AltSchool โรงเรียนยุคใหม่กับแนวคิด ‘เล่นอย่างเพลิดเพลิน ไม่เขินอายใดๆ’

พื้นที่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทำให้ห้องเรียนแบบเดิมถูกสั่นคลอนเป็นอันมาก เนื่องการเปลี่ยนไปของเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเรียนรู้ได้หลากหลายไปพร้อมกันกว่าคนรุ่นเก่า ห้องเรียนแบบเดิมที่มีครูอยู่หน้าขั้น ให้นักเรียนทุกคนหันหน้าไปทางเดียว พร้อมกับท่องจำตามได้ถูกตั้งคำถามว่ายังจำเป็นต้องทำแบบนั้นต่อไปอีกหรือไม่

คำตอบนี้ได้มีหลายตัวอย่างจากหลายมุมโลกแล้ว หลายคำตอบได้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เพราะพื้นที่ห้องเรียนแบบเก่าถูกทำลายผนัง สเปซ แบบเดิมออกไป อย่างกรณีของโรงเรียน AltSchool ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับการให้การศึกษากับเด็ก ให้เด็กเข้ามาเรียนด้วยความเป็นตัวของตัวเอง และบูรณาการเรื่องเทคโนโลยีเข้ากับโครงสร้างหลักสูตร ทาง AltSchool ได้มอบหมายให้สำนักงานออกแบบจากนิวยอร์ค Architecture + Information ออกแบบโรงเรียนแนวใหม่ด้วยแนวคิดที่สถาปนิกเสนอว่า ‘เล่นอย่างเพลิดเพลิน ไม่เขินอายใดๆ’

จากโจทย์นี้ สถาปนิกออกแบบด้วยการเข้าไปทำการปรับปรุงตึกเก่าในแมนฮัตตันอายุกว่า 115 ปี ทำการออกแบบพื้นที่โรงเรียนให้มีความยืดหยุ่น ให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ไร้ขอบเขตของห้องเรียนแบบเดิม พื้นที่หลากหลายถูกจัดเรียงขึ้นใหม่ สามารถรองรับการเรียนรู้หลากหลายแบบตามกิจกรรมเด็ก ทั้งงานศิลปะ งานฝีมือ การทดลองวิทยาศาสตร์ ระหว่างพื้นที่อเนกประสงค์ที่แสนจะยืดหยุ่น จะมี flex room หรือห้องที่เตรียมไว้สำหรับกิจกรรมที่ต้องการสมาธิ หรือการเรียนกลุ่มย่อย ห้องนี้ถูกออกแบบให้มีผนังกระจกใสล้อมรอบ สามารถป้องกันเสียงรบกวน และความใสของกระจกที่กั้นเสียง แต่ยังเชื่อมโยงทางสายตา มองเห็นกันและกันอยู่ตลอด

สถาปนิกออกแบบตัวบ่งบอกกิจกรรมด้วยสีภายใน พื้นที่สีโทนเข้มคือพื้นที่ต้องการสมาธิ พื้นที่สีพาสเทลโทนสว่างคือพื้นที่ชุมนุมกิจกรรม แต่คงความสงบ พื้นที่สีโทนสดใสสำหรับกิจกรรมที่ต้องการการลงมือลงแรงร่วมกัน ประเด็นเรื่องการใช้สีในงานนี้ จุดน่าสนใจคือพื้นที่สำหรับเด็กโดยทั่วไป นิยมใช้สีสันฉูดฉาด แบบที่เป็นแม่สีพื้นฐาน หรือการใช้ภาพการ์ตูนบนผนัง แต่งานนี้กลับไม่ได้เลือกใช้วิธีนั้น ซึ่งใช้สีโทนสดใส ไม่ร้อนแรงแทน

การที่จะเกิดพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ที่น่าสนใจนั้น ไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์ของสถาปนิกแต่เพียงฝ่ายเดียว มันต้องประกอบด้วยความเข้าใจ ความใจกว้างของทางเจ้าของโครงการด้วย จากงานนี้เราสามารถเห็นได้ถึงการให้โอกาสต่อการสร้างสรรค์ หากอยากให้พื้นที่การเรียนรู้ในบ้านเราเกิดการเปลี่ยนแปลง จงใจกว้าง และยอมรับข้อจำกัดเดิม เพื่อคนรุ่นใหม่

อ้างอิง: www.aplusi.comwww.magdabiernat.com

Tags

Tags: ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles