความยาวตามที่ได้มา โดยไม่จำเป็นต้องตัดแต่งเพิ่มเติมมากนักด้วยเทคนิคการใช้โครงสร้างไม้กับข้อต่อเหล็ก พร้อมกับใส่แผ่นพลาสติกกรองแสงเพื่อบังแดดบังฝน ทำให้ผลลัพธ์ของรูปทรงเป็นคลื่นยาว โค้งไปมา ไม่สม่ำเสมอ ดูรับกับทิวเขาด้านหลัง

รายละเอียดของซุ้มไม้เป็นโครงสามเหลี่ยมต่อเข้าด้วยกันแบบโครงสร้าง geodesic ซึ่งสถาปนิกได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างการออกแบบเป็นซุ้มหลังคาแบบโครงถักทรงจั่ว กับแบบ geodesic ผลการศึกษาได้พบว่าการสร้างซุ้มไม้ด้วยโครง geodesic ผสมกับลวดขึงกันโครงสร้างแกว่ง ทำให้ใช้ไม้น้อยกว่า 2.5 เท่า แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจาก บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ ผู้ใช้คำว่า ‘dymaxion’ เพื่ออธิบายวิธีที่สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเบียดเบียนโลกน้อยที่สุดด้วยเทคโนโลยี

วิทยาศาสตร์พาเราไปสู่อนาคตได้หลายวิธี สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ช่วยนำพาเทคโนโลยีสู่ทางเลือกในการเอาตัวรอดใหม่ได้เสมอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำลายธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แค่เปลี่ยนแนวคิดเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง: www.luostudio.cn, www.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles