โรงเรียนใหม่จากวัสดุเก่า ลดการสร้างขยะ ผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

อะไรคือแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็ก คำถามนี้ถูกตอบด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ในโรงเรียนทางเลือกที่น่าสนใจ นิยมที่จะให้เด็กเล่นเพื่อเรียนรู้มากกว่าจะยัดเยียดให้จำสารพัดสูตร ซึ่งมันสามารถทำให้การเรียนในโรงเรียนสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของสมองได้ อย่างเช่นหลักสูตรของโรงรียนแบบวอลดอร์ฟ ที่มีความเชื่อว่า เด็กควรได้เล่นอย่างอิสระ ชีวิตเรียบง่ายกลมกลืนกับธรรมชาติ

ในย่านชานเมืองใกล้เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มีโรงเรียนวอลดอร์ฟที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมน่าสนใจ คือโรงเรียน El Til·ler โรงเรียนนี้สะดุดตาด้วยภายนอกกรุด้วยผนังไม้ที่ดูเรียบเก๋ แต่มีที่มีที่สัมพันธ์กับแนวคิดของวอลดอร์ฟมาสู่การตีความออกเป็นสถาปัตยกรรมได้น่าสนใจไม่แพ้กัน แนวความคิดการออกแบบเริ่มจากสถาปนิกทั้ง 3  Eduard Balcells, Ignasi Rius Architecture และ Tigges Architekt พวกเขาออกแบบโรงเรียนนี้จากการใช้วัสดุของโครงการอื่นที่รื้อกลับมาประกอบขึ้นใหม่ ทำให้น่าสนใจในการเลือกใช้วิธีลดการสร้างขยะให้เป็นตัวอย่างที่ดีได้ แนวทางในการวางผังมาจากการดัดแปลงแนวคิดการเรียนแบบวอลดอร์ฟสู่ภูมิอากาศแบบเมดิเตอเรเนียนอย่างสเปน คือเป็นภูมิอากาศอบอุ่น ไม่หนาวเกินไป เหมาะที่จะทำกิจกรรมกลางแจ้ง การวางผังจึงเรียงลำดับการเข้าสู่ตัวโรงเรียนตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ ถนน – ลาน – ระเบียง – โถง – ห้องเรียน ในแบบค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อเข้ามาสู่ภายในโรงเรียนแล้ว พื้นที่ทางเดินภายในและการเข้าถึงห้องเรียนตามลำดับการใช้สอย ซึ่งจะสัมพันธ์กับแสงที่สถาปนิกออกแบบให้สัมพันธ์กับการเรียนภายในที่หลากหลาย โครงสร้างเสา-คาน ถูกออกแบบไว้ที่เปลือกนอก พร้อมครอบด้วยเปลือกที่เป็นไม้เก่านำมาใช้ใหม่ การหุ้มโครงสร้างช่วยให้ห้องดูโล่งขึ้นกลายเป็นกล่องที่สามารถปรับกิจกรรมตามการเรียนรู้ของแต่ละส่วนอย่างยืดหยุ่น แท่นไม้แบบต่างๆ ซุ้มหน้าต่างขนาดเล็ก กลายเป็นแท่นวางโต๊ะบอกฤดูกาล แท่นเหล่านี้คือการอธิบายวัฏจักรของธรรมชาติที่ถูกจัดวางไว้จากสิ่งของที่ถูกนำเสนอให้เด็กนักเรียนรู้จักธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดลดการใช้พลังงานจากการระบายอากาศเน้นไปที่วิธีธรรมชาติ ลดการใช้เครื่องกลเข้ามาช่วย จากการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นใยไม้ ทำให้ลดการใช้พลังงานไปอีกทาง แม้โรงเรียนนี้จะเล็ก แต่หลายจุดสามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลายโรงเรียนของโลก

อ้างอิง: www.eduardbalcells.com, www.archdaily.comwww.designboom.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles