Ceiling and Ellipse House ในญี่ปุ่น คำตอบใหม่บนพื้นที่เดิม ไม่ต้องรื้อใหญ่เพื่อสร้างเยอะ

ประเทศบนเกาะใหญ่อย่างญี่ปุ่น การที่มีประชากรมากแต่สัดส่วนพื้นที่อาศัยมีไม่สูง ทำให้เกิดบ้านที่มีการออกแบบจากการแก้ปัญหาทั้งประเด็นพื้นที่แคบ ใช้พื้นที่น้อยเหล่านั้นให้มีความสะดวกสบาย จนเป็นเอกลักษณ์ของบ้านญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าเท่จากเนื้อหา บ้านหลายหลังอาจจะดูประหลาดในสายตาคนไทย แต่ถ้าได้ลองย้อนถึงที่มาของแนวคิดจากสถาปนิก มันก็ชวนให้พบความน่าสนใจจากความพยายามของสถาปนิกรุ่นใหม่จากญี่ปุ่น

บ้านเก่าอายุกว่า 20 ปีในเมืองโคะไดระ กรุงโตเกียว mtka (murayama + kato architecture) สถาปนิกระดับ young architect ได้เสนอการจัดการพื้นที่เก่าให้มีความสดใหม่ด้วยการปรับแก้เล็กน้อยแต่ได้ผลมาก ในบ้านหลังนี้มีเอกลักษณ์ของที่ว่างภายในที่โดดเด่น ทั้งจากช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ทางทิศใต้และฝ้าแบบเปลือยเอียงไปตามท้องหลังคา ในพื้นที่เพดานสูงที่มีเอกลักษณ์พิเศษนี้จะมีวิธีแก้ไขสเปซเดิมให้มีการใช้สอยที่เหมาะกับชีวิตปัจจุบันได้อย่างไรนั้น ต้องหาวิธีแก้ปัญหาอย่างแยบยลที่สุด เพราะมันคือการเผชิญหน้ากับของเก่าที่มีความเฉพาะเรื่องโครงสร้างสเปซ และวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยมาขึ้นในปริมาตรเท่าเดิม การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา แค่การเพิ่มพื้นที่ด้วยการใส่ฟังก์ชั่นเข้าไปเพิ่มแต่เพียงอย่างเดียว มันคงไม่ใช่การตัดสินใจที่เหมาะกับทุกโจทย์แน่นอน

งานนี้สถาปนิกได้เลือกวิธีสอดพื้นชั้นลอยใหม่เข้าไประหว่างความสูงจากพื้นถึงเพดาน มันคือพื้นสีขาวเกาะผนังโดยรอบชั้น 2 จากนั้นจึงเจาะช่องขนาดใหญ่เป็นรูปวงรี เปิดเชื่อมระหว่างพื้นชั้น 2 กับชั้นลอยให้สามารถมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มแต่ไม่อึดอัด

พื้นใหม่นี้สอดเข้าไปยังภายในห้องชั้น 2 ที่ความสูง 1.80 เมตร ราวกึ่งกลางห้อง บนส่วนใช้สอยทั้งส่วนนั่งเล่น ครัว รับประทานอาหาร มันทำหน้าที่เชื่อมให้ชั้นลอยมีความต่อเนื่องไปทุกส่วนใช้สอย บางส่วนกลายเป็นพื้นที่วางของใช้ในครัว นั่งเล่น ในแง่การออกแบบ ส่วนพื้นที่ใต้ฝ้าสูงด้านติดหน้าต่าง มันกลายเป็นพื้นที่นั่งเล่นอเนกประสงค์ ส่วนท้ายห้องที่หลังคาลาดเอียงลงไป ไม่เหมาะสมที่ให้คนไปใช้ มันกลายเป็นมุมเก็บของขนาดพอเหมาะพอควรให้กับครัว พื้นชั้นลอยใหม่นี้ช่วยทอนที่ว่างภายในที่สูงให้ดูเล็กลง ทำให้สเปซดูมีความอบอุ่นมากขึ้นจากความสูงเดิมของหลังคาเอียง ในส่วนของซีกโลกทางเหนือเส้นศูนย์สูตรเช่นญี่ปุ่น ดวงอาทิตย์จะอ้อมทิศใต้เป็นส่วนใหญ่เป็นเวลาหลายเดือนต่อปี ทำให้มีแสงแดดส่องมาลงโดยตรงผ่านผืนกระจกใหญ่ในห้องนี้เกือบตลอดปี แสงแดดทางใต้ให้ความอบอุ่นในเวลาอากาศหนาว แต่ก็มีองศาที่แยงลึกเข้ามารบกวนผู้คนในบ้านอยู่ดี วิธีทั่วไปที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการติดม่านกรองแสง แต่งานนี้ ผลจากการที่สอดพื้นเข้ามาที่ชั้นลอยช่วยให้แสงทอดลงมายังภายในห้องสั้นลงเกือบครึ่งขององศาเดิม ทำให้สามารถเปิดหน้าต่างรับลม พร้อมกับลดความจ้าของแสงแดดลงไปพร้อมกัน

คำตอบใหม่ บนพื้นที่เดิม ไม่จำเป็นต้องรื้อใหญ่เพื่อสร้างเยอะ แต่สามารถคิดให้เยอะแล้วสร้างน้อย สามารถให้ผลลัพธ์มากได้เช่นกัน

อ้างอิง: www.designboom.comwww.archdaily.comwww.mtka.jp

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles