สถาปัตยกรรมที่ดี ไม่ควรที่จะทำตัวเองเป็นดั่งอนุสาวรีย์ของสถาปนิก แต่ควรทำหน้าที่เชื่อมมันกับสภาพแวดล้อมโดยรอบให้พัฒนาคุณภาพของผู้คนในที่ตั้งได้ เพราะสถาปัตยกรรมไม่ได้เกิดมาอย่างโดดเดี่ยว แต่สิ่งรอบตัวนั้นผลักดันให้เกิดขึ้น การเกื้อกูลกันและกันจึงเป็นประเด็นที่ไม่ควรละเลยในการออกแบบ
ณ กรุงโตเกียว ย่านสุมิดะ ตรงแยกในชุมชนติดทางรถไฟ มีอาคารผิวกรุอลูมิเนียมตั้งอยู่หลังสวนสาธารณะ นั้นคือ Sumida Hokusai Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บันทึกเรื่องราวของ คะทสึชิคะ โฮะคุไซ ศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้เลื่องชื่อของญี่ปุ่น โฮะคุไซนั้นเกิดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในย่านนี้เมื่อราว 200 ปีก่อน จึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์นี้ ซึ่งผลงานที่เลื่องลือดังไปทั่วโลกที่เราจะคุ้นก็เช่นภาพ The Great Wave off Kanagawa ผลงานของเขาในปี 1820
นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว แนวความคิดในการออกแบบ คะซุโยะ เซะจิมะ จากสำนักงาน SANAA สถาปนิกที่ออกแบบงานนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ตัวอาคารมี 4 ชั้น ชั้น 3-4 เป็นส่วนนิทรรศการ ส่วนที่น่าสนใจคือพื้นที่ชั้น 1 ที่ติดกับสวนสาธารณะ สถาปนิกมีแนวความคิดให้พิพิธภัณฑ์นี้ นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินคนสำคัญในสุมิดะแล้ว ยังเสนอให้เป็นสถานที่เปิดรับกับชุมชนโดยรอบ ให้เมืองเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ตัวสถาปัตยกรรมทำหน้าที่เชื่อมกับสวนสาธารณะด้านหน้า โปรแกรมชั้น 1 จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนรายรอบ ทั้งเป็นห้องบรรยายกึ่งอเนกประสงค์ ห้องสมุด โดยวิธีการออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นที่รอบข้างคือเจาะทางเข้าโดยรอบที่ชั้น 1 ที่กลายเป็นทางเข้ารูป 3 เหลี่ยม พร้อมกับให้ทุกเส้นทางนั้นตัดกันระหว่างส่วนใช้สอยต่างๆ ตัวอาคารนั้นสามารถเข้าได้จากทุกทิศทาง จากถนนด้านข้าง สวนสาธารณะด้านหน้า หรือจากซูเปอร์มาเก็ตใต้ทางรถไฟ ทางเข้านี้ไม่มีประตู แต่การควบคุมการเข้าออกจะควบคุมแค่ส่วนทางขึ้นไปยังส่วนจัดแสดงด้านบน กลวิธีนี้ทำให้กิจกรรมภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมภายในได้ง่าย จากภาษาสถาปัตยกรรมที่เปิดมากกว่าปิดแบบพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ
แค่เปลี่ยนวิธีคิด สถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนให้ผู้คนและชุมชนรอบข้างเป็นมิตรได้ง่ายขึ้น
อ้างอิง: hokusai-museum.jp