โรงเรียนในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกำลังถูกท้าทายจากการออกแบบที่ตีความพื้นที่การเรียนรู้ใหม่เสมอ ในศตรวรรษนี้มีโรงเรียนทางเลือกที่เสนอถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ผสานตัวมันเองเข้ากับธรรมชาติมากขึ้น เช่นโรงเรียนปัญญาเด่น จ.เชียงใหม่ สถาปนิก Chiangmai Life Construction ได้นำเสนอวิธีการผสานเข้ากับธรรมชาติกับอาคารเรียนที่ใช้ดิน ไผ่ ก่อนหน้าไปแล้ว คราวนี้จะขอเสนออีกความโดดเด่นของไผ่ในอีกมิติ
เรื่องของไผ่คราวนี้คือการสร้างสนามกีฬาในร่มจากไผ่ โรงเรียนปัญญาเด่น อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับรองรับนักเรียน 300 คน ตามแนวทางของโรงเรียนที่ต้องการผสานผู้คน สถาปัตยกรรม เข้ากับธรรมชาติ พื้นที่นี้รองรับประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายทั้งกีฬาในร่มเช่นบาสเกตบอล ฟุตซอล และปรับมาเป็นโถงเอนกประสงค์เมื่อต้องการ รองรับเวทีแบบปรับได้ มีระเบียงเป็นที่นั่งชมยาวขนานไปกับตัวอาคารเพื่อการรับชมเหตุการณ์ต่างๆ พื้นที่ภายในออกแบบเป็นโถงสูง ไม่มีผนังกั้น ช่วยเชื่อมโยงธรรมชาติภายนอกเข้ากับภายในได้ดี ข้อดีของการใช้ผนังโล่งแบบนี้คือสามารถระบายอากาศเต็มที่ ลดการใช้พลังงานอีกทั้งลดการใช้แสง การปรับอากาศด้วยเครื่องกล
นอกจากปรับตัวเข้าหาธรรมชาติแล้ว ส่วนที่น่าสนใจมากกว่าคือโครงสร้างหลักของอาคารที่ทำจากไผ่ สถาปนิกและวิศวกร ออกแบบให้มัดไผ่โครงสร้างหลังคาเป็นช่วงพาดกว้างกว่า 17 เมตร ด้วยเทคนิคพิเศษจากการดัดมัดไผ่โค้งยาวจนสามารถรับแรงช่วงพาดกว้างได้สบาย อีกทั้งยังออกแบบโครงสร้างไผ่ให้รับแรงลม รองรับแผ่นดินไหวที่เป็นปัญหาใหม่ของการสร้างอาคารในภาคเหนือ
การเลือกใช้ไผ่ในพื้นที่แบบเชียงใหม่สามารถประหยัดหลายประเด็น ทั้งในเรื่องการขนส่ง การบำรุงรักษา การก่อสร้าง ทำให้ตัวอาคารลดการปล่อยคาร์บอนไปจากกระบวนการเหล่านี้ ส่วนเทคนิคที่ใช้บำรุงรักษาไผ่งานนี้คือการแช่น้ำเกลือบอแรกซ์เพื่อให้น้ำตาลในไผ่เน่าไปหมด กันแมลง เพิ่มความแข็งแรง นอกจากนี้การแช่ไผ่ในน้ำเกลือบอแรกซ์เพื่อทำให้ผิวไผ่มีสีนวลสวยกว่าวิธีแบบดั้งเดิมที่แช่ไผ่ในน้ำให้น้ำตาลเน่า ซึ่งจะให้ผิวไผ่มีสีไม่เรียบร้อย
ไผ่ดูเป็นเรื่องง่ายเพราะหาได้ธรรมดาทั่วไป แต่การหยิบจับของธรรมดาให้พิเศษนี่ละ ที่วัดไอเดียสำหรับการออกแบบในศตวรรษนี้
อ้างอิง: designboom, archdaily