โลกในวรรณกรรมเด็กล้วนเปิดพื้นที่ให้ชักนำเข้าสู่จินตนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในวัยที่ควรจะต้องมีการใช้จินตนาการสูงจากการอ่าน ซึ่งเป็นอีกประตูที่จะพัฒนาเยาวชนของแต่ละชาติให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ในประเทศที่มีทุนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะให้ความสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์เสมอ เพราะมันคือการลงทุนที่ยาวนานแต่คุ้มค่า อย่างที่เราได้เห็นจากญี่ปุ่นที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างฉลาดจนส่งออกวัฒนธรรมได้อย่างงดงามทั่วมุมโลก
ลองดูตัวอย่างเช่น Kiki’s Museum of Literature พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ตั้งอยู่ที่ เขตเอะโดะงะวะ กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างให้เป็นเกียรติแก่นักเขียน เอะโกะ คะโดะโนะ ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย เคงโกะ คุมะ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมเรื่องราวของนักเขียนคะโดะโนะ และเป็นคลังสมบัติของหนังสือเกือบ 200 เล่มที่เขียนสำหรับเด็ก รูปทรงภายนอกของพิพิธภัณฑ์ดูเรียบง่ายขาวเกลี้ยง แต่เมื่อมองจากมุมสูงมีลักษณะเหมือนค่อยๆ คลี่ตัวห้องต่างๆ ออกจากศูนย์กลาง โดยที่สถาปนิกเล่าถึงที่มาว่าเป็นการได้รับอิทธิพลจากผลงานของนักเขียน และแสดงออกผ่านสถาปัตยกรรมที่ล้อไปกับความลาดของเนินเขาหลังคา และตัวอาคารที่ยื่นออกมาอย่างแผ่วเบาราวกับดอกไม้บาน แม้ว่าภายนอกอาคารจะดูขาวสะอาด แต่ก็สร้างความแปลกใจเมื่อเข้ามายังพื้นที่ภายในที่เป็นสีแดงสดราวกับราดด้วยน้ำสตอเบอรี่ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถูกออกแบบให้มีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับวัยเด็ก ทำให้เด็กมีความสบายใจเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ออกแบบเพื่อตัวพวกเขา ชั้นหนังสือออกแบบเป็นรูปด้านของอาคารเรียงราย เพื่อสื่อถึงจินตนาการสู่เมืองชายทะเล ซึ่งเป็นเมืองที่ กิกิ ตัวละครสำคัญในวรรณกรรมเรื่อง Kiki’s Delivery Service ที่กิกิได้มีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งสำหรับการฝึกเป็นแม่มด และเราน่าคุ้นเคยวรรณกรรมเรื่องนี้จากกการดัดแปลงเป็นอะนิเมะโดย Studio Ghibli อันเลื่องชื่อ
พื้นที่ภายในออกแบบให้ลื่นไหลเต็มไปด้วยห้องหนังสือให้อ่านทั้งภายนอกที่ระเบียงอ่านหนังสือ และภายในแกลเลอรีที่แสดงงานศิลปะหมุนเวียน นอกจากนี้ยังสร้างสตูดิโอตามแบบจำลองพื้นที่ห้องทำงานของนักเขียน ที่จะได้พบกับแบบจำลองข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวตลอดช่วงชีวิตของนักเขียนคะโดะโนะ และนอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว พื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบยังกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับอ่านหนังสือ นั่งเล่น หากว่าวันนั้นของโตเกียวมีอากาศที่ดีและเป็นใจ
แปลและเรียบเรียงจาก: www.designboom.com
ที่มา: www.spoon-tamago.com, kkaa.co.jp