Brick Music School ในเม็กซิโก สวยงามด้วยวัสดุท้องถิ่น ลดคาร์บอนฟุตพรินต์

มีอีกแนวความคิดในการออกแบบที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีควรจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการขนส่งวัสดุได้ด้วยการใช้วัสดุจากภายนอกให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งในวิธีนี้ทำให้ผู้ออกแบบต้องย้อนกลับมาสำรวจคุณสมบัติของวัสดุที่มีความโดดเด่นในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดทั้งความงามและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ณ พื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองนาคาฮุคา ประเทศเม็กซิโก ได้เกิดสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในเรื่องของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยการออกแบบจากสำนักงานสถาปนิกเม็กซิกัน Colectivo C733 ในอาคารนี้มีพื้นที่การใช้สอยหลักเป็นศาลาประชาคมที่รองรับกิจกรรมหลากหลาย เช่น การเต้นรำแบบ Pochó ที่มีรากฐานมาจากเมโสอเมริกา และกิจกรรมร่วมสมัยอื่นๆ และกลายเป็นโรงเรียนดนตรีที่ประกอบไปด้วยห้องเรียน โรงอาหาร ห้องน้ำ สำนักงาน ในพื้นที่โล่งขนาด 32×24 เมตร

ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่ที่รองรับกิจกรรมเพื่อชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการคิดถึงการลดการใช้พลังงานจากการเกิดสถาปัตยกรรมใหม่ ทั้งจากการสร้างอาคารบนโครงสร้างเดิม ทำให้ลดการใช้วัสดุโครงสร้างฐานราก และนอกจากนี้ยังใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นของเม็กซิโก อย่างเช่นอิฐดินเผาที่สามารถผลิตได้จากทุกที่รวมถึงในท้องถิ่นนี้ด้วย นอกจากนี้ยังใช้วัสดุประดับคือไม้มะพร้าว เนื่องจากพื้นที่นี้มีต้นมะพร้าวจำนวนมากและวัสดุไม้มะพร้าวเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนสูงในตัวมันเอง สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้ และในวงจรการใช้งาน มันจะดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ทำให้การตกแต่งอาคารนี้มีทั้งความรู้สึกที่อบอุ่นและเป็นมิตรจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีการคิดถึงการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังคาจั่วผืนใหญ่ที่เป็นจั่วแบบแยกออกที่สันหลังคาพร้อมเจาะช่องแสงบนหลังคาแบบเลี่ยงมุมหลบแสง ทำให้แสงภายในมีลักษณะไม่แข็งกระด้าง เหมาะกับการใช้งานมากกว่าแบบเจาะตรงซึ่งเหมาะกับเมืองหนาวมากกว่า จุดเด่นของผืนหลังคากว้างคือมันถูกออกแบบให้รวบรวมน้ำฝนเพื่อกรองไว้ใช้ในห้องน้ำ และเมื่อน้ำในโครงการนี้ใช้เสร็จแล้วจะผ่านการกรองอีกครั้งเพื่อย่อยสลายทางชีวภาพ จากนั้นจะถูกไปบำบัดในพื้นที่ชุ่มน้ำก่อนปล่อยออกสู่แม่น้ำ เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารหลังแรกที่ปล่อยน้ำสะอาดลงสู่แม่น้ำด้วยระบบการบำบัดน้ำผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำหลายจุด เพื่อที่จะเป็นอาคารตัวอย่างบอกเล่าว่าสามารถสร้างอาคารใกล้แม่น้ำได้ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ด้วยอาคารนี้เป็นโครงการของ SEDATU (Secretaría de Desarrollo Agrario Territorial y Urbano) ของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ PMU (Programa de Mejoramiento Urbano) เพื่อดูแลพื้นที่เสี่ยงสูงในประเทศ

คำตอบที่เรียบง่าย ก็สามารถเริ่มจากความซับซ้อนที่มองสำรวจสิ่งดีงามรอบตัวได้เช่นกัน

แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: www.instagram.com/c733, www.dezeen.com, www.yankodesign.com
Photographs: Yoshihiro Koitani

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles